4 สิ่งที่เราเรียนรู้จากแง่มุมชีวิตของชายผู้ชื่อ “วิชัย ศรีวัฒนประภา” แห่ง King Power

Brand Inside รวบรวม 4 แง่มุมชีวิตของเจ้าสัววิชัย “วิชัย ศรีวัฒนประภา” แห่ง King Power ในด้านต่างๆ ที่เราได้รับรู้

ภาพจาก Shutterstock

หลังจากมีข่าวของ วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท King Power เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกบริเวณลานจอดรถใกล้กับบริเวณสนาม Brand Inside รวบรวมแง่มุมไปถึงมุมมองที่สำคัญของเจ้าสัววิชัย ที่สำคัญๆ

ในปี 2560 นิตยสาร Forbes ได้ประเมินทรัพย์สินของ วิชัย ศรีวัฒนประภา มีทรัพย์สินมูลค่า 155,000 ล้านบาท ติดอันดับ 4 ของมหาเศรษฐีชาวไทย นอกจากนี้ Forbes ยังประเมินสโมสร Leicester City มีมูลค่าประมาณ 15,720 ล้านบาท 

เริ่มธุรกิจอายุยังน้อย

เจ้าสัววิชัยเริ่มธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในปี 2532 โดยตอนนั้นอายุเพียงแค่ 31 ปี และนี่เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับร้านค้าปลอดภาษีในประเทศไทย และจุดเปลี่ยนสำคัญของเจ้าสัววิชัย คือการที่ประมูลได้พื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีภายในสนามบินดอนเมือง และจุดเปลี่ยนอีกครั้งคือในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งถือเป็นการสร้างความมั่งคั่งครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต

ถึงแม้ว่าธุรกิจจะมีอุปสรรคหลากหลายประการเกี่ยวกับร้านค้าปลอดภาษี เช่น การต่อสัญญาพื้นที่ร้านค้าในสนามบิน ฯลฯ แต่ทุกครั้งเจ้าสัววิชัยก็พาอาณาจักร King Power ฝ่าฝันออกมาได้

นอกจากนี้ยังมีตัวเร่งสำคัญที่ทำให้อาณาจักร King Power ยิ่งใหญ่ระดับ 10 เท่าได้คือการก่อสร้างอาณาจักร King Power ในซอยรางน้ำ และอีกเรื่องที่ลืมไม่ได้เลยคือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่มาเที่ยวเมืองไทย ปัจจุบันหนึ่งในสถานที่ชอปปิ้งสำคัญของชาวจีนในกรุงเทพคือ King Power ซอยรางน้ำ

ภาพจาก Shutterstock

ทำอะไรทำให้สุด

สิ่งหนึ่งในความฝันของเจ้าสัววิชัยคือการมีทีมฟุตบอลของตัวเอง โดยก่อนหน้านั้น King Power ได้เป็นสปอนเซอร์ข้างสนามของทีม Chelsea แต่ต่อมาโชคด็เข้าข้างเจ้าสัววิชัยเมื่อมิลาน แมนดาริช เจ้าของทีม Leicester City ได้ขายทีมให้กับเขา

โดยเจ้าสัววิชัยได้พัฒนาทีม Leicester City จากทีมธรรมดาๆ แก้ปัญหาหมักหมมในสโมสร จนกลายขึ้นมาเป็นทีมในพรีเมียร์ลีก และสามารถพาทีมเป็นแชมป์ได้ในที่สุด นอกจากนี้ความที่ชอบฟุตบอลต่อมาทำให้เราได้เห็นกลุ่ม King Power ซื้อสโมสรฟุตบอลในประเทศเบลเยี่ยม อย่าง OH Leuven 

ไม่ใช่แค่กีฬาฟุตบอลเท่านั้น ยังมีกีฬาโปโลที่เจ้าสัวชื่นชอบเป็นพิเศษ รวมไปถึงการสะสมพระเครื่อง การสะสมไวน์ ซึ่งเจ้าสัววิชัยเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารแพรวว่า “ผมกลัวเวลาตายไปแล้วจะมีความรู้สึกว่า ทำไมเอาเงินเราไปใช้แบบผิดๆ ทำไมตอนมีชีวิตอยู่เราไม่ใช้ซะก่อน”

ทุกสิ่งที่เจ้าสัววิชัยได้ทำแสดงให้เห็นว่าการที่จะทำอะไรต้องทำให้สุด ไม่มีครึ่งๆ กลางๆ

ภาพจาก Shutterstock

มิตรสหายมากล้น

สิ่งหนึ่งที่เรารับรู้มาตลอดคือเจ้าสัววิชัยมีเพื่อนหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหน หรือแม้แต่มหาเศรษฐีรายอื่นๆ ฯลฯ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เจ้าสัววิชัยมีให้ที่เราเห็นผ่านทางหน้าสื่อ คือความเต็มที่กับมิตรสหายหลากหลายท่าน หรือที่เราเห็นอย่างเช่นการทุ่มเทให้กับนักเตะในสโมสร Leicester City

ไม่เว้นแต่การดูแลพนักงานของ King Power หรือในอดีตที่ ททท. นำธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีไปดำเนินการต่อ เจ้าสัววิชัยก็ได้ฝากให้ ททท. ดูแลพนักงานด้วย ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วตัวเขาเองได้สู้ต่อและนำพนักงานกลับมา เนื่องจากโดน ททท. เบี้ยว จนมีอาณาจักรยิ่งใหญ่ได้ในปัจจุบัน

ภาพจาก Shutterstock

เจ้าสัวผู้ให้โอกาส

สิ่งสุดท้ายที่เราเรียนรู้คือ การให้โอกาส โดยเฉพาะโครงการ Fox Hunt ของสโมสร Leicester City ที่พาเด็กไทยไปฝึกกับทีมจิ้งจองสยาม รวมไปถึงพาเด็กไทยไปฝึกในสโมสรเบลเยี่ยม OH Lueven อีกด้วย ซึ่งเป็นการสร้างอนาคตให้กับเด็กไทย นักฟุตบอลเยาวชนไทย ที่ได้สร้างฝันของตัวเองให้เป็นจริง

รวมไปถึงการบริจาคการสร้างโรงพยาบาลเด็กในเมืองเลสเตอร์มูลค่ากว่า 2 ล้านปอนด์ การบริจาคทุนการศึกษาในประเทศอังกฤษ และการบริจาคเงินให้กับหน่วยงานในประเทศไทยหลายๆ หน่วยงานอีกด้วย

อย่างไรก็ดีน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าสัววิชัยได้เสียชีวิตไปในเหตุการณ์อันน่าเศร้า ซึ่งเราคงไม่ได้เห็นชายผู้นี้ในแวดวงธุรกิจ หรือแม้แต่แวดวงอื่นๆ เช่น กีฬา กิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ ซึ่ง Brand Inside ขอแสดงความเสียใจแก่ตระกูล ศรีวัฒนประภา มา ณ ที่นี้ด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ