เมืองไทยยังพูดถึง Big Data เป็นแฟชั่น ยังล้าหลังประเทศอื่นอีกมากโข

เทคโนโลยีเข้ามา Disrupt ทุกวงการ อีกทั้งดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งมีการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี มีการพูดถึง Big Data นำมาวิเคราะห์ต่อยอดในธุรกิจ แต่ในไทยยังมาใช้ได้จริงน้อย ต้องหันมาทำจริงจังเพื่อสร้างการเติบโต

การทำ Big Data ในไทยยังระดับอนุบาล

จากการเติบโตของดิจิทัลมาร์เก็นติ้งในไทยปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 12,402 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะเติบโตขึ้นไปถึง 14,330 ล้านบาท เห็นทิศทางของแบรนด์ในไทยเริ่มหันมาใช้อาวุธบนโลกดิจิทัลมากขึ้น ใช้แบบจริงจังไม่ใช่เพราะกระแส

ทั้งนี้เทรนด์ที่มาพร้อมกับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งก็คือ Big Data เป็นคำพูดที่ติดปากนักการตลาดมาหลายปี เริ่มมีการพูดถึงอย่างหนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นการนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ เพื่อต่อยอดในการทำการตลาด ตอนนี้มีการพูดถึงในหลายๆ วงการ

แต่การพูดถึง Big Data ในไทยยังเป็นเหมือนแฟชั่น ที่พูดถึงกันว่ากำลังมา แต่ยังไม่มีการลงมือเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง มีเพียงบางธุรกิจที่เห็นทำอย่างเป็นระบบ เช่น ธนาคาร เทเลคอม อสังหาริมทรัพย์ ประกัน และค้าปลีก ล้วนเป็นธุรกิจที่โดนเทคโนโลยี Disrupt ทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องปรับตัว และใช้ Big Data ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้ง Adyim ผู้ให้บริการดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งโซลูชั่น ได้พูดถึงการทำ Big Data ในไทยว่า

ในไทยเริ่มพูดถึง Big Data ได้ 2 ปีแล้ว แต่จริงๆ ลูกค้ายังไม่มีความพร้อมเท่าไหร่ แต่ในปีนี้เริ่มเห็นความพร้อมมากขึ้น เริ่มเห็นธุรกิจธนาคาร กับเทเลคอมจัดการอย่างจริงจัง ทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนธุรกิจที่มีการทำได้ดีคือค้าปลีก และอีคอมเมิร์ซ มีการเก็บข้อมูลของลูกค้าจากบัตรสมาชิกเพื่อในการทำ CRM”

ซึ่งธนพลมองว่าการทำ Big Data ในไทยยังล้าหลังอยู่มาก ถ้าให้เปรียบก็อยู่ในระดับอนุบาล ถ้าเทียบกับประเทศในเอเชียอย่างสิงคโปร์ และเกาหลีจะล้าหลัง 2-3 ปี แต่ถ้าโซนยุโรปจะล้าหลังเป็น 10 ปี เพราะมีการทำ Big Data กันมายาวนาน

แบรนด์ไทยอยู่ในสถานะจัดเก็บ ยังจัดการกับข้อมูลไม่ได้

การทำ Big Data ของแบรนด์ไทยส่วนมากจะให้เอเยนซี่ในการทำ เพราะมีการเก็บดาต้าในการทำแคมเปญแต่ละครั้งไว้อยู่แล้ว แต่บางแบรนด์ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่ เพราะคิดถึงแต่ตัวเลขเรื่องยอดขาย ไม่ได้คิดถึงการต่อยอดในอนาคต ส่วนบางแบรนด์มีการพัฒนาทีม Data Analytics ขึ้นมาใหม่บ้าง แต่ก็พบว่าบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้จริงๆ หายากมาก

การวิเคราะห์ Big Data ในไทยนั้น พบว่ามีปัญหาหลักๆ อยู่ 5 ข้อด้วยกัน

  1. แคมเปญจบข้อมูลก็จบไปตามแคมเปญ
  2. ข้อมูลกระจัดกระจาย จะหาแต่ละทีไม่รู้อยู่ที่ใคร เพราะมีการใช้เอเยนซี่หลายราย
  3. ข้อมูลมีเยอะ แต่ใช้ประโยชน์ไม่ถูก
  4. เงินหายไปกับมีเดีย ยุคนี้ยิ่งซื้อยิ่งแพง
  5. จะดูข้อมูลแต่ละทีต้องเสียเวลาเรียกเอเยนซี่มาประชุม

ตอนนี้หลายองค์กรเริ่มตระหนักในการใช้ Big Data  มากขึ้น แต่ปัญหาก็คือส่วนใหญ่มีข้อมูลอยุ่ในสถานะจัดเก็บ แต่ขาดการจำแหนก และต่อยอด เพราะฉะนั้นต้องดูว่าธุรกิจมีความพร้อมแค่ไหน แล้วสิ่งที่ทำได้ประโยชน์แค่ไหน เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ไปยังสิ่งใหญ่ๆ

ค้าปลีกทำ Big Data ได้ดี ส่วน FMCG ยังไม่ได้ทำเท่าไหร่

ธนพลบอกว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการทำ Big Data ที่เห็นได้ชัดก็คือกลุ่มค้าปลีก และอีคอมเมิร์ซ จะเห็นได้จากการเก็บข้อมูลการซื้อสินค้า และทำการกระตุ้นการซื้ออยู่บ่อยครั้งบนโลกออนไลน์ ส่วนห้างสรรพสินค้า เช่น เซ็นทรัลก็มีโปรแกรม CRM อย่าง The One Card มีการเก็บข้อมูลการใช้จ่าย แล้วทำการสื่อสาร ให้คูปองกับลูกค้าแบบ Personalize เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้ไม่เหมือนกัน

แต่กลุ่มที่มีการใช้หนักขึ้นก็คือธนาคาร เทเลคอม อสังหาริมทรัพย์ ประกัน รวมถึงสื่อก็ทำการวิเคราะห์ดาต้าด้วยเช่นกัน เพื่อดูว่าคนอ่านต้องการคอนเทนต์รูปแบบไหน

สรุป

การทำ Big Data ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป แต่มีการพูดถึงจริงจังมากขึ้น หลายธุรกิจลงมาจับมากขึ้นเพื่อต่อยอดในอนาคต เพราะการทำ Big Data ไม่ใช่นำมาแค่ยอดขายเพิ่มขึ้น แต่สามารถกำหนดทิศทางอื่นๆ ได้อีกมากมาย สำคัญอยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่เปิดรับกับการทำ Big Data ด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา