Brand Inside พามาทำความเข้าใจเรื่องของ Blind Trust ซึ่งกำลังเป็นเรื่องโด่งดังในขณะนี้ และเป็นศัพท์ใหม่ของการเมืองไทยไปแล้วในขณะนี้
ข่าวที่โด่งดังในช่วงนี้คือเรื่องของ Blind Trust ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ตัดสินใจโอนทรัพย์สินมูลค่าหลายพันล้านบาทให้กับ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด ดูแลและบริหารสินทรัพย์ให้ โดยเจ้าตัวไม่สามารถสั่งการ หรือยุ่งเกี่ยว จนจะพ้นจากตำแหน่งการเมือง 3 ปีไปแล้ว
Brand Inside พาไปรู้จักกับ Blind Trust ซึ่งเราจะได้ยินคำนี้บ่อยมากขึ้นหลังจากนี้
Blind Trust คืออะไร
Blind Trust ถ้าจะให้อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ กองทรัสต์ที่จัดตั้งขึ้นมา โดยที่ผู้โอนทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์นี้จะไม่สามารถควบคุมหรือสั่งการ ให้ทิศทางการลงทุน หรือแม้แต่ที่จะทราบถึงสินทรัพย์ของทรัสต์ที่ลงทุนอยู่ ผลตอบแทนการลงทุนของทรัสต์ ขณะเดียวกันผู้ที่บริหารกองทรัสต์นี้ก็ไม่ทราบได้ว่ากำลังบริหารทรัพย์สินให้กับใคร
สำหรับประโยชน์ของ Blind Trust คือ แก้ไขปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ และการเอื้อผลประโยชน์ต่างๆ โดยการจัดตั้ง Blind Trust นี้เป็นที่นิยมของนักการเมืองสหรัฐฯ เช่น บารัค โอบาม่า หรือ บิล คลินตัน เป็นต้น
อย่างไรก็ดีข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ Blind Trust ในไทยยังไม่มีตัวกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ โดยในไทย ทรัสต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายคือ กองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT เท่านั้น
นักการเมืองไทยจัดการกับทรัพย์สินอย่างไร?
สำหรับกรณีของนักการเมืองไทยโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้บริการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า Private Fund ในการบริหารทรัพย์สินของตัวเองผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซึ่งมีกฎหมายรองรับคือ พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี โดยในรัฐบาลนี้นั้นมีผู้ที่ใช้บริการเช่น
- สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์
- ณรงค์ชัย อัครเศรณี
- หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล
ก่อนหน้านี้รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือแม้แต่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีนักการเมืองที่ใช้บริการกองทุนส่วนบุคคล จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองไทยที่ออกมากล่าวว่าเขาเองก็ใช้ Blind Trust ของต่างประเทศคือ กรณ์ จาติกวณิช แต่ปัจจุบันได้เลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากต้องการความโปร่งใส
มีคนติงมาว่าผมไม่ใช่คนแรกที่ทำแบบนี้ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำไปไกลกว่าหลายท่าน เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ทางการเมือง ก็คือ 1.*Blind ทำให้สั่งไม่ได้ มองไม่เห็น* 2.จะไม่ลงทุนในหุ้นไทย 3.ไม่เอาคืนจนกว่าจะครบ 3 ปี หลังพ้นตำแหน่ง
ถ้าไม่จริงก็ขอขอดูรายละเอียดแต่ละท่านด้วย
— Thanathorn Juangroongruangkit (@Thanathorn_FWP) March 18, 2019
กรณีของธนาธรหล่ะ?
สำหรับกรณีของ ธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั้น อย่างที่ได้กล่าวไปว่า ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับตรงนี้ สิ่งที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ทำนั้นคือการตั้ง Private Fund โดยได้ให้ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด เป็นผู้บริหารทรัพย์สินให้
แต่สิ่งที่แตกต่างของกรณีของ “ธนาธร” กับ นักการเมืองคนอื่นๆ คือเรื่องของ MOU ที่จัดทำระหว่างหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนภัทร จำกัด นั้นเป็นการเปิดเผยเงื่อนไขให้ประชาชนได้รับทราบถึงเรื่องนี้ ซึ่งโครงสร้างสัญญาเหมือนกับ Blind Trust ได้แก่
- ธนาธรจะไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของตนเองได้
- เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน บริษัทจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้ธนาธร หรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด
- บริษัทจะต้องไม่เข้าไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานรัฐใดๆ
นอกจากนี้ถ้าหากหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่วางมือจากทางการเมืองแล้ว อีก 3 ปีถัดไปถึงจะสามารถไถ่ถอนสินทรัพย์ทั้งหมดออกมาได้
มุมมองของแวดวงการเงิน
สำหรับมุมมองของแวดวงการเงินนั้นมีความเห็นแตกต่างกันไป เช่น วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์การจัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ได้โพสต์ว่า “คุณธนาธรทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพียงแต่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะมีนักการเมืองและรัฐมนตรีหลายคนเขาทำกันอยู่แล้ว ถึงจะไม่ได้ทำในรูปแบบ Blind Trust แต่เนื้อหามิได้ต่างกันและบางท่านก็ทำเข้มงวดกว่า“
ขณะทางด้าน บรรยง พงษ์พานิช ประธาน บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์ถึงเรื่องนี้ว่า “ผมขอขอบคุณความไว้วางใจที่มอบให้ครับ เราจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกันทุกประการ เพื่อให้แยกผลประโยชน์ส่วนตัวออกจากการทำงานด้านการเมือง ซึ่งสำหรับเราเป็นการทำหน้าที่ตามวิชาชีพการจัดการการลงทุนตามปกติ ไม่ได้เป็นการเลือกข้าง เลือกพรรค เราสนับสนุนการสร้างบรรทัดฐานที่ดีเช่นนี้ในการเมืองไทย และยินดีที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวให้กับทุกคน ทุกพรรค ที่มีเจตนาและความตั้งใจจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันนะครับ”
นอกจากนี้ในเรื่องของภาษีนั้น ล่าสุดกรมสรรพากรได้ออกมาชี้แจงในกรณีที่มีข้อครหาถึงเรื่อง Blind Trust ของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังจะโอนทรัพย์สินให้ดูแลเหมือนเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีนั้น อธิบดีกรมสรรพากรได้ชี้แจงว่าตรวจสอบได้และต้องเสียภาษีเช่นกัน
Update: แก้ไขบทความเรื่องของ Blind Trust และ Private Fund และเพิ่มเรื่องภาษี
ที่มา – สำนักข่าวอิศรา, หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, ไทยพีบีเอส, ประชาไท
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา