มองทิศทาง Big C หลังอยู่ภายใต้บ้านใหม่ BJC ครบ 2 ปี

BJC เปิดแผนธุรกิจบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์หลังเข้าบริหารได้ 2 ปี เตรียมเพิ่มสินค้ากลุ่ม Non-food จัดตั้งออฟฟิศในจีนเพื่อสรรหาสินค้าราคาถูกมาไทย ยังเน้นขยายร้านในฟอร์แมตใหม่ๆ

Photo : Shutterstock

บริหาร 2 ปี มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

หลังจากที่ทางกลุ่ม BJC บริษัทลูกในเครือไทยเบฟเวอเรจได้ทำการปิดดีลเข้าฮุบกิจการบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์จนถึงวันนี้ก็ได้ครบรอบที่บิ๊กซีเข้ามาอยู่บ้านใหม่ได้ 2 ปีแล้ว

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของบิ๊กซีที่เห็นได้ชัดคือมีความเป็นโลคอลมากขึ้น เพราะบริหารด้วยบริษัทคนไทยทำให้เข้าใจความเป็นลูกค้าคนไทย

และเมื่อมีเงินทุนเข้ามามากขึ้นสินค้าบนเชล์ฟ หรือในสต็อกก็มีมากขึ้นเช่นกัน ช่วยเสริมระบบปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงสินค้าโปรโมชั่นก็มากขึ้น มีการเอาเทคโนโลยีเข้ามาเสริมกับช่องทางค้าปลีก เพิ่มระบบการชำระเงินในการรองรับลูกค้าหลายๆ กลุ่ม

Photo : Shutterstock

ทำให้จำนวนลูกค้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคน เป็น 16 ล้านคนในช่วงเวลา 2 ปีลูกค้ากลุ่มใหญ่ยังเป็นกลุ่มแม่บ้านและผู้สูงอายุอยู่

ปัจจัยหลักที่ทำให้จำนวนลูกค้ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทำการตลาดแบบเจาะ Personalize แบบเป็นรายบุคคลมากขึ้น มีการเอาดาต้าจากระบบสมาชิกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จากปกติที่ทำการตลาดในระดับแมสซึ่งไม่สามารถใช้ได้แล้วกับค้าปลีกในยุคนี้                               

ลงทุนเทรดดิ้งในจีน หาสินค้าราคาถูกป้อนไทย

แผนการลงทุนของบิ๊กซีนั้น นอกจากเรื่องการขยายสาขายังมีเรื่องการเติมเต็มในด้านประสบการณ์ของผู้บริโภคด้วยการเพิ่มจำนวนสินค้าใหม่ๆ โดยที่ในปีหน้ามีแผนเพิ่มในส่วนของ Non-food อย่างหมวดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหรือสินค้าของใช้ต่างๆ หาสินค้าใหม่ๆจากต่างประเทศมาเติม

โดยที่ทาง BJC ได้ทำการจัดตั้งบริษัทลูกที่กวางโจว ประเทศจีนเมื่อตอนต้นปี แต่ยังไม่เปิดเผยถึงชื่อบริษัท เพื่อทำธุรกิจเทรดดิ้ง จัดหาสินค้าในราคาถูก มีการ Synergy กับ BJC Logistics ในการอิมพอร์ตสินค้าเข้ามา ตอนนี้มีการนำเข้ามาแล้ว 3,000 รายการ เช่น กระเป๋าเดินทาง

ซึ่งทาง อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า

จีนเป็นตลาดใหญ่ทาง BJC ยังไม่ได้เข้าไปทำธุรกิจ เลยเน้นที่การทำเทรดดิ้งก่อน ถ้ามีการทำในจำนวนมากขึ้นก็มีแผนที่จะสร้างโรงงานในการผลิตสินค้าในราคาถูกเลย มองทำเลที่คุนหมิงไว้เพราะมีโลเคชั่นใกล้ประเทศไทย พยายามทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ

ขยายฟอร์แมตใหม่ เน้นไซส์เล็ก

ปัจจุบันบิ๊กซีในประเทศไทยมีสาขารวมทั้งหมดกว่า 900 สาขา แบ่งเป็นรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 40 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต 60 สาขา มินิบิ๊กซี 700 สาขา และเพียว 100 สาขา

โดยแผนการลงทุนในแต่ละปีจะใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 10,000 ล้านบาท เน้นที่รูปแบบมินิ บิ๊กซี ที่เป็นร้านสะดวกซื้อ ตอนนี้ได้ยกเลิกการขายแฟรนไชส์ก่อน เพื่อปรับโมเดลให้สมบูรณ์ยิ่งกว่านี้

Photo : Shutterstock

และยังมีการขยายฟอร์แมตใหม่ๆ เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีข่าวฮือฮาถึงโมเดลรถเคลื่อนที่เข้าตามชุมชน และล่าสุดได้ขยายฟอร์แมตฟู้ดเพลสเน้นที่อาหารสด และอาหารแห้ง มีสาขาที่เกตเวย์บางซื่อ และสามย่านมิดทาวน์

แต่ทิศทางในอนาคตจะมีการเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพื่อเชื่อมโยงช่องทางออนไลน์ กับออฟไลน์

สรุป

ทิศทางของตลาดค้าปลีกยังมีการแข่งขันที่ดุเดือด ตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ตก็มีการปรับตัว งัดไม้เด็ดออกมาตลอด หลังจากที่บิ๊กซีได้เปลี่ยนมือมาสู่อาณาจักรไทยเบฟแล้วนั้นอาจจะได้เปรียบตรงที่สามารถเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยได้ดี เพราะเป็นการบริหารด้วยบริษัทคนไทย แต่ก็ต้องติดตามดูต่อไปว่าบิ๊กซีในปีต่อๆ ไปจะมีการติดสปีดอย่างไรได้บ้าง 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา