เปรียบเทียบทริปท่องอวกาศ: แต่ละเจ้าราคาเท่าไหร่ บินไปนอกโลกกับบริษัทไหนดีที่สุด?

space travel

มหาเศรษฐีดวลเดือด แข่งขันกันในธุรกิจอวกาศ

การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศกำลังคึกคัก โดยเฉพาะการพัฒนาการบินอวกาศเชิงพาณิชย์ ที่จะเปิดรับบุคคลทั่วไปเข้าร่วมเที่ยวบินท่องเที่ยวอวกาศ โดยปัจจุบันนี่คือการแข่งขันระหว่าง 3 เจ้าดัง คือ 

  • Virgin Galactic โดย Richard Branson
  • Blue Origin ของ Jeff Bezos มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลกแห่ง Amazon
  • SpaceX โดย Elon Musk เจ้าพ่อรถยนต์ไฟฟ้า 

กรณีที่แสดงให้เห็นถึงการขับเคี่ยวในวงการนี้ล่าสุด คือการที่ Richard Branson ประกาศทดลองการบินในวันที่ 11 กรกฎาคมที่จะถึง ตัดหน้า Jeff Bezos ที่จะบินไปอวกาศกับ Blue Origin ในวันที่ 20 กรกฎาคม

แต่ ณ ปัจจุบัน ทั้งบริษัทเทคโนโลยีอวกาศเค้าไปถึงไหนกันแล้ว แต่ละเจ้ามีความแตกต่างกันอย่างไร วันนี้ Brand Inside จะพาไปชม

ในระยะยาวคาดว่าราคาจะไม่แตกต่างกันนัก

เช่นเดียวกับธุรกิจที่มีการแข่งขันระหว่างกันอื่นๆ ในระยะยาวราคาจะปรับตัวลงมาสู่จุดที่สมดุล แต่ละเจ้าไม่ห่างกันมากนัก ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศก็มีแนวโน้มเป็นแบบนี้เช่นกัน แม้ราคาตั๋วบินไปอวกาศอาจจะสูงในช่วงแรกเพราะบรรดามหาเศรษฐีต่างแย่งชิงตั๋วเพื่อจะไปอวกาศเป็นคนแรกๆ แต่หลังจากนี้ราคาจะปรับตัวลงมา

Virgin Galactic ระบุว่าตอนนี้มีผู้จองตั๋วล่วงหน้ากว่า 600 คน โดยมี ราคาตั๋วเฉลี่ยอยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์ (8.07 ล้านบาท) ต่อคน โดยคาดว่าจะเริ่มบริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบภายในปี 2022 และมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะสามารถลดราคาตั๋วลงมาอยู่ที่ 40,000 ดอลลาร์ (1.29 ล้านบาท) ต่อคน

Blue Origin จะคิดค่าโดยสารเที่ยวบินไปอวกาศที่ 200,000 ดอลลาร์ (6.45 ล้านบาท) ต่อคน ตามรายงานของสำนักข่าว Reuters ปี 2018 อย่างไรก็ตาม Blue Origin ยังไม่ได้เปิดเผยแผนราคาสำหรับอนาคตระยะยาว

อย่างไรก็ตามตั๋วเที่ยวบินแรกของ Blue Origin ถูกประมูลไปในราคา 28 ล้านดอลลาร์ (904 ล้านบาท) โดยผู้ประมูลคนดังกล่าวจะได้ทำการบินเปิดฤกษ์ไปพร้อมๆ กับ Jeff Bezos ผู้เป็นเจ้าของ Blue Origin และเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก

SpaceX เริ่มต้นให้บริการขนส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (IIS) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังเริ่มแผนให้บริการเที่ยวบินอวกาศเชิงพาณิชย์ในเดือนกันยายนที่จะถึง 

Elon Musk กล่าวใน Twitter ว่าตั๋วไปดาวอังคารในอนาคตอาจจะอยู่ที่ 500,000 ดอลลาร์ (16.14 ล้านบาท) หรือไม่แน่ก็อาจจะต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์ก็ได้ (3.22 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ประกาศทางการของทาง SpaceX แต่อย่างใด

ส่วนตั๋วเที่ยวบินไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเที่ยวแรกๆ ของ Space X ถูกขายไปในราคา 55 ล้านดอลลาร์ (1.77 พันล้านบาท) ต่อคน โดยจะได้พักอาศัยในสถานีอวกาศเป็นเวลา 8 วัน

จ่ายเงินหลักล้านแล้วจะได้นั่งเครื่องแบบไหน

Virgin Galactic ทำการบินด้วยเครื่องบินที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ อย่างเครื่องบินอวกาศ VSS Unity ที่จะถูกขับดันในระยะแรกโดยยาน VMS Eve ก่อนจะแยกกันและจุดจรวดเข้าเมื่อมาถึงระดับความสูงที่กำหนด

virgin galactic
image from virgingalactic.com

Blue Origin ทำการบินโดยยาน New Shepard ที่ประกอบด้วยส่วนจรวดขับเคลื่อนและแคปซูลอวกาศ หลังจากจรวดไปถึงชั้น Sub-Orbital แล้วจรวดก็จะกลับสู่ฐานปล่อย ส่วนแคปซูลอวกาศก็จะกลับสู่พื้นโลกโดยใช้ร่มชูชีพ

blueorigin
image from blueorigin.com

SpaceX ทำการบินโดยใช้ยาน SpaceX Dragon ที่จะถูกขับเคลื่อนโดยจรวด Falcon-9 จนกว่าจะถึงอวกาศ  แล้วหลังจากนั้นก็จะแยกออกและให้ SpaceX Dragon ขับเคลื่อนต่อด้วยตัวเอง

แล้วเราจะได้ไปไหนบ้าง?

Virgin Galactic จะพาผู้โดยสาร 4 คนร่วมกับนักบินอวกาศ 2 คน ทำการบินเป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง นับตั้งแต่ปล่อยตัวจนถึงลงจอด โดยจะทำการบินขึ้นไปถึงระดับวงโคจรแล้วจึงร่อนกลับมายังโลก ในช่วงเวลาหนึ่งผู้โดยสารจะได้เห็นเส้นขอบโค้งของผิวโลกและได้สัมผัสสภาวะไร้น้ำหนัก

Blue Origin จะพาผู้โดยสาร 6 คน สู่ระดับวงโคจร และจะมีเวลา 10 นาทีหลังจากแคปซูลอวกาศแยกตัวออกจากจรวดขับดัน ในการสัมผัสสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักและชมวิวจากนอกโลกก่อนที่แคปซูลจะกลับมาลงจอดบนผิวโลก

ทริปกับ SpaceX จะแตกต่างไปจากเจ้าอื่นตรงที่ไม่ได้เป็นทริป ไป-กลับ แต่จะพาผู้โดยสาร 7 คน ไปสัมผัสประสบการณ์บนอวกาศราว 3-4 วัน

สรุป

เที่ยวบินอวกาศเชิงพาณิชย์ดูจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นทุกวัน จากเดิมที่เป็นเรื่องของมหาเศรษฐี การแข่งขันที่เข้มข้นทำให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ส่งผลให้ต้นทุนของเทคโนโลยีอวกาศถูกลงเรื่อยๆ ตอนนี้ราคาเริ่มลดลงมาเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับตั๋วเที่ยวแรกที่มหาเศรษฐีแย่งกันประมูลซื้อ 

ในอนาคตเราอาจได้เห็นการเดินทางในอวกาศที่เข้าถึงผู้คนมากยิ่งขึ้นก็ได้

ที่มา – Reuters, cnet

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน