ทำเองได้ไม่พึ่งคนอื่น เชนร้านอาหารดังเร่งทำตลาดแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ของตัวเอง

หลังเข้าร่วม และยอมแบ่งรายได้กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหาร ในที่สุดฝั่งร้านอาหารเชนดังเริ่มหันมาทำตลาดบริการส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันของตัวเองมากขึ้น เพื่อชิงเค้กก้อนนี้กลับมาผ่านประสบการณ์ที่ทำเรื่องนี้มาก่อน

เดลิเวอรี่

1112 ของกลุ่มไมเนอร์ที่โปรโมททุกช่องทาง

เริ่มกันที่ 1112 ของกลุ่มไมเนอร์ที่มีร้านอาหารชั้นนำอย่างดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซเล่อร์, บอนชอน, สเวนเซ่นส์ และเบอร์เกอร์คิง เป็นต้น เริ่มให้บริการเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน 1112 Delivery ตั้งแต่ต้นปี 2562 และเร่งทำตลาดด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านภาพยนตร์โฆษณา และสื่อต่าง ๆ ภายในธุรกิจร้านอาหารของตัวเอง

ก่อนหน้านี้ ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ได้อธิบายไว้ว่า กลุ่มไมเนอร์ให้บริการส่งอาหารถึงบ้านมานาน ด้วยประสบการณ์นี้ทำให้บริษัทเข้าใจ และพร้อมยกระดับเมนูอาหารทุกแบรนด์ให้สามารถส่งถึงบ้านได้ เพื่อเติบโตได้ตามกระแสของธุรกิจร้านอาหารที่ต้องเดลิเวอรี่ได้

แม้จะแข็งแกร่งด้วยการมี Fleet ส่งเมนูของเดอะ พิซซ่า คอมปะนี กว่า 3,000 คน แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับ 1112 Delivery กลุ่มไมเนอร์มีแผนเพิ่ม Fleet สำหรับธุรกิจนี้โดยเฉพาะอีก 3,000 คน นอกจากนี้ยังเปิดรับธุรกิจร้านอาหารที่สนใจเข้ามาจำหน่ายอาหารผ่าน 1112 Delivery เช่นมีเมนูของร้าน S&P กับ Bread Talk ให้สั่ง

zen restaurant

1376 ของกลุ่มร้านอาหารเซ็นพร้อมสู้ศึกนี้

ขณะเดียวกัน กลุ่มร้านอาหารเซ็น ที่มีแบรนด์อย่างร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น, ออน เดอะ เทเบิล, อากะ, ตำมั่ว และเขียง เป็นต้น ได้ยกระดับเบอร์สั่งอาหาร 1376 เป็นเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันสั่งอาหาร 1376 Delivery ที่รวมทุกเมนูหลากหลายของร้านในเครือเอาไว้ สามารถตอบโจทย์ความคุ้นชินในการสั่งอาหารออนไลน์ของผู้บริโภค

1376 Delivery เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2020 และเป็นหนึ่งในตัวช่วยสร้างรายได้จากบริการจัดส่งอาหาร และบริการจัดเลี้ยงของบมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป ในปี 2563 ปิดที่ 211.9 คิดเป็น 9.6% ของรายได้รวมฝั่งธุรกิจขายอาหาร และเครื่องดื่ม ทั้งยังเติบโต 107.5% เมื่อเทียบกับปี 2562

นอกจากนี้ในไตรมาสแรกของปี 2021 แนวโน้มรายได้จากบริการจัดส่งอาหาร และบริการจัดเลี้ยงของกลุ่มเซ็นยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนทางรายได้จากธุรกิจร้านอาหาร และการขายวัตถุดิบให้แฟรนไชส์ โดยเติบโตถึง 36.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 67.1 ล้านบาท

oishi delivery

Oishi Delivery ที่เดินหน้าปั้นรายได้เช่นกัน

กลุ่มธุรกิจร้านอาหารอีกรายคือ โออิชิ มีการเดินหน้ารุกตลาดเดลิเวอรี่เช่นกัน โดย โออิชิ มีเบอร์โทร 1773 กับเว็บไซต์ Oishidelivery.com และรวมร้านอาหารในเครือไว้เกือบทั้งหมด ตั้งแต่ โออิชิ บุฟเฟต์, โออิชิ ราเมน, คาคาชิ, นิกุยะ และโอโยกิ เป็นต้น

สำหรับมุมธุรกิจเดลิเวอรี่ของโออิชิ บริษัทแจ้งในผลประกอบการปี 2020 (สิ้นสุดเดือนก.ย. 2020) ว่า ยอดขายจากเดลิเวอรี่เติบโต 60% เมื่อเทียบกับปี 2019 นอกจากนี้ยอดขายเดลิเวอรี่ยังคิดเป็นไม่ถึง 10% ของรายได้ธุรกิจอาหารทั้งหมด ทำให้เหลือช่องว่างอีกมากในการสร้างการเติบโตในธุรกิจนี้

ส่วนแนวโน้มปีงบประมาณล่าสุดในไตรมาส 2 (สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2021) โออิชิ เปิดให้บริการ Oishi Kitchen ครัวกลางสำหรับปรุงอาหารแบรนด์ต่าง ๆ ในเครือถึง 82 แห่ง เพื่อตอบโจทย์แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ของตัวเอง และพาร์ทเนอร์ ทั้งยังมีการทำโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่องทางนี้

s&p delivery

S&P 1344 เดลิเวอรี่ผ่านแอปฯ และเว็บไซต์

อีกธุรกิจที่น่าสนใจคือ S&P เพราะยกระดับเบอร์ 1344 เดลิเวอรี่เป็นเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันมาระยะหนึ่งแล้ว โดยในปี 2020 ยอดขายเดลิเวอรี่คิดเป็นสัดส่วน 11% ของยอดขายหน้าร้านในประเทศ 4,407 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 2019

นอกจากนี้สาขาที่ทำเพื่อเดลิเวอรี่โดยเฉพาะทำสัดส่วนรายได้เป็น 24% เมื่อเทียบกับยอดขายจากฝั่งเดลิเวอรี่ทั้งหมด ทำให้ตั้งแต่ปี 2020 ทาง S&P เริ่มเน้นการทำโปรโมชันเก่ียวกับเดลิเวอรี่มากกว่าเดิม เช่นการทำหน้าร้านขนาดเล็กในสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ถือเป็นการเดินเกมเดลิเวอรี่ของเชนร้านอาหารรายใหญ่ ที่ให้บริการส่งอาหารถึงบ้านก่อนที่แพลตฟอร์มสีต่าง ๆ จะเกิดขึ้น เพราะถ้าตัวเองเคยทำได้ดีมาก่อน ก็ไม่แปลกที่ร้านอาหารต่าง ๆ จะหันกลับมาเน้นเรื่องนี้มากขึ้น แต่ก็คงต้องดูกันว่า แบรนด์เหล่านี้จะสามารถจูงใจผู้บริโภคที่อยากรับประทานเมนูของตัวเองให้สั่งผ่านแพลตฟอร์มตัวเองได้หรือไม่

อ้างอิง // S&P, Oishi, Zen

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา