มาทำความเข้าใจ “ช่องแคบฮอร์มุซ” ว่าสำคัญกับอุตสาหกรรมพลังงานกับการบินมากแค่ไหน

Brand Inside พามาทำความเข้าใจถึงเรื่องช่องแคบฮอร์มุซว่ามีความสำคัญกับอุตสาหกรรมพลังงานกับการบินมากแค่ไหน ซึ่งความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกำลังสร้างความเดือดร้อนให้บริษัทต่างๆ ของ 2 อุตสาหกรรมนี้

Strait Of Hormuz ช่องแคบฮอร์มุซ
ภาพจาก Shutterstock

สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น การยิงโดรนของสหรัฐตกลงโดยอิหร่าน การโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน ได้สร้างแรงกดดันให้กับการเมืองระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในช่องแคบฮอร์มุซ จนท้ายที่สุดสหรัฐต้องส่งกำลังทหารเพิ่มในตะวันออกกลางอีก 1,000 นาย รวมไปถึงจากสหราชอาณาจักรที่ส่งนาวิกโยธินหน่วยพิเศษมาที่ตะวันออกกลางด้วย

Brand Inside จะพามาทำความเข้าใจว่า ช่องแคบฮอร์มุซ มีความสำคัญกับอุตสาหกรรมในเรื่องพลังงานและการบินอย่างไร

ทำความเข้าใจความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน

ในปี 2018 ที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศถอนข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านที่ลงนามกับ 6 ชาติในปี 2015 ลง และได้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านมากขึ้น เช่น คว่ำบาตรประเทศที่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน ซึ่งประเทศในทวีปยุโรปหลายๆ ประเทศอาศัยน้ำมันจากอิหร่านด้วย ทำให้อิหร่านไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้เหมือนเดิม ซึ่งสหรัฐต้องการสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจให้กับอิหร่านมากขึ้น เพื่อให้อิหร่านกลับมาเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ใหม่

ขณะเดียวกันอิหร่านได้ตอบโต้สหรัฐด้วยการเลิกทำตามข้อสัญญานิวเคลียร์ที่เคยทำไว้ ด้วยการเพิ่มสมรรถนะยูเรเนี่ยม ซึ่งสามารถนำมาผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ ทางด้านสหรัฐก็ได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้ามาอยู่ละแวกอ่าวโอมาน รวมไปถึงการนำเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 เข้าประจำฐานทัพอากาศของสหรัฐในกาตาร์ด้วย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนกบฏในประเทศเยเมน หรือการแผ่ขยายอำนาจในตะวันออกกลางซึ่งอิหร่านนั้นเป็นศัตรูตัวฉกาจของประเทศพันธมิตรสหรัฐอย่างเช่น ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ ซึ่งเป็นประเด็นเสริมที่ทำให้ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศตึงเครียด

Oil Tanker
ภาพจาก Shutterstock

ช่องแคบฮอร์มุซและความตึงเครียด

สำหรับช่องแคบฮอร์มุซอยู่ระหว่างประเทศอิหร่าน โอมาน อยู่ระหว่างอ่าวเปอร์เซีย และอ่าวโอมาน โดยจุดที่แคบที่สุดกว้างเพียง 39 กิโลเมตรเท่านั้น โดยเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม เรือบรรทุกน้ำมัน 4 ลำถูกโจมตีจากทุ่นระเบิด โดยสหรัฐได้อ้างว่าชาติหนึ่งเป็นผู้ทำ แต่อิหร่านได้ปฏิเสธไป

อ้างอิงจากเว็บไซต์บีบีซีไทย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมาเรือบรรทุกน้ำมันและปิโตรเลียม 2 ลำที่มีชื่อว่า Kokuka Courageous ซึ่งขนบรรทุกเมทานอลจากกาตาร์ไปท่าเรือสิงคโปร์ และ Front Altair ได้ขนส่งแนฟธาจากสหรัฐเอมิเรตส์ไปยังไต้หวัน ถูกโจมตีในช่องแคบฮอร์มุซโดยไม่ทราบฝ่ายโจมตี

โดยสหรัฐได้อ้างว่าเบื้องหลังการโจมตีเรือ 2 ลำนี้อาจเป็นอิหร่าน เนื่องจากหลังจากเกิดเหตุโจมตี เรือของกองทัพเรืออิหร่านหลายลำได้ออกมาในพื้นที่ รวมไปถึงสหรัฐยังได้อ้างว่าเรือของกองทัพเรืออิหร่านได้กำลังแกะทุ่นระเบิดออกจากเรือ Kokuka Courageous ด้วย

ล่าสุดยังมีการโจมตีโดรนของกองทัพสหรัฐ RQ-4 Global Hawk แต่แหล่งข่าวทางทหารได้กล่าวกับ Reuters ว่าเป็นรุ่น MQ-4C Triton มูลค่า 121 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสหรัฐได้กล่าวว่าอิหร่านยิงโดรนสหรัฐตกในน่านน้ำสากล แต่อิหร่านได้อ้างว่าพื้นที่ที่ยิงตกเป็นพื้นที่ของอิหร่าน โดยโดรนที่ยิงตกเป็นโดรนที่บินสำรวจเรือ Kokuka Courageous

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นทันที

Oil Refinery Petrochemical
ภาพจาก Shutterstock

ผลกระทบกับอุตสาหกรรมพลังงาน

ช่องแคบฮอร์มุซนั้นเป็นช่องแคบที่มีเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเลียมเดินทางผ่านมากที่สุดในโลก ข้อมูลจาก Council on Foreign Relation เรือขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลก โดยขณะที่มีเรื่องที่ได้กล่าวไปข้างต้นทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นทันที

แต่ไม่ใช่เพียงแค่น้ำมันอย่างที่เป็นข่าวทั่วๆ ไปเท่านั้น แต่สิ่งที่กระทบมากกว่าน้ำมันคือช่องแคบฮอร์มุซยังเป็นช่องแคบที่เรือขนส่งก๊าซธรรมชาติเดินทางผ่านถึง 1 ใน 4 ของปริมาณที่ทั่วโลกใช้ทั้งหมด โดยเฉพาะจากประเทศกาตาร์ที่เป็นประเทศส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก

ไม่เพียงแค่นั้นประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ต้องอาศัยก๊าซธรรมชาติจากกาตาร์ด้วยสัดส่วนสูงถึง 44.87% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ไทยใช้ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และรวมไปถึงจีนที่ก็พึ่งพาก๊าซจากกาตาร์ด้วย

ขณะที่น้ำมันดิบหรือน้ำมันสำเร็จรูปนั้นการใช้คลังหรือถังเก็บน้ำมันสามารถที่จะเก็บสำรองได้ปริมาณมากๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่นสามารถสำรองน้ำมันได้นานถึง 133 วัน แต่ก๊าซธรรมชาติสามารถสำรองได้เพียงแค่ 19 วันเท่านั้น สำหรับประเทศไทยล่าสุดปริมาณน้ำมันดิบสำรองอยู่ที่ประมาณ 26 วัน ขณะที่น้ำมันสำเร็จรูปอยู่ได้ประมาณ 14 วัน ซึ่งถ้าเป็นก๊าซธรรมชาติแล้วย่อมมีสัดส่วนน้อยลงมา

จะเห็นได้ว่าช่องแคบนี้มีความสำคัญมาก

ภาพจาก Shutterstock

ผลกระทบด้านอุตสาหกรรมการบิน

หลังจากที่มีข่าวการโจมตีโดรนของกองทัพสหรัฐ ทำให้สายการบินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Malaysia Airlines, British Airways, Air France-KLM, Saudi Airlines รวมไปถึง Singapore Airlines ต้องเปลี่ยนเส้นทางการบินที่ปกติเที่ยวบินของสายการบินเหล่านี้มักจะบินผ่านช่องแคบฮอร์มุซประจำ และเป็นเส้นทางการบินที่มีความคับคั่งเส้นทางหนึ่งของโลก เนื่องจากเป็นเส้นทางการบินที่เชื่อมเอเชียกับยุโรปไว้

ความหวาดกลัวดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากหลังเหตุการณ์ MH17 ของ Malaysia Airlines ถูกยิงตกที่ประเทศยูเครน ก่อนหน้านี้สายการบินหลายๆ แห่งเชื่อว่า ด้วยเพดานการบินที่สูงระดับ 10-11 กิโลเมตร ไม่น่าจะเกิดอันตรายได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ยิ่งทำให้สายการบินต่างๆ ระมัดระวังกับความเสี่ยงเหล่านี้

ทางด้านหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของสหรัฐ หรือ FAA หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้ออกมาแบนไม่ให้สายการบินของสหรัฐบินผ่านน่านฟ้าของอิหร่าน ทำให้สายการบินที่มีเที่ยวบินที่บินผ่านได้รับผลกระทบเช่น United Airlines เส้นทางนิวยอร์ก-มุมไบ แต่ FAA ไม่ได้เตือนสายการบินต่างชาติแบนน่านฟ้าอิหร่านแต่อย่างใด

ขณะที่สายการบินในตะวันออกกลางที่ได้รับผลกระทบหนักๆ คือสายการบินอย่าง Etihad ก็ได้ออกมาประกาศว่าลูกค้าของสายการบินได้รับผลกระทบจากระยะเวลาเดินทางที่นานขึ้น นอกจากนี้สนามบิน Abu Dhabi International Airport ก็ได้ออกมาแจ้งว่าต้องปรับทิศทางการบินใหม่ อาจกระทบกับสายการบินด้วย

ถ้าหากความตึงเครียดในช่องแคบฮอร์มุซยังดำเนินต่อไป ผลกระทบดังกล่าวอาจทำให้ค่าตั๋วเครื่องบินจากสายการบินที่มีฐานการบินในตะวันออกกลางอาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 12,000 บาท เนื่องจากเวลาการบินที่เพิ่มมากขึ้น และยังทำให้กับสายการบินเกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นจากค่าเชื้อเพลิง อาจกระทบกับกำไรของสายการบินได้

ที่มาCNN, Aljazeera, The Star

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ