Big C เตรียม IPO และนำหุ้นบริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น เข้าตลาดหลักทรัพย์

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) อนุมัติแผนเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทบิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BRC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท BJC ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO และนำหุ้นสามัญของบริษัท บิ๊กซี รีเทลฯ เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย

Big C

บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือเป็น บริษัทเรือธง ในการทำธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง สั่งผลิต นำเข้าและส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่มีส่วนในการเกื้อหนุนค้าปลีกหรือค้าส่งของตนเอง โดยกำหนดสัดส่วนหุ้น IPO ไม่เกิน 29.98% ของทุนชำระแล้วทั้งหมดของ BRC ภายหลังการเพิ่มทุนและการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมของ BRC

โดย BRC จะยังมีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ BJC เช่นเดิม แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะส่งผลกระทบให้สัดส่วนการถือหุ้นใน BRC ลดลงและเข้าข่ายเป็นรายการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนตามประกาศ โดยสินทรัพย์ที่จำหน่ายได้แก่หุ้นสามัญของ BRC ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO เบื้องต้นการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์ที่จำหน่าย หากใช้มูลค่าตามบัญชีของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ตามงบการเงินรวมของ BRC ณ 31 ธันวาคม 2565 เท่ากับ 125,203 ล้านบาท

เมื่อคำนวณเปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนหุ้นสามัญของ BRC ที่จะเสนอขายไม่เกิน 29.98% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งหมดของ BRC ภายหลังการเพิ่มทุนและการออกและเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งรวมจำนวนหุ้นสามัญที่จะจัดสรรให้แก่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน ดังนั้น มูลค่าสินทรัพย์ที่จำหน่ายไปจะไม่เกิน 37,530 ล้านบาท

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

1) เงินระดมทุนจากการเพิ่มทุนและการออกเสนอขายหุ้น IPO ที่ BRC ได้รับบางส่วนจะถูกนำไปชำระหนี้ที่กลุ่ม BRC กู้ยืมจากบริษัทและบริษัทอาจนำเงินที่ได้รับชำระาหนี้ดังกล่าวไปชำระหนี้บางส่วนของบริษัท ซึ่งจะช่วยให้ภาพรวมฐานะทางการเงินของกลุ่มบริษัทมีความแข็งแรงขึ้น

2) การนำ BRC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยลดภาระของบริษัทในการให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ BRC และจะเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบต่างๆ ทั้งตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้และเพิ่มช่องทางระดมทุนให้กับ BRC ให้สามารถระดมทุนได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการขยายธุรกิจ

3) เมื่อหุ้นของ BRC เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน หุ้นของ BRC จะมีสภาพคล่องมากขึ้นและมีราคาตลาดอ้างอิง ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้อ้างอิงในการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ หรือใช้เป็นสิ่งตอบแทนเพื่อชำระราคาการทำรายการซื้อขายสินทรัพย์หรือกิจการในอนาคต

4) ส่งเสริมชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ BRC ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสในการแสวงหาบุคลากรและ/หรือพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในธุรกิจเกี่ยวกับการค้าปลีกและการค้าส่ง

แผนการใช้เงินของ BRC

เพื่อนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น IPO ไปใช้ลงทุนในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงินแฃะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของ BRC รวมทั้งชำระหนี้บางส่วนของ BRC และใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั้งนี้ BRC จะกำหนดรายละเอียดวัตถุประสงค์การใช้เงินไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนของ BRC ต่อไป

ที่มา – SET 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา