ไบเดนลงนามคำสั่งแก้ปัญหาชิปขาดแคลนภายใน 100 วัน เร่งหาจุดอ่อนของสหรัฐในหลากหลายอุตสาหกรรม

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ลงนามคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาชิปขาดแคลนภายใน 100 วัน หลังจากความต้องการชิปเพิ่มขึ้น จนส่งผลต่อหลายๆ บริษัทในสหรัฐต้องลดกำลังการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาที่เกิดขึ้น

Chip ชิป
ภาพจาก Shutterstock

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามคำสั่งบริหารให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐเข้าตรวจสอบและแก้ไขปัญหาห่วงโซ่สินค้าที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซมิคอนดักเตอร์ แร่ธาตุสำคัญ รวมถึงชิป ที่ขาดตลาดอย่างหนักจากความต้องการในอุตสาหกรรมหลากหลายชนิด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ไอที ฯลฯ ขณะเดียวกันโรงงานผลิตในสหรัฐอเมริกาเองก็ประสบปัญหาที่ไม่สามารถมีกำลังผลิตจำนวนมากเท่ากับประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้ รวมถึงไต้หวัน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐต้องลงนามคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากสหรัฐต้องการห่วงโซ่การผลิตที่มีความหลากหลายรวมถึงมีความปลอดภัยจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ โรคระบาด ภัยคุกคามต่างๆ ที่เป็นปัจจัยที่จะลดกำลังการผลิตสินค้าเหล่านี้ และเพื่อประกันเรื่องความมั่นคงและเรื่องเศรษฐกิจของสหรัฐ

คำสั่งดังกล่าวยังช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐกลับมาอีกครั้ง และรักษาความได้เปรียบในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ของสหรัฐเพิ่มมากขึ้น และยังกล่าวถึงความร่วมมือด้านห่วงโซ่การผลิตกับประเทศพันธมิตรของสหรัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรับประกันว่าภาคการผลิตสินค้าเหล่านี้จะยังเดินหน้าต่อไปได้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด

ประธานาธิบดีสหรัฐยังได้กล่าวว่า “สหรัฐจะต้องหยุดเกมไล่จับกับปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น และสหรัฐเองสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้”

ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาสมาคมผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐ เพิ่มแรงจูงใจในการผลิตชิปในสหรัฐอเมริกามากขึ้น โดยปัจจุบันส่วนแบ่งของสหรัฐในภาคการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เหลือเพียงแค่ 12% จากเดิมอยู่ที่ 37% ในปี 1990

นอกจากสินค้าประเภทชิปแล้ว ยังมีคำสั่งให้กระทรวงต่างๆ ตรวสอบห่วงโซ่อุปทานและจุดอ่อนต่างๆ ในอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ 6 ชนิดภายใน 1 ปี ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับความมั่นคง อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ฯลฯ

ที่มา – CBS News

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ