คุณคิดว่าโลกของเราเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับวันนี้ มันเหมือนกันไหม?
แน่อยู่แล้วล่ะว่า มันคงไม่เหมือนกันโดยสมบูรณ์ แต่เชื่อหรือไม่ ความจริงแล้ว โลกของเราเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเลยต่างหากล่ะ
Brand Inside มีโอกาสเข้าฟังการอัปเดตเทรนด์ทางธุรกิจของครึ่งปี 2025 โดย ‘จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Bitkub ในงาน ‘Creative Talk Conference 2025’ และจะมีอะไรน่าสนใจบ้าง มาดูกัน
โลกของเรากำลังจะกลายพันธุ์
สำหรับใครที่คิดว่า บนโลกนี้ สิ่งเดียวที่กลายพันธุ์คงมีแต่การ์ตูนแบบ ‘เต่านินจา’ เท่านั้น ขอบอกเลยว่าไม่ใช่ เพราะจิรายุสมองว่า ตอนนี้ โลกของเรากำลังจะกลายพันธุ์
จิรายุสอธิบายว่า โลกที่เราเห็นตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันเรียกว่า ‘Post-World Order’ ซึ่งหมายถึง นับตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่ 2 เราทุกคนเข้าใจกันว่าประเทศพี่ใหญ่คือ ‘สหรัฐอเมริกา’ และเป็นพวกเราอยู่ภายใต้ระบบโลกแบบ ‘Unilateral System’ หรือ ‘ระบบเอกภาคี’
อีกหนึ่งสิ่งที่เราเข้าใจตรงกันคือ ‘Globalization’ หรือ ‘โลกาภิวัฒน์’ ที่ทุกชาติรักใคร่สามัคคี เชื่อมั่นในตัวกลางอย่าง สหประชาชาติ หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ โดยมี ‘จีน’ เป็นห่วงโซ่อุปทานหลักของโลก
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ จิรายุสเชื่อว่ามันเปลี่ยนไปแล้ว และเรากำลังเข้าสู่ยุคของ ‘Pre-Something World’ หรือโลกใบใหม่ที่ ‘ตรงข้าม’ กับโลกที่เราเติบโตมา โดย
- Globalization เปลี่ยนเป็น ‘Regionalization’ เพราะพวกเราจะขับเคลื่อนเป็นภูมิภาค เช่น อาเซียน แทน
- Unilateral System เปลี่ยนเป็น ‘Multilateral System’ หรือ ‘ระบบพหุภาคี’ ที่สหรัฐฯ ไม่ใช่พี่ใหญ่คนเดียวอีกต่อไป แต่มางัดข้อกับจีน โดยประเทศตัวเล็กตัวน้อยก็จะมาจับกลุ่มก้อนกัน
- ระบบการค้าขาย จากการค้าเสรี ก็ต้องมาเจอ ‘กำแพงภาษี’
- ระบบห่วงโซ่อุปทาน จาก ‘Economy of Scale’ เป็น ‘Fragmented Supply Chain’ ที่กระจัดกระจายทั่วโลก เพราะคนหันมารักชาติมากขึ้น เน้นกลับมาตั้งฐานการผลิตในประเทศบ้านเกิด
- กฎการแข่งขัน จากถูกสุด ดีสุด เป็นใครยั่งยืนที่สุด เขียวที่สุด หรือผลิตจากโลเคชันไหน มีความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ อย่างไรบ้าง
- ศูนย์กลางการผลิต กลายเป็น ‘อินเดีย’ และ ‘แอฟริกา’ เนื่องจากจีนเริ่มมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพมากขึ้น โดยยังคงสเกลการผลิตเยอะๆ อยู่ จากที่เคยโฟกัสแค่ ‘จำนวน’ อย่างเดียว
- พฤติกรรมการบริโภค เปลี่ยนไปทั่วโลก เนื่องจากเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
- การมาของเทคโนโลยี เช่น AI, Blockchain, Humanoid Robots และ MarTech ทำให้โลกเข้าสู่ ‘4th Industrial Revolution’ หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่จะทำให้คนตั้งคำถามกับประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น
จีนแซงหน้าทุกประเทศทั่วโลกด้วย AI, AI และ AI
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ จิรายุสกล่าวว่า จากเมื่อก่อนที่ใครๆ ก็พูดว่า สหรัฐอเมริกาคือศูนย์กลางของนวัตกรรม แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะจีนเริ่มโตแซงหน้าค่าเฉลี่ยโลก แถมยังมีนโยบาย ‘AI Plus’ ที่โฟกัส 3 ด้าน คือ
- ‘Deepseek’ จะสามารถกระจายไปทุกอุตสาหกรรมได้ เพราะเป็นระบบเปิด ขณะที่ ChatGPT ของสหรัฐฯ เป็นระบบปิด
- ‘Huawei’ จะมอบ ‘Computing Power’ ให้กับทุกอุตสาหกรรมในประเทศ
- ทุกอุตสาหกรรมจะต้องเข้าถึง ‘Data’ ผ่านระบบ ‘Shared Open Database’ แถมจีนยังเป็นประเทศที่มีข้อมูลเยอะที่สุดด้วย
เอาง่ายๆ คือ รัฐจะบังคับให้ทุกอุตสาหกรรมใช้ AI ในการทำงาน ซึ่งจิรายุสเชื่อว่า จากนี้ไป จีนคงเติบโตแบบพุ่งทะยานทะลุหลังคาไปเลย เนื่องจากรัฐบาลสามารถสั่งการควบคุมทุกอย่างในประเทศได้
อย่างไรก็ตาม จิรายุสมองว่า แม้ปัจจุบัน เราจะเห็นจีนกับสหรัฐฯ ตบตีกันเรื่องค้าขายอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงด้านการกีดกันทางเทคโนโลยี แต่ความจริงแล้ว เนื่องจากสองชาตินี้พึ่งพากันและกันมากเกินไปในช่วง 50 ปีที่ผ่าน พวกเขาจึงยังปรับตัวไม่ได้ทั้งคู่ แต่หันมาอาศัยกันผ่าน ‘การค้าทางอ้อม’ หรือ ‘Indirect Trade’ แทน
ในเมื่อ AI ดูจะสำคัญสำหรับเทรนด์ธุรกิจแบบนี้ นั่นหมายความว่า แรงงานมนุษย์จะถูกทดแทนดั่งที่หลายคนกลัวหรือเปล่า?
สำหรับเรื่องนี้ จิรายุสกล่าวว่า คนที่เสี่ยงตกงานคือคนที่ใช้ AI ไม่เป็น หรือขาด ‘AI Literacy’ ซึ่งขณะเดียวกัน การเข้ามาของพวกมัน สามารถช่วยเพิ่มงานด้วย โดยยกตัวอย่างว่า ต่อให้เกินครึ่งของยานพาหนะในอนาคตจะขับได้เอง ยังไงๆ ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่ดี
ดังนั้น บางทีคำถามสำหรับโลกยุคใหม่ อาจไม่ใช่ AI จะมาแทนเราหรือเปล่า แต่เป็นคุณจะทำอย่างไรถึงจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้อยู่เบื้องหลังการดูแล AI ได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา