วิเคราะห์: ประเด็นการเมืองในประเทศและต่างประเทศที่คุณต้องรู้ในปี 2019

แม้ว่าในปีนี้ประเด็นสำคัญๆ จะคือเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่ในปีหน้ายังมีประเด็นสำคัญการเมืองที่น่าสนใจทั้งไทยและต่างประเทศที่ต้องจับตามองหลายๆ เรื่อง

ภาพจาก Pixabay

ความเข้มข้นทางการเมืองของไทยและต่างประเทศในปี 2018 ถือว่าดุเดือดไม่ใช่น้อย แต่ในปี 2019 ที่จะถึงนี้ยังมีประเด็นสำคัญของการเมืองไทยและต่างประเทศที่ยังต้องจับตามองหลายๆ เรื่อง

Brand Inside ยกประเด็นสำคัญในปี 2018 และ 2019 ที่กำลังจะมาถึง ทั้งการเมืองไทยและประเด็นการเมืองระหว่างประเทศที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจและเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองในปีหน้า

ปี 2018 มีประเด็นอะไรสำคัญบ้าง

ประเด็นสำคัญในปีนี้ที่สำคัญเกี่ยวกับการเมืองไทยและต่างประเทศในปี 2018 ที่สำคัญๆ

  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และมีทีท่าที่จะยังไม่จบง่ายๆ แม้ว่าจะมีการชะลอเพดานการขึ้นภาษีระหว่าง 2  ประเทศนี้ก็ตาม รวมไปถึงการท้าชิงของจีนที่พยายามจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีให้ได้
  • ประเด็นเรื่องของ Brexit ที่ยังมีการต่อรองของสหราชอาณาจักรอยู่
  • อิตาลีกับสหภาพยุโรปในเรื่องของงบประมาณปี 2019 ที่คาราคาซังจนอาจทำให้อิตาลีออกจาก EU แต่ท้ายที่สุดก็สามารถผ่านไปได้
  • การเจรจาสันติภาพระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือ ที่ประเทศสิงคโปร์
  • เสถียรภาพในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้นบ้าง หลังจาก IS ได้ร่นถอยไป ซึ่งมีความสัมพันธ์กับราคานำ้มันดิบ
  • การเจรจาเขตการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา แคนานา รวมไปถึง เม็กซิโก ครั้งใหม่ หรือที่เรียกย่อๆ NAFTA 2.0
  • มาเลเซียได้ผู้นำใหม่แต่หน้าเก่าคือ มหาธีร์ มูฮัมหมัด ผู้ที่สามารถเอาชนะนาจิบ ราซัค ได้
  • สิงคโปร์เตรียมวางตัวผู้นำคนใหม่แทนที่ของ ลี เซียนลุง
  • ไทยกำลังจะมีเลือกตั้ง!

แต่ในปี 2019 ที่กำลังจะมาถึง ยังมีประเด็นสำคัญๆ หลายเรื่องที่ต้องรู้ โดยธีมสำคัญในปีหน้าของไทย คือ การเลือกตั้ง ส่วนประเด็นต่างประเทศคือ เรื่องของการค้า

ภาพจาก Unsplash

เลือกตั้งในไทย

ถ้าหากไม่มีอะไรผิดคาด เราจะได้เห็นไทยได้เลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเราจะเริ่มเห็นพรรคการเมืองหลายๆ พรรคเริ่มที่จะมีการประชาสัมพันธ์ เดินออกพูดคุยกับประชาชนมากขึ้น หรือไม่เว้นแม้แต่การระดมทุน และหลังจากนี้เราจะเริ่มเห็นการเปิดหน้าแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือการเปิดตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของแต่ละเขต

แต่หลังจากการเลือกตั้งของไทยแล้วหลังจากนี้ เสถียรภาพของการเมืองไทยจะกลับมาหรือไม่ การยอมรับของนานาชาติในการเลือกตั้งของไทยว่าโปร่งใสจริงๆ ถ้าหากต่างประเทศยอมรับว่าโปร่งใสแล้วก็อาจมีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาลงทุนเพิ่มทั้งในตลาดหลักทรัพย์ รวมไปถึง FDI กลับเข้ามาที่ไทยอีกรอบ ซึ่งถือว่ามีความท้าทายไม่น้อย

ยังรวมไปถึงว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายทางเศรษฐกิจเช่นไรอีกด้วย เนื่องจากนโยบายต่างๆ จะต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญและรวมไปถึงนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอีกด้วย แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งสำคัญที่ประชาชนจะกำหนดอนาคตของประเทศไทยด้วย

ภาพจาก Unsplash

“สงครามการค้า” จีน-สหรัฐ ยังคงดำเนินต่อ

ถึงแม้ว่าจะมีการเจรจาในข้อตกลงถึงเรื่องการไม่เพิ่มเพดานการขึ้นภาษีอีก 90 วันก็ตามในการประชุม G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินาในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากนี้แรงกดดันของทั้ง 2 ประเทศจะเพิ่มขึ้นมากกว่าในปี 2018 นี้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของสหรัฐอเมริกาที่คาดกันว่าเศรษฐกิจในปีนี้ของสหรัฐจะเติบโตลดลง ทำให้สหรัฐฯ ต้องรีบปิดเกมนี้ให้ได้ ส่วนทางด้านจีนก็ถือว่าเสียหายไปไม่น้อย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด

ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของมิติทางสงครามการค้าเท่านั้น เรื่องการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในด้านของการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาก็จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งประเทศต่างๆ ที่ต้องการไปเปิดโรงงานที่ประเทศจีนต่างลุ้นว่าจีนจะสามารถเอาจริงเอาจังได้ขนาดไหนในการจัดการปัญหานี้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นย่อยๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกันในมิตินี้อีก เช่น

  • การซื้อกิจการของเอกชนจีนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป
  • เอกชนจีนเริ่มมีพลังอำนาจต่อรองในเรื่องของเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น กรณีของ Huawei

อย่างไรก็ดีในเรื่องของสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศนี้ ทำให้ ASEAN ได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก แต่คำถามที่สำคัญคือว่าขณะที่ธุรกิจกำลังหาประเทศที่เป็นกลางและได้ประโยชน์จากทั้ง 2 มหาอำนาจ ไทยจะสามารถเข้าร่วมเกมนี้ได้หรือไม่

ภาพจาก Unsplash

Brexit จะจบลงยังไง?

เหลือเวลาอีกไม่นานนักที่สหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ขณะเดียวกันความคลุมเครือในการตกลงเงื่อนไขสุดท้ายในการออกจากสหภาพยุโรปนั้นยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งภายในพรรคอนุรักษ์นิยมเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย ในเรื่องความพยายามที่จะปลดนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะจบลงด้วยมติที่ยังไว้วางใจให้ เทเรซ่า เมย์ ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ความพยายามสุดท้ายของทั้งสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปคือ ทำอย่างไรที่จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่น้อยที่สุดหลังจากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปไปแล้ว แต่อย่างไรก็ดีมีความเป็นไปได้เราอาจได้เห็นสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปโดยที่ไม่มีข้อตกลงใดๆ เลย แม้ว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษอยากจะให้ผลออกมาเป็นในรูปแบบของประเทศนอร์เวย์ก็ตาม

แต่หลังจากนี้สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ เราจะได้เห็นการเจรจาข้อตกลงทางการค้าใหม่ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป ว่าจะผลนั้นจะเป็นเช่นไร และจะคุ้มค่าหรือไม่ที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป รวมไปถึงการเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา

ภาพจาก Pixabay

การเจรจาการค้าที่เปลี่ยนไปอีกรอบ

ในช่วงหลังจากนี้เราอาจเห็นการเจรจาการค้าในรูปแบบเดิมๆ คือ การเจรจาการค้าในรูปแบบทวิภาคี หรือ Bilateral Trade Agreement กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐอเมริกา นำโดยประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ตกลงทำข้อตกลงเจรจาการค้าระหว่าง เม็กซิโก รวมไปถึง แคนาดา ฉบับใหม่ ซึ่งการเจรจาแนวนี้จะกลับมา แทนที่การเจรจาในรูปแบบพหุภาคี หรือ Multilateral Trade Agreement โดยสหรัฐอเมริกามองว่าได้ประโยชน์มากกว่าเดิม

ความท้าทายหลังจากนี้คือการเจรจาการค้าระหว่างหลายๆ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น EU หรือการสร้างกลุ่มก้อนใหม่ๆ เช่น CPTPP นำโดยญี่ปุ่น หลังจากการถอนตัวของสหรัฐอเมริกา และกำลังจะมีผลในการลดภาษีนำเข้าสินค้าและส่งออกภายในกลุ่ม ในวันที่ 1 มกราคม 2019  ไม่เว้นแม้แต่ ASEAN เอง การเจรจาแบบกลุ่มก้อนเหล่านี้จะยังทรงพลังในการต่อรองหรือไม่ในอนาคต

ภาพจาก Unsplash

ความสมดุลในเกมภูมิรัฐศาสตร์

เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitics เป็นเรื่องที่พูดกันบ่อยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในปี 2019 ที่จะถึงนี้เราจะเห็นเกมอำนาจของมหาอำนาจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และแผ่ขยายไปแทบทุกที่ในโลกด้วย ในปีหน้าเราจะได้เห็นประเทศต่างๆ เริ่มที่จะหาสมดุลของมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย เช่น

  • อินเดีย ที่เริ่มหาสมดุลระหว่างสหรัฐฯ และ รัสเซีย ผ่านการซื้ออาวุธ
  • เวียดนาม ที่ต้องหาจุดสมดุลใหม่ระหว่างจีนและสหรัฐฯ
  • ศรีลังกา กำลังหาจุดสมดุลใหม่หลังจากพึ่งพิงเงินจากประเทศจีนจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
  • ตุรกี ที่หาจุดสมดุลใหม่ระหว่างสหรัฐ รวมไปถึงความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับรัสเซีย หลังจากระหองระแหงมาสักพัก
  • บราซิล หาจุดสมดุลใหม่หลังผู้นำคนใหม่ เริ่มเป็นห่วงความมั่นคงของประเทศ จากการลงทุนของประเทศจีน
  • ซาอุดิอาระเบีย ที่เริ่มหาสมดุลระหว่างสหรัฐฯ และ รัสเซีย

นอกจากนี้ในปี 2019 เรายังจะได้เห็นแรงกดดันในหลายๆ พื้นที่ในโลกเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • ตะวันออกกลาง เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งนำโดยซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์ อิหร่านที่โดนสหรัฐคว่ำบาตร หรือแม้แต่สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากซีเรีย
  • ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่อาจเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
  • แรงกดดันในทวีปยุโรป หลังจากการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในโปแลนด์และโรมาเนีย
  • ความกังวลของการแผ่ขยายอำนาจของจีนผ่านนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา รวมไปถึงในมหาสมุทรเอเชียแปซิฟิค เช่น ปาปัวนิวกินี ฯลฯ หรือแม้แต่ในแอฟริกา

เรื่องอื่นๆ ที่ยังต้องติดตาม

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ยังต้องตาม

  • ความเสี่ยงของนโยบายในประเทศอิตาลี สอดคล้องกับปริมาณหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น
  • การเลือกตั้งในสภาสหภาพยุโรป
  • ปัญหาในประเทศเยอรมันรวมไปถึงประเทศฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้อพยพ นโยบายเศรษฐกิจในฝรั่งเศส
  • ผู้อพยพในเวเนซุเอล่า จะสร้างผลกระทบประเทศต่างๆ ในอเมริกาใต้หรือไม่

ในปี 2019 ที่กำลังจะถึงนี้ยังจะมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่อาจกระทบกับนักลงทุน รวมไปถึงนักธุรกิจไทยที่ลงทุนในต่างประเทศ ฉะนั้นจะต้องติดตามข่าวสารเหล่านี้ให้ดี เพราะว่านโยบายการเมืองรวมไปถึงนโยบายทางต่างประเทศของหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทยเอง อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ