Bill Gates แนะนำว่า บทบาทผู้นำนั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักนี้ เขาเขียนบทความไว้ใน GatesNotes บอกทางสว่างให้ผู้นำทั่วโลกรับรู้และเข้าใจตรงกันว่า ต้องรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร
ในภาวะวิกฤต ผู้นำมีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ 2 เรื่องหลักๆ ทั้งสองเรื่องนี้มีความสำคัญพอๆ กัน นั่นก็คือต้องแก้ปัญหาทันทีและพยายามป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก Gates บอกว่าในสถานการณ์ที่ไวรัส COVID-19 ระบาดอยู่นี้ โลกต้องรักษาชีวิตผู้คนให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางรับมือกับไวรัสระบาดด้วย
Gates มองว่าปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดนี้ ถือเป็นความท้าทายในระยะยาว เราต้องพัฒนาทั้งศักยภาพในการตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ไวรัสกำลังระบาด ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขถกเรื่องนี้กันมาหลายปีแล้ว จากนั้น Gates ก็เล่าถึงไข้หวัดใหญ่สเปน (1918 influenza epidemic) ที่เป็นโรคระบาดเคยเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H1N1
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เคยเป็นสาเหตุทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่สเปน Spanish Flu ที่ระบาดกันไปทั่วโลก หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (แต่มีที่มาจากสเปน จึงเรียกว่าไข้หวัดใหญ่สเปน แต่ไม่ระบุพื้นที่แน่ชัด) อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 2%-3% มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกมหาศาลถึง 20-50 ล้านราย คนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ส่งผลให้ GDP ติดลบ อยู่ที่อัตรา -16.9% ถึง 2.4%
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H2N2 ถูกเรียกว่า Asian Flu คือไข้หวัดใหญ่เอเชีย เกิดขึ้นบริเวณจีนตอนใต้ ระหว่างปี 1957-1958 อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 0.2% มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 1-4 ล้านราย คนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นเด็ก ส่งผลให้ GDP ติดลบ อยู่ที่อัตรา -3.5% ถึง 4%
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 ถูกเรียกว่า Hong Kong Flu คือไข้หวัดฮ่องกง เกิดขึ้นบริเวณจีนตอนใต้ ระหว่างปี 1968-1969 อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า 0.2% มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกอยู่ที่ 1-4 ล้านราย คนที่ได้รับผลกระทบคือคนทุกช่วงวัย ส่งผลให้ GDP ติดลบอยู่ที่ -0.4% ถึง -1.5%
ไข้หวัดใหญ่ระบาดเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลกและสามารถเกิดขึ้นซ้ำได้อีก WHO หรือองค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคระบาดไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 แล้ว ตารางด้านบนชิ้นแรกสะท้อนให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นซ้ำได้อีกภายใน 50 ปี
Gates บอกว่า มูลนิธิของเขาได้รับปากไว้ว่าจะช่วยโลกรับมือกับปัญหานี้ นี่คือความท้าทายระยะยาว สถานการณ์จากไวรัสโควิด-19 เริ่มแย่ลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนทำให้พวกเราเป็นกังวล และเขาก็หวังว่ามันจะไม่แย่ลงไปกว่าเดิม เขาบอกว่ามันมี 2 เหตุผลที่ทำให้เห็นว่า COVID-19 คือภัยคุกคาม
ไวรัส COVID-19 คือภัยคุกคามโลก?
ประการแรก มันสามารถพรากชีวิตเด็กที่มีสุขภาพดีไปจนถึงคนสูงวัยที่สุขภาพมีปัญหาได้ ไวรัสมีความเสี่ยงที่ทำให้คนเสียชีวิตราว 1% (ย้อนกลับไปดูตารางด้านบน แม้จะอยู่ในอัตราการตายที่ดูเหมือนว่าจะอยู่ในระดับต่ำ ไข้หวัดสเปนในช่วงปี 1918 มีอัตราการตายอยู่ที่ราว 2-3% แต่เสียชีวิตมากราว 20-50 ล้านราย ขณะที่การตายจากไข้หวัดเอเชียในระดับ 0.2% ในช่วงปี 1957 มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 1-4 ล้านราย)
ประการที่สอง การแพร่เชื้อมีประสิทธิภาพมาก ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อต่อได้อีก 2-3 ราย มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และคนที่ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการให้เห็นด้วย Gates บอกว่าสิ่งนี้ อาจหมายความว่า COVID-19 อาจจะรุนแรงกว่าโรคเมอร์ส หรือโรคซาร์สด้วยซ้ำ เพียงไตรมาสเดียว ไวรัส COVID-19 แพร่เชื้อมากกว่าโรคซาร์สถึง 10 เท่า
(โรคซาร์สและโรคเมอร์สแสดงอาการให้เห็นชัดเจนกว่า ที่สำคัญโรคซาร์สมีคนติดเชื้อราว 26 ประเทศ ในจำนวน 8,000 กว่ารายเมื่อปี 2003 แต่ไวรัสโควิด-19 นั้น ล่าสุดติดเชื้อรวม 86,983 ราย)
Gates บอกว่า ข่าวดีของเรื่องนี้ก็คือ รัฐบาลท้องถิ่น ประเทศต่างๆ ไปจนถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถรับมือได้โดยใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ จึงทำให้การระบาดมีอัตราช้าลง Gates บอกว่า การให้ความช่วยเหลือแก่พลเมืองของประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับโรคระบาด การบริจาคของภาครัฐ และการเตรียมพร้อมของประเทศรายได้ปานกลางในการรับมือนี้ทำให้อัตราการแพร่กระจายของไวรัสช้าลง และทำให้สามารถรักษาชีวิตผู้คนในประเทศที่ยากจนได้ด้วย
Gates ทุ่มเงินกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3,000 ล้านบาทในการให้ความช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศในแอฟริกาและเอเชียใต้ โดยสรุป Gates พยายามเรียกร้องให้โลกช่วยเร่งมือกันทำงานเพื่อให้การรักษาผู้คนตลอดจนผลิตวัคซีนในการรับมือกับไวรัส COVID-19 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามพัฒนาวัคซีนอยู่
ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันใช้แล้วได้ผลและปลอดภัยในสัตว์ ก็น่าจะนำมาขยายการใช้งานได้ในระดับที่กว้างมากขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ทั้งหมดที่ว่านี้ Gates บอกว่า เราต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งระบบเพื่อที่จะรับมือกับโรคระบาดครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกต่อไปได้
Gates บอกว่า มันเป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะต้องช่วยให้ประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางไปจนถึงรายได้ต่ำ มีระบบสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง ประเทศเหล่านั้นต้องมีคลินิก ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด ต้องมีการฝึกอบรมคนทำงานด้านสาธารณสุขมากขึ้น เพื่อที่จะรับมือกับโรคระบาดตั้งแต่มันเกิดขึ้นได้ในระยะเริ่มต้น
ต้องช่วยประเทศที่มีรายได้น้อยและประเทศที่มีศักยภาพทางการแพทย์ต่ำ
โลกต้องลงทุนกับการควบคุมโรคมากขึ้น รัฐบาลต้องเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลายมากขึ้น ทั้งผู้นำระดับท้องถิ่น ผู้นำระดับโลก ข้อมูลควรเชื่อมโยงถึงกันเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดได้อย่างทันท่วงที สำหรับความท้าทายเรื่องไวรัส Gates มองว่าจำเป็นต้องพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างปลอดภัย เพราะวิถีเก่าๆ แบบเดิมที่ทำมามันมีกระบวนการที่เชื่องช้า ต้องทำให้ผลิตง่าย ต้นทุนต่ำ และทำให้ได้ในระดับใหญ่
การแก้ปัญหาเชิงเทคนิค Gates บอกว่าเราจำเป็นต้องใช้ความพยายามทางการทูตในการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะในส่วนของการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาวัคซีน ควรมีกระบวนการที่ช่วยให้รับมือกับโรคระบาดได้รวดเร็ว แพลตฟอร์มดังกล่าวนั้นก็ควรมีองค์กรที่เข้าไปเกี่ยวข้องหลักๆ เช่น องค์การอนามัยโลก เครือข่ายวิจัยทางการแพทย์ด้านโรคติดเชื้อระหว่างประเทศ และโครงการความร่วมมือระดับโลกว่าด้วยโรคติดเชื้อ
เป้าหมายก็เพื่อให้มีการทดลองเพื่อป้องกันที่สามารถเห็นชอบได้ภายใน 3 เดือนหรือน้อยกว่านั้นโดยที่คนป่วยก็ได้รับความปลอดภัยด้วย ควรจะมีกองทุนสำหรับรัฐบาลเกี่ยวกับด้านนี้ เพราะผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดและบริษัทยาต้องการเงินทุนที่จะลดความเสี่ยงในการทำงาน ซึ่งเงินทุนที่จะต้องทุ่มเทเกี่ยวกับการรับมือโรคระบาดต้องใช้ต้นทุนสูงทั้งรัฐบาลและอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องทำความตกลงกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส และทำให้ระยะการแพร่เชื้อสั้นลง
นี่ไม่ใช่แค่สิ่งที่ถูกต้องที่ควรทำ แต่เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องในการรับมือกับโรคระบาดที่เกิดขึ้น ผู้นำจะต้องลงมือทำตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ควรเสียเวลาอีกต่อไป
*หมายเหตุ*
องค์การอนามัยโลกระบุ ระยะการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สามารถแบ่งออกเป็น 6 ระยะหรือ 6 เฟส แต่มีการรับมือแบ่งเป็นหลายช่วง ดังนี้
- เฟสที่ 1 คือเฟสที่มีการพบการติดเชื้อในสัตว์ แต่ยังไม่มีการรายงานว่าพบการติดเชื้อในมนุษย์
- เฟสที่ 2 พบว่ามีการติดเชื้อในสัตว์และเริ่มพิจารณาว่าไวรัสนั้นอาจแพร่เชื้อมายังมนุษย์ได้
- เฟสที่ 3 พบว่ามีการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน เริ่มมีการแพร่ระบาดการติดเชื้อจากคนสู่คน
ทั้งเฟส 1 ถึง เฟส 3 นี้ถูกประเมินว่าเป็นช่วงที่มีความไม่แน่นอนในการแพร่ระบาด (Uncertain) ต้องมีการเตรียมพร้อมและมีแผนรับมือฉุกเฉินสำหรับโรคระบาดนี้
- เฟสที่ 4 การระบาดของไวรัสอยู่ในระดับกลางไประดับสูง (Medium to High) มีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนรวดเร็ว มีการจำแนกไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคระบาดได้ ระยะนี้ต้องมีการควบคุมอย่างรวดเร็ว ต้องร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกเพื่อจำกัดการแพร่เชื้อให้อยู่ในอัตราที่ช้าลง
- เฟสที่ 5 คือการระบาดของไวรัสในระดับสูง (High to certain) มีการแพร่ระบาดของไวรัสและพบว่า มีอย่างน้อย 2 ประเทศแพร่ระบาดไวรัสไปยัง 1 ภูมิภาค
- เฟสที่ 6 อยู่ในภาวะระบาดใหญ่ (Pandemic in progress)
ทั้งเฟส 5 และเฟส 6 แต่ละประเทศต้องมีแผนการรับมือในระดับประเทศ ทั้งสองเฟสนี้ต้องเตรียมพร้อมรับมือ เริ่มเข้าสู่ภาวะอันตราย
- Post-Peak Period ระยะนี้คือช่วงที่มีการระบาดไข้หวัดใหญ่ในหลายประเทศ ในอัตราที่ลดลง เป็นช่วงประเมินการตอบสนอง ช่วงฟื้นฟู และช่วงเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่การระบาดที่จะกลับมาอีกครั้ง
- Possible New Wave หลังผ่านการระบาดช่วงพีคคือช่วงที่ 5 และช่วงที่ 6 ไปแล้ว ผ่านช่วงหลังของการระบาดระดับสูงสุดไปแล้ว จะเข้าสู่การระบาดอีกครั้งหนึ่ง ช่วงนี้หลายประเทศต้องจับตา เฝ้าระวังการแพร่ระบาดไวรัสอีกครั้ง ช่วงนี้ ถือเป็นช่วงเตรียมรับมือ
- Post-Pandemic Period ช่วงนี้ถือเป็นช่วงสุดท้ายคือหลังการกลับมาระบาดของไวรัสอีกครั้ง ระดับของไข้หวัดใหญ่จะเข้าสู่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ช่วงนี้เป็นช่วงประเมินและเป็นช่วงฟื้นฟู
สถานการณ์ล่าสุดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ติดเชื้อจำนวน 86,983 ราย เสียชีวิต 2,978 ราย รักษาหาย 42,139 ราย เบื้องต้นสามารถระบุพื้นที่มีการติดเชื้อไวรัสราว 74 ประเทศ มีอีกราว 705 เคสที่ยังไม่สามารถระบุพิกัดพื้นที่
ในไทย อธิบดีกรมควบคุมโรคเผย มีผู้เสียชีวิตชายไทยคนแรก อายุ 35 ปี ก่อนหน้านั้นป่วยเป็นไข้เลือดออก รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ต่อมาตรวจพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 เป็นโรคที่สอง ถูกส่งตัวรักษาที่โรงพยาบาลสถาบันบำราศนราดูร ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ทีมแพทย์รักษาเต็มที่จนไม่พบเชื้อโควิด-19
แม้ไม่พบเชื้อแล้ว แต่การรักษาเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ด้วยสภาพปอดที่เสื่อม หัวใจและอวัยวะภายในทำงานอย่างหนัก ส่งผลให้อวัยวะภายในหลายระบบล้มเหลว (Multiorgan failure) จนเสียชีวิตในที่สุด
ที่มา – GatesNotes, WHO (1), (2), PLOS BIOLOGY, Coronavirus COVID-19 Global Cases by Johns Hopkins, ทำเนียบรัฐบาล
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา