คุยกับ “ยรรยง ไทยเจริญ” ความท้าทายของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เมื่อโมเดลแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป

Brand Inside ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ ยรรยง ไทยเจริญ ผู้บริหารสูงสุดของ SCB EIC ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมุมมองเศรษฐกิจไทย ความท้าทายของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่จะต้องปรับเปลี่ยนหลังจากนี้ รวมไปถึงนโยบายการเงินการคลังหลังจากช่วง COVID-19 นี้

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ – รองผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์

Brand Inside ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือที่เราคุ้นชื่อ SCB EIC ที่มีบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยมากมาย

สำหรับสัมภาษณ์พิเศษชุดนี้จะมาเจาะลึกถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลังยุค COVID-19 ที่ทำให้เห็นจุดอ่อนที่โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยจะต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่าง แม้ว่าจุดอ่อนนี้จะมีให้เห็นมาก่อนหน้านี้แล้วในช่วงสงครามการค้าก็ตาม

COVID-19 เร่งปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย

ผู้บริหารสูงสุดของ EIC ได้เล่าภาพรวมของไทยว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะเดียวกันในแต่ละภาคธุรกิจของไทยเองก็ฟื้นตัวไม่เท่ากัน มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยเองยังมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ โดย SCB EIC คาดว่าปีนี้ GDP ไทยถดถอยประมาณ -7.8% ขณะที่ในไตรมาสหลังจากนี้เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวเนื่องจากฐานในไตรมาส 2 ที่หดตัวอย่างมากถึง 12.1%

ทำไมเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้านั้น ยรรยงชี้ให้เห็นว่าเพราะเราพึ่งพาด้านการส่งออก ท่องเที่ยว เยอะมาก ขณะเดียวกันความช้าในการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นนั้นทำให้เกิดแผลเป็นในเศรษฐกิจไทย เช่น การจ้างงาน แนวโน้มการเปิดธุรกิจใหม่ หนี้ครัวเรือนทำให้ซบเซาหรือฟื้นตัวช้า

ยรรยงยังชี้ว่าเศรษฐกิจไทยก่อนหน้าที่จะเกิด COVID-19 นั้นก็มีปัญหาอยู่แล้ว โดยเฉพาะปัญหาสังคมผู้สูงวัย ตอนนี้ 39 ล้านเหลือ 37 ล้าน นอกจากนี้แรงงานที่อยู่นอกระบบค่อนข้างเยอะ ทำให้เกิดปัญหาอย่าง COVID-19 นั้นทำให้ประสบปัญหาในการเข้าถึง ขณะเดียวกันปัจจัยเชิงโครงสร้างคือแรงงานเหล่านี้ไม่ได้ฝึกฝน ยิ่งทำให้เปราะบางเมื่อเจอ COVID-19

นอกจากนี้ยังโยงไปเรื่องทักษะที่ไม่ตอบโจทย์โลกสมัยใหม่หลัง COVID-19 คนตกงานเยอะ แต่งานที่ต้องการต้องการใช้สกิลใหม่ๆ หลังจากนี้

SME ได้รับผลกระทบมาก

ด้านของธุรกิจ SME ยรรยงมองว่า โอกาสรอดของธุรกิจขนาดกลางถึงเล็กถือว่าแย่ลงเรื่อยๆ และมีความแตกต่างกับขนาดธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายสาเหตุ เช่น ความสามารถในหารแข่งขัน เช่น แพลตฟอร์มต่างๆ ที่เข้ามาในไทยทำให้ผู้ชนะกินรวบตลาดได้ทันที ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ปรับตัวไม่ได้อาจเสียเปรียบ ขณะเดียวกันเรื่องกฎระเบียบทางกฎหมายทำให้เกิดการแข่งขันก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง COVID-19 เข้ามาก็เร่งตัวมากขึ้น

แม้ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางช่วย SME เช่นมาตรการต่างๆ เช่น มีพักหนี้ มี Softloan แล้ว แต่ SME ตอนนี้มีสายป่าไม่ยาวเลย ซึ่งสิ่งสำคัญของธุรกิจเหล่านี้คือสภาพคล่อง แต่ถ้าหากย้อนไปดูถึงภาพการเงินของไทยแล้ว สภาพคล่องยังสูง แต่เงินไม่เข้าถึง ไม่กระจายตัวไปยังผู้ที่ได้รับ ถ้าเงินลงไปไม่ถึงจะทำให้เราจะเห็นปิดกิจการ กับเลิกจ้างงานมากกว่านี้

จะทำยังไงให้รัฐมีประสิทธิผลมากขึ้น คือตอนนี้รัฐจะนำกลไกลของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือบสย. เข้ามาในเรื่องการการันตีเครดิต ทำให้ธนาคารต่างๆ สามารถกล้าปล่อยกู้มากขึ้น

นอกจากนี้วิกฤติรอบนี้จาก COVID-19 ถือว่ารุนแรง หลายๆ ภาคอุตสาหกรรมนั้นฟื้นตัวช้า เขามองว่าในช่วงแรกๆ การให้เงินกู้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ตอนนี้หนี้ที่เพิ่มขึ้นขึ้นอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะหนี้สูง รายได้ไม่ฟื้นตัว การใช้เรื่องเพิ่มทุนจากรัฐ หรือแม้แต่เอกชนตั้งกองทุน ถือว่าเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง

ปัจจัยภายนอกยังกระทบกับเศรษฐกิจไทย

เขายังชี้ให้เห็นว่าไทยนั้นเป็นประเทศเล็กที่พึ่งพาการค้าขาย ท่องเที่ยวรวมกันมีสัดส่วนมากถึง 72% ของ GDP โดยถ้าหากแยกภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนมากถึง 12% (ยังไม่นับท่องเที่ยวในไทยอีก 8%) ของ GDP ที่เหลือ 60% นั้นเป็นภาคการส่งออก ในขณะที่เศรษฐกิจโลกตอนนี้มีเศรษฐกิจหดตัว -4% ถือว่าติดลบมากที่สุดหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 1930

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกนั้นมองไปข้างหน้ามีผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ส่งออกคาดว่าหดตัว -10% ในปีนี้แต่ปีหน้าจะเติบโตราวๆ 5% แต่ก็ยังไม่เท่ากับปี 2019 และยิ่งภาคการท่องเที่ยวยิ่งหนักกว่านั้นโดย EIC คาดว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติปีหน้าจะอยู่ที่ราวๆ 8.4 ล้านคน ไม่เท่าเดิมแน่ๆ คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเท่าเดิมคือต้องปี 2023

แต่ภาคการส่งออกไทยยังมีบางส่วนที่เติบโตได้ เช่น อาหาร หรือสินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน หรือถุงมือยาง แต่สินค้าหลายๆ ส่วนเองก็กระทบมาก เช่น ปิโตรเคมี ฯลฯ เขามองว่าภาครัฐต้องดูแลภาคการส่งออกในส่วนที่เติบโตได้ดี เช่น การเปิดตลาดใหม่ๆ รวมไปถึงการทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA กับประเทศอื่นๆ มากขึ้น

ภาคการท่องเที่ยวนั้น ระยะสั้นเขามองว่าต้องทำให้คนไทยเที่ยวไทยมากขึ้น ขณะที่ทำยังไงให้คนไทยเที่ยวในไทย เพราะมีคนไทย 10 ล้านคนเที่ยวต่างประเทศกลับมาเที่ยวไทย แต่ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ยังเที่ยวกระจุกตัวรอบๆ ทั่วกรุงเทพ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อัตราเข้าพักเฉลี่ยยังอยู่ที่ 20% ยังห่างกับในช่วงปกติที่ 60-70% ภาครัฐจะต้องมีมาตรการอื่นๆ ช่วยเพิ่มด้วย

นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศขึ้นอยู่กับวัคซีน แต่กว่ากระจายได้นั้นเขามองว่าคือครึ่งปีหลัง เขามองว่าเราต้องเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาบ้าง แบบขนาดเล็กๆ ควบคุมได้ และที่สำคัญมากๆ คือต้องมีการสื่อสารให้คนในพื้นที่และคนในประเทศต้องเข้าใจ ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในเรื่องนี้

หนี้ครัวเรือน ทำให้เศรษฐกิจไทยต่างกับประเทศอื่น

ยรรยงชี้ว่าเศรษฐกิจไทยที่ต่างกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets) เพราะอัตราหนี้ต่อครัวเรือนของไทยสูงที่สุด และถ้าหากนำมาหารกับรายได้ต่อครัวเรือนนั้นหนี้ก็ยิ่งสูง เพราะไทยภาคครัวเรือนมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจน้อยลง โดยคาดว่าล่าสุดไทยนั้นจะมีอัตราส่วนที่ว่านี้อยู่ราวๆ 84% สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การฟื้นตัวนั้นช้ากว่า

เขายังมองว่าหนี้ต่อครัวเรือนปรับขึ้น ตอนนี้หนี้สูงกว่าเพราะ GDP ของไทยติดลบ ส่งผลกระทบทำให้รายได้ลดลง ยรรยงยังมองว่า หลังจากนี้จะเห็นภาคครัวเรือนจะเกิดกระบวนการลดภาระหนี้ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา เราเห็นราคาสินทรัพย์ลดลง เช่น อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ขณะที่ภาคครัวเรือนจะพยายามออม และลดหนี้ที่ไม่จำเป็นลง ขณะที่รากหญ้าเองอาจไม่ได้ออมเยอะขึ้นด้วยซ้ำ ต่างกับชนชั้นกลาง ทำให้ระยะสั้นจะส่งผลกับภาคบริโภค

ในท้ายที่สุดคือเรื่องความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน ไทยเองถือว่าท้าทายมาก ในช่วงที่ผ่านมาไทยปรับลดลงมาก ไทยล่าสุดอยู่ที่ 50 ปรับเพิ่มมาเล็กน้อยจาก 47 (จากสเกล 100) ยรรยงมองว่าคนส่วนมากยังไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจ เห็นยอดขายหลายอย่างๆ ปรับตัวลง เช่น ยอดขายรถยนต์ลดลง แถมมีผสมกับหนี้ครัวเรือน

โมเดลเศรษฐกิจเดิมๆ อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป ต้องปรับเปลี่ยน

เขาได้ชี้ว่าโมเดลของเศรษฐกิจไทยนั้นเริ่มมีปัญหาตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ที่ทำให้ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ แต่ที่ผ่านมาเราเน้นในเรื่องของปริมาณ แต่ในแง่ของมูลค่าและประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยนั้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เช่น นักท่องเที่ยวที่รายได้ต่อหัวนั้นน้อย ขณะที่สินค้าส่งออกนั้นเน้นปริมาณมากๆ

สิ่งที่ยรรยงได้ชี้ว่าสำคัญที่สุดคือเรื่องของคน เขายังได้ชี้ว่าสิ่งที่จะกำหนดปัจจัยของประเทศคือ เรื่องของผลิตภาพของแรงงานไทย และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามา เขายังชี้ว่าทำยังไงที่จะเป็นเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เขาได้ยกตัวอย่างโดยเฉพาะสิงคโปร์ ที่รัฐบาลจับมือกับเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนทักษะ การฝึกงาน การอบรมต่างๆ ฯลฯ

ขณะเดียวกันเขายังชี้ว่าเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือลดการใช้แรงงานลงหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็น การเว้นระยะห่าง ฯลฯ นอกจากนี้ภาคธุรกิจโรงแรมพยายามแข่งขันมากขึ้น พร้อมแย่งลูกค้าหลังจากนี้ ส่งผลทำให้เกิดการลดต้นทุนไม่จำเป็น นอกจากนี้งานหลายๆอย่างเทคโนโลยีทดแทนได้

แต่เขาก็มองว่าท้ายที่สุดแรงงานส่วนหนึ่งต้องออกมาอยู่ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น E-commerce หรือแม้แต่ การพยาบาลดูแลนักท่องเที่ยวที่สูงอายุ เพื่อจะได้ดึงนักท่องเที่ยวที่มีรายจ่ายต่อหัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เหล่านี้ต้องการแรงงานที่มีทักษะ

อีกภาคอุตสาหกรรมที่เขามองว่าจะต้องมีการปฏิรูปคือภาคการเกษตร ที่มีแรงงานอยู่มากถึง 30% แต่มีสัดส่วนต่อ GDP เพียงแค่ 10% ต่างจากภาคอุตสาหกรรมมากถึง 6 เท่า ซึ่งมีความท้าทายในเรื่องของผลผลิตที่ไม่รู้จะเยอะเท่าเดิมหรือเปล่า ซึ่งเขามองว่าทำยังไงที่จะทำให้เกษตรกรมีผลิตผลมากขึ้น รายได้มากขึ้น แต่ภาครัฐเองก็ต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น

ขณะที่การส่งออกยานยนต์ของไทย เขามองว่าเทรนด์โลกตอนนี้ย้ายไปรถยนต์ไฟฟ้าแน่ๆ แต่สิ่งที่ท้าทายคือทำยังไงให้ภาคอุตสาหกรรมนี่ปรับตัวได้ สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความต้องการในประเทศ เขามองว่าจะต้องส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็ต้องปรับ Supply Chain ของรถยนต์แบบสันดาปบางส่วนเข้ามาในรถยนต์ไฟฟ้า เขาชี้ว่าต้องหาจุดสมดุลเหล่านี้ เพราะถ้าหากอยู่เฉยๆ เราจะตกรถขบวนนี้ และตลาดรถยนต์แบบสันดาปกำลังจะมีสัดส่วนลดลงแล้ว เช่น ออสเตรเลีย ที่เป็นลูกค้าของไทย

นอกจากนี้สภาพโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเขาได้เน้นถึงเรื่องการปรับเปลี่ยนทักษะ รวมไปถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่องคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต และถ้าหากเกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ย่อมที่จะตอบโจทย์ในการสร้างรายได้ให้กับตัวของแรงงานเอง ขณะที่การนำเข้าแรงงานที่มีฝีมือเข้ามาเอง รัฐบาลก็ต้องสนับสนุนด้วยในแง่ต่างๆ รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาดึงดูดได้น้อย

มองเรื่องนโยบายการเงิน-การคลังของไทย

เขาได้เล่าว่าภาครัฐออกนโยบายเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง ซึ่งภาครัฐจะเป็นตัวหลักที่ประคับประคองออกไปได้ เม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านบาทนั้น ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาได้ออกไปแล้วประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่เขามองว่าช่วงที่เหลือของปีที่รัฐบาลสัญญาว่าจะปล่อยเม็ดเงินออกมานั้นยังน้อยอยู่ และยังมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องออกมาตรการออกมาทั้งในแง่เยียวยาและกระตุ้นความมั่นใจ

ขณะเดียวกันเม็ดเงินอีก 5 แสนล้านที่เหลือนั้น เขามองว่าถ้าหากวัคซีน COVID-19 มาเร็วก็อาจพอ แต่ถ้ามาช้าอาจต้องใช้เม็ดเงินมากกว่านี้

คำถามต่อมาคือรัฐบาลไทยยังกู้ได้ไหม ยรรยงมองว่ารัฐบาลสามารถกู้เงินเพิ่มได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องสื่อสารกับประชาชนและตลาดการเงิน โดยเฉพาะบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือว่าในการกู้เงินเพิ่มเติมมีความจำเป็น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องมีแผงงานที่ชัดเจน และระยะกลางถึงระยะยาวก็ต้องสื่อสารว่าจะมีการลดหนี้เท่าไหร่ ขยายฐานภาษีได้ยังไง แต่จุดแข็งของไทยอย่างหนึ่งคือเรามีวินัยการเงิน-การคลังที่ดี

ด้านของนโยบายการเงินตอนนี้เราต่ำสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ทำให้นโยบายมีข้อจำกัด และมองว่าไทยนั้นน่าจะไม่มีนโยบายดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งเขามองว่านโยบายนี้นั้นท้ายที่สุดอาจส่งสัญญาณให้คนระมัดระวังการใช้เงินมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ โดยเฉพาะคนที่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยอย่างเช่นผู้สูงอายุ อาจส่งผลทำให้การใช้จ่ายลดลง

นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากที่เขามองว่าจะเป็นวิธีนอกกรอบมากขึ้น เขาได้ยกตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมานั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้เอานำเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลแล้วในช่วงเดือนมีนาคมที่ตลาดการเงินปั่นป่วน มีความตื่นตระหนกมาก และอนาคตเขามองว่าเป็นไปได้อาจซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้นกว่าเดิม หรืออาจมี มาตรการ Yield Curve Control เหมือนประเทศออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่นด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาดูแลเสถียรภาพของตลาดพันธบัตร เนื่องจาก Credit Risk ตอนนี้สูงมาก ทำให้นักลงทุนหรือสถาบันการเงินมีความลังเลว่าความเสี่ยงจะมากเกินไป ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ามาดูแลในส่วนนี้แม้ว่าจะยังไม่มีเม็ดเงินออกมาก็ตาม

มองไปยังปีหน้า 

ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้จะฟื้นตัวแบบช้าๆ อยู่ คาดการณ์ว่า GDP ไทยจะเติบโตราวๆ 3.5% ซึ่งคาดว่าเจอวัคซีนจะเป็นจุดสำคัญสำหรับภาคการท่องเที่ยว กว่าจะฟื้นตัวอาจต้องรอไปถึงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้เขายังมองว่าภาครัฐจะเป็นกลไกลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายและลงทุนของภาคเอกชนค่อยๆ ฟื้นตัวแบบช้าๆ จากผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา

ปัจจัยสำคัญภายนอกที่ต้องติดตามคือสงครามการค้า และการเข้ามาของโจ ไบเดนเข้ามานั้นจะบรรเทาลงบ้าง แต่รูปแบบการต่อรองจะนำพันธมิตรเข้ามาคุยมากขึ้น แทนที่จะเป็นแบบการดำเนินการจากสหรัฐฝ่ายเดียว เป็นรูปแบบที่คาดเดาได้มากขึ้น นอกจากนี้เขายังมองว่าจะเห็นเม็ดเงินเข้ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น

ส่วนในประเทศไทยนั้นเขาได้ย้ำถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจไทยว่าภาครัฐจะสามารถดูแลและลดผลกระทบได้มากน้อยขนาดไหน ขณะที่นโยบายด้านการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเขามองว่าจะนอกกรอบมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ