มารู้จักกับ Jio ค่ายมือถือในอินเดียที่ Facebook ลงทุน แถมเจ้าของเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเอเชีย

Brand Inside พามาทำความรู้จักกับค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของ India ที่เปิดตัวเพียงแค่ 4 ปีกลับมีผู้ใช้งานอันดับต้นๆ ของอินเดีย ทำให้บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Facebook ได้ลงทุนในบริษัทด้วย

Reliance Jio India
ภาพจาก Shutterstock

หากพูดถึงธุรกิจโทรคมนาคมแล้ว ประเทศอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการเติบโตของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ถ้าหากใครสักคนที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอินเดียแล้ว ตลาดนี้ย่อมไม่ง่ายเท่าไหร่นัก เนื่องจากมีการแข่งขันที่สูง แต่ทำไม Jio ถึงเป็นค่ายมือถือที่ใช้เวลาเพียงแค่ 4 ปี แต่ทำให้วงการโทรคมนาคมของอินเดียปั่นป่วน จนท้ายที่สุดค่ายมือถือรายนี้ได้กลายเป็น 1 ใน 3 ผู้ให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียไปแล้ว

มารู้จัก Jio สักหน่อย

สำหรับเจ้าของ Jio นั้นคือ Reliance Industries เป็นบริษัทอุตสาหกรรมรายใหญ่ของประเทศอินเดีย ธุรกิจหลักๆ คือทำโรงกลั่นน้ำมัน โดยเจ้าของบริษัทคือ Mukesh Ambani ซึ่งความมั่งคั่งของเขาใน 1-2 ปีที่ผ่านมาเบียดกับ Jack Ma ของ Alibaba สลับกันเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย ขึ้นอยู่กับราคาหุ้นของทั้ง 2 ว่าของใครจะขึ้นลงมากกว่ากัน

ก่อนหน้านี้กลุ่ม Reliance ก็มีธุรกิจโทรคมนาคมอยู่แล้วชื่อว่า Reliance Communications ซึ่งเป็นของน้องชาย Mukesh Ambani ชื่อว่า Anil Ambani โดยเกิดจากเรื่องการแบ่งสมบัติของบิดาที่เสียชีวิตกระทันหัน ซึ่งการแบ่งสมบัติที่จบไม่ค่อยสวยมากนัก คือน้องชายได้กิจการเช่น ด้านการเงิน โทรคมนาคม โรงไฟฟ้า ไป ขณะที่พี่ชายได้กิจการของโรงกลั่นน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิม

Reliance ได้ซื้อกิจการบริษัท Infotel Broadband Services Limited ซึ่งมีใบอนุญาตคลื่นความถี่ 22 รัฐของอินเดียในช่วงปี 2010 แต่ให้บริการได้เฉพาะ 4G โดยปี 2015 ทาง Reliance ได้ประกาศว่าจะเข้าสู่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมทำให้เกิดการจับตามองว่า Mukesh Ambani จะทำอะไรหลังจากนี้

Mukesh Ambani
Mukesh Ambani เจ้าของ Reliance Industries และ Jio – ภาพจาก Flickr ของ World Economic Forum

เปิดตัว Jio ด้วยของฟรี

ช่วงแรกๆ การเปิดตัว Jio นั้นได้ใช้โปรโมชั่นล่อตาล่อใจผู้ใช้บริการในประเทศอินเดียว่าสามารถโทรฟรีข้ามเครือข่ายไม่ต้องเสียเงินสักรูปี และเสียเงินค่า Data นิดเดียวในช่วงเปิดตัว ทำให้เพียงแค่เปิดตัวเพียงเดือนแรกมีผู้ใช้งานแล้วถึง 16 ล้านราย และภายใน 84 วันมีลูกค้าทันที 50 ล้านราย

ไม่เพียงแค่นั้นในช่วงโปรโมชั่นยังมีการลดราคาโทรศัพท์มือถือพร้อมซิมที่สามารถใช้บริการ 4G และบริการอื่นๆ ของ Jio ได้ทันที ราคาเพียงแค่ 599-699 รูปีเท่านั้น นอกจากนี้ Jio ยังเคลมว่าเครือข่ายของบริษัทนั้นเป็น 4G ทำให้สามารถบริการได้ดีกว่ารายอื่นๆ

นอกจากนี้ความแตกต่างของ Jio เมื่อเทียบกับกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมของอินเดียคือค่า Data ที่มีราคายั่วยวนลูกค้าอย่างมาก โดยราคาแพ็คเกจปัจจุบันแบบเติมเงินนั้น เพียงแค่ลูกค้าจ่าย 10 รูปี หรือประมาณ 4.3 บาทสามารถได้ Data ถึง 1 Gb ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ถูกขนาดนี้ทำให้ลูกค้าจากผู้ให้บริการอื่นๆ ย้ายเข้ามาจำนวนมาก

ล่าสุด Jio เองเริ่มหันมาทำธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน โดยเน้นเทคโนโลยีไฟเบอร์ออพติกอย่างเดียว และราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นยังถือว่าถูกมาก และมีแพ็คเกจความเร็วเสนอให้ลูกค้าได้มากกว่าด้วย

Reliance Jio Mobile Phone India
โทรศัพท์มือถือรองรับ 4G ของ Jio ที่มีราคาถูกมากๆ – ภาพจาก Shutterstock

ค่ายอื่นๆ เริ่มล้มหายตายจาก

เมื่อ Jio เข้ามาในตลาดทำให้ผู้ให้บริการเจ้าใหญ่ๆ เช่น Airtel ซึ่งมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง SingTel หรือแม้แต่ Vodafone เดือดร้อนทันที เพราะว่าราคาแพ็คเกจ หรือโปรโมชั่นต่างๆ กลับไม่สามารถแข่งขันกับทาง Jio ได้เลยแม้แต่น้อย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่นานนักคือผู้ให้บริการรายเล็กๆ ที่อยู่ตามรัฐต่างๆ ของอินเดียต้องขอล้มละลาย หรือไม่ก็ขายกิจการ

ขณะเดียวกันผู้ให้บริการรายใหญ่ของอินเดียหลายๆ รายเองก็ต้องเริ่มลงมาเล่นเกมสงครามราคากับ Jio ด้วยเช่นกัน เพราะไม่งั้นแล้วลูกค้าจะเริ่มหนีออกจากบริษัทมากขึ้น ผลที่ตามมาคือแม้แต่ผู้ให้บริการใหญ่ๆ เองก็ไปไม่รอด เนื่องจากสายป่านยาวไม่เท่ากับ Jio

ท้ายที่สุดต้องเกิดการควบรวมกิจการ เช่น กรณีของ Vodafone ต้องขอควบรวมกิจการกับ Idea เพื่อเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ หรือแม้แต่เบอร์ 1 ในอดีตอย่าง Airtel ที่แข็งแกร่งเองก็ต้องซื้อกิจการของ Telenor India รวมไปถึงคู่แข่งอื่นๆ อย่าง TATA

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ตามมาคือหนี้ของกลุ่มโทรคมนาคมในอินเดียสูงมาก ซึ่งล่าสุด Vodafone Idea เองต้องขอเลื่อนการจ่ายค่าคลื่นสัญญาณ และคดียังอยู่ในชั้นศาล เนื่องจากไม่งั้นแล้วเงินหมุนเวียนในกิจการโทรคมนาคมจะลดลงอย่างมาก สร้างความสะพึงกลัวให้กับสถาบันการเงินในอินเดียอีกทอดหนึ่งด้วยว่า

India Airtel
Airtel ซึ่งเป็น 1 ในคู่แข่งรายใหญ่ของ Jio – ภาพจาก Shutterstock

Jio ยังมีของดีอื่นๆ อีก

ไม่ใช่แค่ฐานลูกค้าของ Jio ที่มี 388 ล้านคนเท่านั้น แต่ในมุมของ Mukesh Ambani ต้องการผลักดัน Jio เป็นมากกว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบัน Jio มีแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ เช่น E-commerce รวมไปถึงความบันเทิงต่างๆ เช่น การชมละครอินเดีย ทีวีออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติของชาวอินเดียในอนาคต เนื่องจากราคาค่า Data ในการใช้อินเตอร์เน็ตที่ถูกลง จาก Jio ที่เป็นผู้ให้บริการทำลายกำแพงนี้ลง

แต่จริงๆ แล้ว 1 ในเป้าหมายที่ Jio เน้นมากในช่วงที่ผ่านมาคือเรื่องของ E-commerce ที่ Jio พยายามแข่งกับยักษ์ใหญ่อย่าง Flipkart ที่มี Walmart เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมไปถึง Amazon ที่กำลังพยยายามทิ้งห่างแพลตฟอร์มของทั้ง 2 ขณะเดียวกันยังมีแพลตฟอร์มอื่นๆ แทรกมาแข่งขันเช่น PayTM ด้วย

อาณาจักรของ Jio มีดีขนาดนี้ย่อมทำให้นักลงทุนต่างๆ เริ่มจับตามอง

และ Facebook ก็เข้ามาลงทุน

สิ่งที่ได้กล่าวไปทั้งหมดทำให้ Facebook เริ่มสนใจในกิจการของ Jio และจากข่าวลือก็กลายเป็นข่าวจริง เมื่อบริษัทได้รายงานว่ายักษ์ใหญ่ Social Network ได้ประกาศลงทุนในกิจการของ Jio สัดส่วน 9.99% เป็นมูลค่า 5,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ Jio มีมูลค่ากิจการมากถึง  65,950 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.13 ล้านล้านบาท

คาดว่า Facebook มอง Jio และลงทุนคือเป็นผู้ที่ Disrupt วงการโทรคมนาคมในประเทศอินเดีย ทำให้คนอินเดียหลักร้อยล้านคนเข้าถึงบริการต่างๆ หรือเข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ตง่ายขึ้น ซึ่งตอบสนองกับความต้องการที่จะขยายธุรกิจของ Facebook เอง นอกจากนี้ยังมีของแถมคือ Platform ของ Jio เองที่ได้เปรียบกว่าคู่แข่ง เนื่องจากเป็นกิจการของคนอินเดียเอง ต่างกับ Flipkart หรือ Amazon

นอกจากนี้ถ้าหาก Jio ทำการ IPO บริษัทออกมา จะทำให้มูลค่ากิจการใหญ่กว่าคู่แข่งอย่าง Airtel หรือแม้แต่ Vodafone Idea อย่างมาก ทำให้นักลงทุนสถาบันหลายๆ แห่งเริ่มที่สนใจซื้อกิจการของ Reliance Industries เพื่อที่ถ้าหาก Jio ออกมา IPO จะทำให้มูลค่าหุ้นที่ถือไว้มีส่วนต่างมากกว่ามารอซื้อในช่วง IPO

ท้ายที่สุดทุกคนรอวันที่ Mukesh Ambani จะประกาศที่นำ Jio ออกมา IPO ในเร็วๆ นี้ ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นกลับเจ็บตัวเข้าขั้นไม่รอด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ