ออฟฟิศแบบเดิมที่เราเข้าใจกำลังกลายเป็นเพียง “เรื่องเก่าในอดีต” (?)
การทำงานจากบ้าน (หรือจากที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ออฟฟิศ) เป็นหนึ่งในภาพของ Future of Work ที่พูดกันมานานหลายปี แต่ยังไม่เกิดขึ้นในวงกว้าง จนกระทั่งวิกฤตไวรัสโควิดส่งผลให้เกิดขึ้นจริงและไวขึ้นมาก
วิกฤตรอบนี้ส่งผลให้ภาพของการทำงานในออฟฟิศสมัยใหม่ (ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อทศวรรษที่ 1960 นี้เอง) กำลังจะกลายเป็นเพียงเรื่องเก่าในอดีต เพราะแม้สถานการณ์จะคลี่คลาย แต่วิธีคิดต่อพื้นที่ทำงาน พื้นที่สาธารณะของคนในยุคนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เนื่องจากมีหลายเรื่องให้ต้องคิดคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุขอนามัยและความสะอาด
New Normal ในพื้นที่ทำงานแบบใหม่ย่อมต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิ เคร่งครัดเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย แผงกั้นระหว่างโต๊ะทำงาน จำกัดจำนวนคนเมื่อเข้าประชุม มีป้ายหรือสัญลักษณ์ระบุระยะห่างที่ตามพื้นที่ต่างๆ หมั่นทำสะอาดออฟฟิศบ่อยๆ จัดตารางเวลาเข้า-ออกเพื่อลดการสัญจรของพนักงาน ฯลฯ
และแน่นอนขั้นสุดคือ การอนุญาตให้ทำงานจากบ้านได้อย่างถาวร ซึ่งมันก็หมายความว่าไม่ต้องการออฟฟิศอีกต่อไป
Work From Home แบบถาวร ได้เริ่มขึ้นแล้ว
กระแสการอนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านแบบถาวร (permanent Work From Home) เริ่มเห็นภาพชัดขึ้น
- Twitter ประกาศให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้ถาวร ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ แม้ว่าสถานการณ์ไวรัสระบาดจะกลับมาเป็นปกติแล้วตาม
- Square แพลตฟอร์มชำระเงินเจ้าของเดียวกับ Twitter ก็เดินตามรอย โดยประกาศให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้ถาวรเช่นกัน
- Shopify แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ประกาศให้พนักงานกว่า 5,000 คนสามารถทำงานจากบ้านได้ถาวร ส่วนออฟฟิศจะปรับให้เล็กลง รองรับพนักงานเพียง 20-25% เท่านั้นในอนาคต
- Facebook ก่อนหน้านี้ประกาศชัดแล้วว่าให้พนักงานทำงานจากบ้านตลอดปี 2020 แต่ล่าสุดวิสัยทัศน์ของ Mark Zuckerberg ซีอีโอมองว่า ในปี 2030 ครึ่งหนึ่งของพนักงานจะทำงานจากบ้าน (หรือที่ไหนก็ได้ remote work) อย่างถาวร ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นออฟฟิศอีกต่อไป
- ส่วนบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่รายอื่นๆ ต่างก็มีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านตลอดปี 2020 เช่น Google
ปัญหาใหม่ของอนาคตแห่งการทำงานจากบ้าน: พนักงานและองค์กร
จริงอยู่ที่การทำงานจากบ้านสามารถแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ (ออฟฟิศ) ได้ แต่ปัญหาใหม่คือ “วัฒนธรรมองค์กร” ที่สร้างกันมาหลายปีกำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนัก (แถมสร้างใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย)
ใครที่ทำงานในบริษัทมานานอาจนึกภาพไม่ออก เพราะแม้จะทำงานจากบ้าน แต่ความร่วมมือระหว่างทีม (collaboration) สามารถทำได้ผ่านออนไลน์ทั้งหมด ดูเหมือนไม่มีอะไรอยู่เบื้องหลัง แต่ความจริงสิ่งนี้คือความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างทีมที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยทำงานในออฟฟิศ มันคือ “คุณค่า” บางอย่างที่คนในทีมยึดถือร่วมกัน
คุณค่าหรือค่านิยมเหล่านี้มีทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น บริษัทนี้มีวัฒนธรรมองค์กรที่เชื่อถือในเรื่องความยืดหยุ่นในการทำงาน (flexibility) ดังนั้น เมื่อพนักงานในองค์กรเห็นตัวอย่างของการทำงานที่ยืดหยุ่น เห็นว่าพนักงานดีเด่นของบริษัทเป็นคนที่ยืดหยุ่นในการทำงาน เห็นการให้รางวัลเมื่อทำสิ่งนี้ได้ดี จากนั้นวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้น พนักงานทั้งบริษัทจึงรู้ว่าควรทำงานในลักษณะยืดหยุ่นในจังหวะใดและอย่างไร
นี่คือวัฒนธรรมที่ต้องสร้างค่อยๆ สร้างขึ้นมาภายใต้เวลา (time) และพื้นที่ (space) หนึ่งๆ ซึ่งออฟฟิศตอบโจทย์ตรงนี้ที่สุด
แต่ทีนี้ ลองนึกภาพว่า หากเราเป็นพนักงานใหม่ของบริษัทนี้ เพิ่งถูกรับเข้ามาในช่วงวิกฤต ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ยังไม่เคยถูกสร้าง บทสนทนากับเพื่อนร่วมงานที่ยังไม่เคย(และไม่มีทาง)เกิดขึ้นระหว่างชั่วโมงการทำงาน ภาษาฝรั่งเรียกว่า “water cooler conversation” เนื่องจากทำงานกันคนละพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ตอกย้ำอย่างชัดเจนว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่มี “พื้นที่” เป็นตัวเชื่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้าง
มากกว่านั้นยังมีปัญหา/เรื่องน่ากังวลอื่นๆ ตามมาอีกมาก เช่น งานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องการทำงานจากบ้านและดูปัจจัยเรื่องความสุข/ความเครียด พบว่า คนที่ทำงานจากบ้านมีความเครียดมากกว่าคนที่ทำงานในออฟฟิศ สาเหตุหลักมาจากเส้นแบ่งของโลกการทำงานและโลกการใช้ชีวิตพร่าเลือนและจางหายไป (อ่านวิจัยเต็มได้ที่ Does Telework Stress Employees Out? A Study on Working at Home and Subjective Well-Being for Wage/Salary Workers)
แน่นอนว่า ปัญหาใหม่เหล่านี้คือสิ่งที่ที่ต้องหาคำตอบกันต่อไป
แต่คำถามหลักเรื่อง Future of Work หลังจากนี้ต่อไปคือ Work From Home ถาวร (และรวมถึงการทำจากที่ไหนก็ได้) มันคืออนาคตของการทำงานจริงหรือไม่ ซึ่งหากคำตอบคือ “ใช่” คำถามสำคัญถัดมาคือ แล้วเราจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ต้องขึ้นกับ “พื้นที่” (space) ได้อย่างไร
หนึ่งในคำตอบอาจเป็นการสลับวันทำงาน เข้าออฟฟิศ 1-2 วัน/สัปดาห์ ที่เหลือให้ทำงานจากบ้านก็เป็นได้
อ้างอิง – Forbes, The Verge, Bloomberg, CNBC, NYT, The Atlantic, Washington Post
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา