มารู้จักกับ SPAC อีก 1 วิธีนำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา ณ ตอนนี้

Brand Inside พาไปรู้จักกับ SPAC ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่พาบริษัทต่างๆ เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นอกจากการทำ IPO และเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

Wall Street USA
ภาพจาก Shutterstock

หนึ่งในวิธีที่นำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกวิธีทั่วๆ ไปที่เรารู้จักกันคือการนำบริษัทเข้า IPO ในตลาดหุ้น แต่ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ผ่านมานั้น ปริมาณการ IPO ลดลงอย่างน่าใจหาย แต่ในสหรัฐอเมริกานั้นหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมคือการใช้ SPAC เพื่อนำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น ซึ่งสร้างความคึกคักในตลาดหุ้นของสหรัฐอย่างมาก

และ SPAC กำลังจะกลายเป็นอีกวิธีที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกสนใจนำวิธีการนี้ไปใช้กับตลาดหุ้นของตัวเอง เพื่อที่จะสร้างความคึกคักให้กับตลาด รวมถึงเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้กับบริษัทต่างๆ ที่สนใจเข้าตลาดหุ้น หรือแม้แต่ตัวนักลงทุนเอง

Brand Inside จึงขออธิบายเรื่องของ SPAC แบบง่ายๆ ว่ามีความสำคัญกับตลาดทุนในอนาคตอย่างไร

SPAC คืออะไร

สำหรับ SPAC ย่อมาจากคำว่า Special Purpose Acquisition Companies ซึ่งเป็นบริษัทที่ระดมทุนเงินจากตลาดหลักทรัพย์มาเพื่อที่จะควบรวมกิจการหรือลงทุนบางส่วนในบริษัทเป้าหมาย และตัว SPAC อาจใช้เวลาในการหาบริษัทเป้าหมายตามที่ได้แจ้งกับนักลงทุนไว้ ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาราวๆ 1-2 ปี ถ้าหากกรณีที่ไม่เจอบริษัทเป้าหมายที่จะควบรวมกิจการหรือลงทุนเงินทั้งหมดที่ระดมทุนมาก็จะคืนให้กับนักลงทุนบวกกับดอกเบี้ย

โดย SPAC อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ของการระดมทุน โดยข้อมูลจาก Bloomberg นั้น SPAC เป็น 1 ในวิธีการระดมทุนมาตั้งแต่ปี 1993 และเริ่มได้รับความนิยมอีกครั้งในช่วง 2018 เป็นต้นมาที่มีการระดมทุน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2019 อยู่ที่ 10,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2020 ระดมทุนไปมากถึง 78,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

แล้วกระบวนการของ SPAC ที่พาบริษัทเข้าตลาดหุ้นเป็นยังไง

สำหรับขั้นตอนการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่าน SPAC แบบเข้าใจง่ายๆ ด้วยกัน 7 ข้อ แต่ขั้นตอนจริงๆ นั้นจะมีความละเอียดซับซ้อนมากกว่านี้

  1. ผู้จัดตั้ง SPAC ไม่ว่าจะเป็นนักการเงิน สถาบันการเงิน ฯลฯ ได้ก่อตั้งบริษัทที่เป็น SPAC ขึ้นมา
  2. นำบริษัทจดทะเบียนไประดมทุนจากนักลงทุน โดย SPAC จะโปรโมทว่าจะซื้อหรือลงทุนในบริษัทประเภทใด
  3. นำบริษัทดังกล่าวเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะสามารถซื้อขายหุ้นของ SPAC นี้ได้ (ซึ่งเรียกว่ายูนิต)
  4. หลังจากนั้นผู้จัดตั้ง SPAC จะเริ่มหาบริษัทในการควบรวมกิจการหรือซื้อหุ้นบริษัทเป้าหมายให้ได้ตามระยะเวลาที่ได้บอกในช่วงการระดมทุน จากเงินที่ระดมทุนไว้
  5. เมื่อได้บริษัทที่จะลงทุนหรือควบรวมกิจการ ก็จะแจ้งนักลงทุนและจะมีการประชุมและอนุมัติให้ดำเนินการ
  6. และถ้าหากหลังมีการควบรวมกิจการสำเร็จแล้ว นักลงทุนจะขายหุ้นหรือถือลงทุนต่อก็ได้
  7. แต่ถ้า SPAC ไม่สามารถหากิจการที่จะลงทุนหรือควบรวมได้ก็จะคืนเงินลงทุนพร้อมกับดอกเบี้ย

แล้ว SPAC ต่างกับวิธี IPO ยังไง

เมื่อเทียบวิธีที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย SPAC กับ IPO สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือเรื่องของเวลา โดยถ้าหากบริษัทนั้นๆ ต้องการที่จะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ SPAC อาจใช้เวลาเพียงแค่ 2-4 เดือน ต่างกับบริษัทที่จะ IPO ที่ต้องใช้เวลามากกว่านั้น และข้อสำคัญอีกข้อคือราคาในการซื้อกิจการ นักลงทุนใน SPAC สามารถที่จะโหวตให้ดีลนี้ผ่าน-ไม่ผ่านได้ ซึ่งตรงข้ามกับวิธี IPO ที่บริษัทจะกำหนดให้มูลค่าบริษัทนั้นสูงที่สุดมากกว่า

อย่างไรก็ดีถ้าหากเป็นบริษัทที่ต้องระดมทุนมหาศาล โดยเฉพาะเม็ดเงินมากกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การนำบริษัทเข้าด้วยวิธี IPO ยังได้รับความนิยมอยู่มากกว่า และมีจำนวน SPAC ที่ระดมทุนได้เม็ดเงินระดับนั้นน้อยกว่ามาก ขณะเดียวกันขั้นตอน IPO ยังมีการตรวจสอบที่ค่อนข้างรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น เช่น บัญชี เอกสารที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

นอกจากนี้ความแตกต่างสำคัญของ SPAC กับ IPO อีกเรื่องคือเจ้าของ SPAC นั้นๆ จะเป็นนักการเงิน เจ้าของ Hedge Fund หรือ ​Private Equity ที่มีชื่อเสียง สถาบันการเงินต่างๆ ในสหรัฐ รวมถึงมหาเศรษฐีหลายๆ ราย เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีชื่อเสียงที่จะเกลี้ยกล่อม หรือเสนอโอกาสให้บริษัทเอกชนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ไวที่สุด ขณะเดียวกัน

ตลาดหุ้นอื่นๆ เริ่มสนใจวิธีนี้แล้ว

สำหรับวิธีการใช้ SPAC ในการพาบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นนั้นเริ่มมีตลาดหลักทรัพย์หลายๆ แห่งมองถึงการใช้วิธีนี้บ้างแล้ว เนื่องจากเพิ่มความคึกคักให้กับนักลงทุน โดยตลาดหุ้นที่มีข่าวอยู่ในขณะนี้คือตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์เองสนใจที่จะใช้วิธีนี้ และคาดหวังว่าสถาบันการเงิน นักลงทุน หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะให้การสนับสนุนวิธีนี้ โดยในปี 2010 ตลาดหุ้นสิงคโปร์ก็เคยมีความคิดนี้ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนมากเท่าไหร่

ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนเองก็สนใจที่จะนำ SPAC มาใช้ในตลาด โดยเฉพาะหลังจากที่สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป เพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในตลาด และมองว่าเมื่อมีการนำ SPAC มาใช้นำบริษัทอื่นๆ เข้ามาในตลาดจะช่วยให้ความคึกคักของตลาดเพิ่มมากขึ้นมากกว่านี้ หลังจากที่ปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนลดลง

จะเห็นได้ว่าตลาดหลักทรัพย์หลายๆ แห่งกำลังเพิ่มทางเลือกในการนำบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ให้เข้ามาซื้อขายหุ้นได้ และสร้างความคึกคักให้กับตลาด หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ