การเดิมพันครั้งใหญ่ เมื่อบริษัทโทรคมนาคมหันมาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬามากขึ้น

อาจเป็นเทรนด์ใหม่ของกลุ่มบริษัทโทรคมนาคมทั่วโลก เมื่อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาชั้นนำของโลกรายการดังๆ เป็นที่หมายปอง พร้อมเดิมพันกับการเติบโตของเหล่าบริษัทโทรคมนาคมครั้งใหม่ที่มาพร้อมกับหนี้มหาศาล

ในประเทศไทยเราเห็นกลุ่มบริษัท True เคยซื้อลิขสิทธิ์ Premier League มาถ่ายทอดสด แต่ในต่างประเทศช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทโทรคมนาคมใหญ่ๆ ระดับโลกได้หันมาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาหรือบริษัทผลิต content ซึ่งเป็นการเดิมพันอีกครั้งของกลุ่มโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่

บริษัทโทรคมนาคมต่างประเทศส่วนใหญ่จะให้บริการหลากหลายเช่น ทีวีบอกรับสมาชิก อินเทอร์เน็ตตามบ้าน โทรศัพท์บ้าน และบริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะแตกต่างกับในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามบ้านแยกจากกัน (ยกเว้น True) ซึ่งปัจจุบันนี้เราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้

นอกจาก True ที่มีหลากหลายบริการ AIS ก็เริ่มมาได้ประมาณ 2 ปีแล้วเช่นกัน

ลีกกีฬาก็อยากได้เงินมากขึ้น

เราจะเห็นได้ชัดเจนคือ NFL (อเมริกันฟุตบอล จากอเมริกา) กับทาง English Premier League ของอังกฤษที่พยายามเปิดลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดผ่าน Platform ต่างๆ ที่ตัวเองมี (เช่น Facebook หรือ YouTube) หรือผ่าน OTT (เช่น Netflix) ฯลฯ ซึ่งเป็นการเชื้อชวนให้บริษัทเทคโนโลยีเข้ามาประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด

ยิ่งฤดูกาลใหม่ของ Premier League อังกฤษกำลังที่จะมีการเปิดให้ประมูลลิขสิทธิ์ โดย Premier League กำลังจะตัดสินใจเพิ่ม Slot สำหรับถ่ายทอดสดเพื่อเพิ่มเม็ดเงินเข้ามา หรือเพิ่มคู่ถ่ายทอดสด ซึ่งข่าวลือล่าสุดนั้นรอบประมูลใหม่อาจมีคู่ถ่ายทอดสดในประเทศอังกฤษสูงถึง 220 นัด หรือรายการกีฬาอื่นๆ เช่น Formula 1 ก็เริ่มดูลู่ทางที่จะหาเงินผ่านบริษัทเทคโนโลยีแล้ว

ภาพจาก Shutterstock

บริษัทเทคโนโลยีก็เป็นอีกปัจจัยที่บีบให้ต้องเล่นเกมนี้

1-2 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ พยายามเข้ามาเล่นเกมนี้ เช่น Google Amazon Facebook Twitter Netflix หรือแม้แต่ Apple ก็พยายามเข้ามาในการประมูลซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ยิ่งเฉพาะ NFL เป็นของรักของหวงของบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่าง AT&T หรือแม้แต่ Verizon ที่พยายามถ่ายทอดสดให้นอกเหนือจากฟรีทีวีซึ่งมี Fox CBS และ NBC โดยจ่ายค่าลิขสิทธิ์ไป 2 พันล้านดอลลาร์ ความเดือดร้อนนี้ยังตามไปถึงบริษัทเคเบิลใหญ่ๆ อย่าง DirecTV (ปัจจุบันเป็นของ AT&T) หรือแม้แต่ Sky ในทวีปยุโรปต้องทุ่มเม็ดเงินซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาอื่นๆ ให้มากขึ้น เพราะไม่งั้นลูกค้าหายแน่นอน

ใครๆ ก็ไม่อยากเป็น Dumb Pipe

กลุ่มโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่พยายามอย่างยิ่งที่จะหา Content มาบริการให้กับลูกค้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง โดยมองว่าการเดิมพันด้วยเม็ดเงินแต่ละเจ้ารวมกันระดับพันล้านเหรียญสหรัฐมีความคุ้มค่าแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น

  • Telefónica ที่ได้ซื้อ Canal+* ยักษ์ใหญ่เคเบิลทีวีในประเทศสเปนในปี 2015 และปีถัดๆ มาได้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลอย่าง Premier League และ La Liga เป็นต้น
  • BT ได้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาดังๆ ในประเทศอังกฤษหลากหลายรายการ เช่น Premier League Calcio SerieA หรือแม้แต่ศึกรักบี้ Aviva Premiership ในประเทศอังกฤษ ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ BT สามารถชมช่องกีฬาของ BT โดยจ่ายเงินเพิ่มเพียงเล็กน้อย
  • ใกล้ๆ ประเทศไทยมี Singtel ที่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด Premier League มาอย่างต่อเนื่อง
  • Altice ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีและอินเทอร์เน็ตในประเทศฝรั่งเศสได้ช็อกวงการถ่ายทอดสดกีฬาโดยการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด Premier League อังกฤษตัดหน้า Canal+* เคเบิลทีวียักษ์ใหญ่ฝรั่งเศส
  • ในประเทศออสเตรเลียผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออย่าง Singtel Optus ก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด Premier League และรวมไปถึงฟุตบอลโลกปี 2018 ตัดหน้าทีวีบอกรับสมาชิกยักษ์ใหญ่อย่าง Foxtel

ยังไม่นับถึงบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ทั้งหลายพยายามซื้อบริษัทเจ้าของ content อย่างเช่น AT&T พยายามอย่างยิ่งที่จะซื้อ Time Warner เป็นต้น หรือแม้แต่ Comcast ที่เป็นเจ้าของ NBC Universal เป็นต้น นี่คือยุคใหม่ของบริษัทโทรคมนาคมที่พยายามทำตัวไม่เป็น Dumb Pipe ที่เป็นทางผ่านให้บริษัทเทคโนโลยีหรือบริษัทสื่ออื่นๆ นั้นใช้ประโยชน์จากทางผ่านตัวเอง โดยที่ตัวบริษัทเองนั้นไม่ได้อะไรเลยนอกจากค่าบริการรายเดือน

* Note: Canal+ ของประเทศฝรั่งเศสกับสเปนเคยใช้ชื่อเดียวกันแต่คนละเจ้าของกัน โดยของสเปนปัจจุบันใช้ชื่อว่า movistar+ ส่วนฝรั่งเศสใช้ชื่อเดิม

ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด NFL นั้นเป็นอีกหนึ่งลิขสิทธิ์ที่เหล่าบริษัทโทรคมนาคมในสหรัฐนั้นอยากได้มาก รวมไปถึงบริษัทเทคโนโลยีด้วย

ของแบบนี้มีราคาจ่าย

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นเม็ดเงินมหาศาลที่บริษัทโทรคมนาคมจ่ายไปในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาและรวมไปถึงการซื้อบริษัท content ใหญ่ๆ กำลังสร้างภาระหนักให้กับบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ ปี 2017 ที่ผ่านมาหุ้นของบริษัทโทรคมนาคมทั้งหลายในทวีปยุโรปปรับตัวลดลงไปกว่า 40% จากปัญหาหนี้ก้อนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการอัพเกรดระบบเครือข่ายที่ใช้เงินมหาศาลมากอยู่แล้ว และยิ่งรวมไปกับเงินที่จ่ายไปกับการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาแล้ว ภาระหนี้อันใหญ่โตย่อมตามมาอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ให้จ่ายแพงขึ้นลูกค้าก็ไม่เอาอีก

Stéphane Richard ซึ่งเป็น CEO ของ Orange ได้กล่าวในงานพบปะนักลงทุนสถาบันได้กล่าวว่า ลูกค้าไม่อยากโดนขังกรงกับสิ่งที่เรียกว่า content สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือ ราคากับ content ที่ได้นั้นเหมาะสมต่างหาก ซึ่งสอดคล้องว่าหากค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการดูกีฬาเพิ่มขึ้นแบบแพงโดยไร้สาระแล้ว ลูกค้าก็ย่อมไม่สนใจหรือทางที่แย่กว่าอาจทำให้ลูกค้าหันเข้าสู่ด้านมืดอย่างเว็บถ่ายทอดสดกีฬาเถื่อน หรือการดูหนังเถื่อน โดยบริษัทโทรคมนาคมที่ซื้อลิขสิทธิ์มาอาจไม่ได้อะไรเลย สุดท้ายขาดทุนด้วยซ้ำ

(พี่)เคยเจ็บมาก่อน

สวนทางกับบริษัทโทรคมนาคมบางรายที่กำไรกำลังฟื้นอย่างเช่น Orange ที่เลิกโฟกัสกับเรื่องของการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬา ซึ่ง Orange เคยโฟกัสไปที่ทีวีบอกรับสมาชิกและรวมไปถึงการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล Ligue 1 ของประเทศฝรั่งเศสในปี 2008 แต่ปัจจุบัน Orange ให้ความสนใจกับทีวีบอกรับสมาชิกเป็นเรื่องรอง โดยมาโฟกัสกับการขยายและอัพเกรดระบบเครือข่าย

อีกรายที่โฟกัสไปที่บริการโทรศัพท์มือถือและบริการอินเทอร์เน็ตตามบ้าน คือ Vodafone ซึ่งตอนแรกบริษัทมีแผนจะเปิดทีวีบอกรับสมาชิกในปลายปีที่แล้วแต่ตอนหลังได้ยกเลิกแผนนี้ ล่าสุดทุ่มเม็ดเงินกับการอัพเกรดระบบเครือข่ายและรวมไปถึงบริการลูกค้า ตอนนี้ทั้งสองบริษัทกำลังจะได้กำไรจากการลงทุนเต็มเม็ดเต็มหน่วยกลับมาในปีนี้ ทางด้านนักวิเคราะห์ในทวีปยุโรปนั้นปรับสถานะทั้งสองบริษัทนี้โดยแนะนำให้ซื้อ ซึ่งสวนทางกับ BT หรือ Telefónica ส่วนทางด้าน Deutsche Telekom ก็เน้นที่จะเป็นพันธมิตรกับยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix

พลาดแล้วเละ

Altice ที่ได้กล่าวไปในข้างต้นตอนนี้ประสบปัญหาหนี้ก้อนใหญ่ 1 พันล้านยูโรที่กำลังสร้างความปวดหัวกับบริษัท เพราะบริษัทได้ไล่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด แถมยังพลาดซ้ำสองด้วยการ “ขึ้นราคา” กับลูกค้า โดยการแก้ปัญหาของ Altice คืออาจขายลิขสิทธิ์แบบ Sub License ให้กับเจ้าอื่นๆ ในประเทศฝรั่งเศส รวมไปถึงการแยกบริษัทอีกบริษัทมารับผิดชอบทีวีบอกรับสมาชิกโดยเฉพาะเพื่อแก้ปัญหานี้ ล่าสุด BT ก็กำลังจะยกเลิกแผนทำทีวีบอกรับสมาชิกหลังจากค่าใช้จ่ายนั้นมากเกินกว่าที่คิด

ที่มาFinancial Times

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ