มุมมองบิทคอยน์ผ่านหน้าต่างเศรษฐศาสตร์ แบบเข้าใจง่าย

สวัสดีครับทุกคน วันนี้เรากลับมาพบกันอีกครั้งในเรื่องของบิทคอยน์และบล็อกเชนครับ ในฐานะ CEO ของ coins.co.th ผู้ให้บริการกระเป๋าสตางค์บิทคอยน์ในประเทศไทย เรื่องที่ผมมองว่าน่าสนใจอีกมุมหนึ่งของบิทคอยน์ก็คือ มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ครับ วันนี้เรามามองบิทคอยน์ผ่านหน้าต่างของเศรษฐศาสตร์กันครับ รับรองว่าได้มุมมองใหม่ๆ แบบเข้าใจไม่ยากแน่นอน

ผมขอเริ่มต้นในเรื่องของเงินเฟ้อก่อนนะครับ เงินเฟ้อคือการที่ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เงินที่เรามีซื้อของได้ลดลง เช่น เรามีเงินหนึ่งร้อยบาท ข้าวกะเพราไก่จานละ 25 บาท เราซื้อได้ 4 จาน แต่พอข้าวขึ้นราคาเป็น 50 บาท เราก็ซื้อได้แค่ 2 จาน เป็นต้นครับ ภาวะเงินเฟ้อนี้เป็นสิ่งที่เกือบทุกประเทศต้องประสบพบเจอ ไม่พ้นแม้กระทั่งประเทศไทยหรือยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา ทุกคนคงเคยได้ยินข่าวการอัดฉีดเงินเข้าระบบของประเทศต่างๆ การเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจนี่แหละครับ สาเหตุนึงของการเกิดเงินเฟ้อ ลองคิดง่ายๆ ถ้าผลิตเงินกันออกมารัวๆ เงินก็หาได้ง่ายๆ แบบนี้ก็ไม่มีค่าแล้ว เช่นในซิบบับเวย์ที่มีการผลิตเงินออกมาเพื่อจ่ายหนี้จำนวนมาก จนทำให้สุดท้ายแล้วเงินนั้นกลับกลายเป็นไม่มีค่าไปเลย

bitcoin-225080_1280

บิทคอยน์ถูกออกแบบมาโดยเลี่ยงปัญหานี้ครับ บิทคอยน์นั้นมีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านบิทคอยน์ ทุกๆ 4 ปี จำนวนบิทคอยน์จะถูกผลิตหรือขุดออกมาลดลงครึ่งนึงด้วยครับ นี่ทำให้เราสามารถคำนวนได้เลยว่า ณ ปีไหน จะมีบิทคอยน์จำนวนเท่าไหร่ โดยบิทคอยน์จะถูกผลิตออกมาครบ 21 ล้านบิทคอยน์ในปี 2140 ครับ การจะขุดบิทคอยน์นั้นเกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์รันเพื่อแก้สมการทางคณิตศาสตร์อันซับซ้อน นี่หมายความว่าอยู่ดีๆ ใครจะมาผลิตบิทคอยน์ออกมาเองไม่ได้ อัดฉีดบิทคอยน์เข้าระบบตามใจไม่ได้ ถือว่าเป็นการป้องกันไม่ให้บิทคอยน์เกิดภาวะเงินเฟ้อไปได้ทางหนึ่งครับ

บิทคอยน์ยังเป็นทางออกให้ในหลายประเทศที่เกิดปัญหาเงินเฟ้อครับ เช่น เวเนซูเอล่าที่ในปี 2014 มีอัตราเงินเฟ้อถึง 63% และคาดการณ์กันว่าสิ้นปี 2016 อาจจะมีอัตราเงินเฟ้อถึง 275% ประชาชนจึงหันมามองทางเลือกต่างๆ และใช้งานบิทคอยน์มากขึ้นครับ

ต่อมาในเรื่องของเงินฝืด แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันว่าเงินฝืดดีหรือแย่กับเศรษฐกิจอย่างไร นี่อาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญมากนักเมื่อมองที่การใช้งานบิทคอยน์ เมื่อเรามามองกันว่าบิทคอยน์ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในระยะยาว อุปสงค์มีจำกัด แต่อุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คงไม่ใช้เรื่องแปลกที่ผู้คนจะเลือกใช้งานและลงทุนในบิทคอยน์ในระยะยาวเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ครับ

bitcoin-1368256_1280

ที่สำคัญบิทคอยน์ถูกออกแบบมาให้แบ่งออกได้เป็น 8 ทศนิยมครับ เมื่อภาวะเงินฝืดทำให้ราคาสินค้าและบริการลดลง เงินหนึ่งหน่วยซื้อของได้มากขึ้น ก็ไม่เป็นปัญหาครับ เช่น สมมติหนึ่งบิทคอยน์ตอนนี้ราคาประมาณ 2 หมื่นบาท จ่ายค่าโรงแรมสุดหรูในมัลดีฟได้หนึ่งคืน ในอนาคตค่าโรงแรมลดลงเหลือสองพัน เราก็ใช้บิทคอยน์ 0.1 บิทคอยน์จ่ายเป็นต้นครับ โดยใช้น้อยสุดได้ที่ 0.00000001 หมดกังวลเรื่องเงินฝืดไปเลย

ผมเชื่อว่าแม้ความคิดเห็นในเรื่องของผลกระทบของบิทคอยน์ในเชิงเศรษฐศาสตร์จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่เชื่อว่าบิทคอยน์จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อโลกนี้ในทุกมิติได้ไม่น้อยเลยทีเดียว แล้วทุกคนคิดยังไงกันครับ? มองว่าบิทคอยน์จะสร้างการเปลี่ยนแปลงยังไงบ้างทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์และด้านอื่นๆ? ผมอยากชวนทุกคนมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้กันครับ

สำหรับใครที่สนใจอ่านข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและบิทคอยน์ ลองมาอ่านบทความต่างๆ หรือค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่ www.coins.co.th หรือจะติดตามกันทางเฟซบุ๊ค coins.co.th ก็ได้นะครับ

Image Credit: Pixabay.com

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

ก่อนที่ คุณจิรายุส (ท็อป) ทรัพย์ศรีโสภา CEO&Co-Founder ของ coins.co.th จะเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิตัล เขาเคยทำงานเป็น Investment Banker และ Financial Consultant มาก่อน อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในการทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคุณท็อปจบการศึกษาด้าน Economics จาก Oxford University และเป็นแฟนตัวยงของทีมฟุตบอล Manchester United