คำต่อคำกับ อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ CEO กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หลากเรื่องราวหลังควบรวมกิจการ

หากจะพูดถึงกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หลังจากที่มีการควบรวมกิจการกันระหว่างธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม ธนาคารเกียรตินาคิน) และบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร) ตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว น่าสนใจว่ากว่าจะเดินทางถึงทุกวันนี้ในฐานะสถาบันการเงินที่มีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการเชื่อมโยงธุรกิจธนาคารพาณิชย์เข้ากับธุรกิจตลาดทุนได้เป็นอย่างดีนั้น องค์กรต้องผ่านอะไรมาบ้าง และอะไรคือความท้าทายในปัจจุบัน

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์
อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ – ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)

Brand Inside ได้มีโอกาสพูดคุยกับ อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ถึงหลากเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นการควบรวมกิจการ เรื่องของการหลอมรวมวัฒนธรรมในองค์กร จนไปถึงเรื่องสำคัญในภาพใหญ่อย่างบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลในอุตสาหกรรมทางการเงิน และความท้าทายของธุรกิจธนาคาร

เมื่อธุรกิจคนละรูปแบบมาควบรวมกิจการกัน

อภินันท์ ได้กล่าวถึงการควบรวมกิจการของ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร กับ ธนาคารเกียรตินาคิน ในช่วงปี 2012 ซึ่งถือว่าเป็นดีลใหญ่ของสถาบันการเงินไทยในช่วงนั้น โดยเริ่มต้นนั้นเขาเล่าว่าการควบรวมกิจการในครั้งนั้น เป็นการควบรวมระหว่างธุรกิจ 2 รูปแบบ คือธนาคารกับบริษัทหลักทรัพย์ ไม่ใช่ระหว่างธนาคารด้วยกัน ดังนั้น เมื่อไม่ได้เป็นการควบรวมระหว่างธุรกิจที่เหมือนกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องยุบชื่อขององค์กรใดองค์กรหนึ่งให้หายไป หากยังจำได้ก่อนที่ธนาคารเกียรตินาคิน และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จะเปลี่ยนมาใช้ชื่อเดียวกันว่า ธนาคารเกียรตินาคินภัทร และบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทรเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งสององค์กรต่างใช้ชื่อเดิมในการสื่อสารกับลูกค้า แม้จะเป็นภายหลังการควบรวมกิจการได้เกิดขึ้นแล้ว

“ถ้ามองตัวอย่างต่างประเทศ การควบรวมระหว่างเกียรตินาคินและภัทร คล้ายกับการควบรวมกิจการระหว่าง JPMorgan กับ Chase ที่ในระดับบริษัทโฮลดิ้งอาจมีการตั้งชื่อใหม่เป็น JPMorgan Chase & Co แต่สำหรับลูกค้า การใช้บริการวาณิชธนกิจหรือหลักทรัพย์ยังคงทำผ่าน JPMorgan แต่ถ้าเป็นการใช้บริการด้านธนาคารก็เข้ามาทางเป็น Chase แล้วทุกวันนี้ทั้งสององค์กรก็ยังไม่มีสัญญาณที่จะเปลี่ยนชื่อกิจการ แต่มีพื้นที่ของแต่ละกิจการชัดเจนว่าใครทำอะไร”

อภินันท์ มองว่าด้วยการที่เป็นกิจการระดับโลกนั้นไม่ยึดติดเรื่องชื่อ หรือแม้กระทั่งว่ากิจการใดใหญ่กว่า สำคัญกว่า แต่จะมองว่าใช้ชื่อแบรนด์ใดจึงจะมีคุณค่าต่อลูกค้ามากกว่า โดยเขาได้เล่าถึงกรณีของ ACE ที่ใหญ่กว่า และได้เข้ามาซื้อกิจการของบริษัทประกัน Chubb แต่ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเป็น Chubb เนื่องจากเห็นว่าลูกค้าจดจำชื่อ Chubb ได้มากกว่า และแบรนด์ของ Chubb มีคุณค่ามากกว่า เช่นเดียวกัน อภินันท์เล่าย้อนหลังถึงสาเหตุของการใช้ชื่อแยกกันระหว่างธนาคารเกียรตินาคิน และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ในระยะแรกหลังการควบรวมกิจการ

“ในตอนแรกไม่มีเหตุผลต้องรวม หากรวมชื่อกับเกียรตินาคินกับภัทรทันทีหลังการควบรวม ลูกค้าของธนาคารเกียรตินาคินที่เป็นลูกค้าเงินฝากหรือเช่าซื้อ ก็อาจจะงงว่าภัทรซึ่งทำแต่ธุรกิจตลาดทุนคือกิจการอะไร มาจากไหน ขณะที่สำหรับลูกค้าของภัทรที่เป็นนักลงทุนหรือลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งสูงก็อาจจะเกิดคำถามว่าธนาคารเกียรตินาคินเป็นธนาคารที่ทำธุรกิจเช่าซื้อไม่เห็นน่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตเขาเลย จะเห็นได้ว่าสำหรับลูกค้าการรวมชื่อมีแต่นำไปสู่คำถาม เราจึงตัดสินใจต่างคนต่างใช้ชื่อเดิมกับลูกค้าของตัวเอง”

เน้นลูกค้าเป็นหลัก เปลี่ยนระบบการทำงานภายใน

แม้จะไม่มีการรวมชื่อ แต่เนื่องจากเดิม การให้บริการทางการเงินของทั้ง 2 องค์กรส่วนใหญ่ยังแตกต่างและเป็นเอกเทศจากกันมาก ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายหรือกระบวนการทำงาน เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการควบรวมกิจการที่ 1+1 แล้วได้มากกว่า 2 โดยเขาได้เรียกว่า Synergy อภินันท์เล่าว่ากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรจึงได้กำหนดวาระสำคัญเป็นการเอาตัวลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ต้องยึดติดกับองค์กร

“เราเอาลูกค้าเป็นหลัก แล้วมาจัดกระบวนการทำงานด้านในของเราเอง เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับผลิตภัณฑ์ทางที่ต้องการได้ครบถ้วน โดยลูกค้าไม่ต้องสนใจว่าจะมาจากบริษัทหลักทรัพย์ หรือธนาคาร ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันจบ เราทำแบบนี้มา 7 ปี จนผลิตภัณฑ์ บริการ และสิ่งที่ทำร่วมกันของทั้ง 2 องค์กรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ก่อนควบรวม ลูกค้าธุรกิจ Wealth Management ของภัทรอาจได้รับคำแนะนำการลงทุนให้ซื้อหุ้น หรือกองทุน แต่หลังควบรวมแล้ว ก็อาจได้รับข้อเสนอเรื่องการฝากเงินกับธนาคารเพิ่มขึ้นมา หรือถ้านักลงทุนต้องการกู้เงินแล้วเขามีมีสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น หุ้น อยู่ในความดูแลของภัทร เขาก็สามารถนำเอาหุ้นนั้นมาเป็นหลักประกันกู้เงินจากเกียรตินาคินได้ หรือที่เรียกกันว่า Lombard Loan ได้ มันก็เป็นการขยายศักยภาพในการให้บริการของทั้งสององค์กร ถึงจุดหนึ่ง เราก็เชื่อว่าพนักงานรวมไปถึงลูกค้า เริ่มรู้ถึงการเป็นองค์กรเดียวกัน โดยไม่แบ่งเขาแบ่งเราหรือไม่ได้คิดว่าแปลกหน้าแล้ว ยิ่งกว่านั้น มันเริ่มมีประเด็นว่าเวลาธนาคารกับหลักทรัพย์สร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกันขึ้นมาชิ้นหนึ่งแล้ว จะใช้โลโก้ของใคร หรือเวลาผู้บริหารหรือพนักงานออกไปเจอกับลูกค้าเป็นทีม ทำไมบางคนจึงถือนามบัตรภัทรบ้าง เกียรตินาคินบ้าง จึงคิดว่าน่าจะถึงเวลาของการเปลี่ยนชื่อและรีแบรนด์ครั้งใหญ่เป็นชื่อเดียวกัน”

เรื่องของแก่นในองค์กรสำคัญที่สุด

การควบรวมสองค์กรซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งธุรกิจ ขนาด และประวัติศาสตร์ที่มาเป็นเรื่องที่มีความท้าทายไม่น้อย เช่น พนักงานของบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร มีน้อยกว่าเพียงแค่ 200-300 คน เมื่อเทียบกับธนาคารเกียรตินาคินที่มีพนักงาน 4,000 กว่าคน (หรือถ้าหากรวมพนักงาน Outsource อีกจะมากถึง 5,000 คน) ยิ่งกว่านั้น ธรรมชาติของการทำงานของคนทั้ง 2 องค์กรก็มีความแตกต่างกัน ทำให้คำตอบไม่ได้อยู่ที่การทำให้ทั้งสององค์กรเหมือนกันเสมอไป

“ทางธนาคารนั้นมีกระบวนการทำงานเหมือนสายพานการผลิต ที่ทุกอย่างมีมาตรฐาน และมุ่งเข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก เช่น เงินฝากหรือการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจะตรงข้ามกับการทำงานของบริษัทหลักทรัพย์ ที่บริการส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูกค้าสถาบัน หรืองานด้านวาณิชธนกิจอย่างการนำบริษัทเข้า IPO หรือการปรับโครงสร้างด้านเงินทุน จะเป็นไปเพื่อลูกค้าขนาดใหญ่แบบเฉพาะรายๆไป ฉะนั้น ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่าง ก็ทำให้ลักษณะคนทำงาน สไตล์การทำงาน หรือแม้กระทั่งโครงสร้างผลตอบแทนแตกต่างกันไปด้วย ในความเห็นของผม เงื่อนไขสำคัญของการควบรวมกิจการก็คือการถามตัวเองว่า เมื่อควบรวมแล้ว สิ่งไหนต้องทำให้เหมือนกันทันที สิ่งไหนเป็นเรื่องปล่อยเวลาผ่านไประยะหนึ่งค่อยทำให้เหมือนกัน และสิ่งไหนเป็นสิ่งที่จะต้องเก็บไว้ให้ไม่เหมือนกันตลอดไป ถ้าเราไม่เข้าใจ เราอาจพยายามไปพยายามสร้างมาตรฐานเดียว ในจุดที่ควรต้องเป็นบริการแบบ Tailor-Made หรือไปพยายามในทุกๆ จุดแบบไม่เลือก ซึ่งจะทำให้เราอาจไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการควบรวม”

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งหนึ่งที่อภินันท์เห็นว่าทั้งสององค์กรต้องมองให้เหมือนกัน ก็คือหลักการร่วมอันเป็นที่ยอมรับ หรือที่เขาเรียกว่า Principles

“เกียรตินาคินภัทรเราเน้นเรื่องของ Principles คือเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นเหมือนกันว่าดี เป็นสิ่งที่ถูกตกผลึกมาที่ไม่ว่าองค์กรไหนก็ใช้ได้ เป็น แก่น ขององค์กรที่สำคัญที่สุด ซึ่งเรามีด้วยกันหลายข้อ เช่น อ้วนโดยไม่ต้องชั่ว ทำเกินดีกว่าขาด หมั่นสงสัยเพื่อปรับปรุง มองภาพใหญ่เพื่อเป้าหมายที่ตรงกัน หิวแต่ไม่หวงความรู้ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต้องเห็นตรงกัน เรื่องอื่นๆ นอกจากนี้อาจมีความแตกต่างกันได้แล้วแต่เงื่อนไขทางธุรกิจ ดังนั้นความจริงเรื่องชื่อ สีหรือโลโก้ขององค์กรที่เราเพิ่งเปลี่ยนและประกาศออกมาถือว่าเป็นเรื่องเปลือกนอกด้วยซ้ำ แต่ก็มีข้อดีเพราะทำให้ง่ายในการจดจำสำหรับลูกค้าและง่ายต่อการจัดการสำหรับคนทำงาน แต่ก็จะสังเกตได้ว่าในกรณีของเราเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่เกิดทีหลังสุดหลังจากการควบรวมกิจการ”

เรื่องดีก็ต้องเดินหน้าต่อไป

สำหรับก้าวต่อไปของเกียรตินาคินภัทร อภินันท์ตอบว่ายังคงมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุเป้าของการ เข้าใจไทยแต่ไปให้ถึงระดับโลก หนึ่งใน Principles ขององค์กร เขาเล่าถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินหลายอย่างที่มีขึ้นเป็นครั้งแรกในไทยที่เกียรตินาคินภัทร เช่น Lombard Loan ที่เป็นสินเชื่อที่ใช้สินทรัพย์ทางการเงินเป็นหลักประกัน หรือ Private Equity ที่เป็นการลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม เขามองว่าภารกิจยังห่างไกลจากคำว่าเสร็จสิ้น

“สิ่งที่ได้ทำมาดีแล้วก็ต้องทำกันต่อไป เช่น ธุรกิจวาณิชธนกิจ หรือธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ แต่หลายเรื่องก็ไม่มีวันทำให้จบได้ง่ายๆ เช่น สำหรับธุรกิจ Wealth Management ของเรา ในไทยเราอาจมี Lombard Loan หรือ Private Equity เป็นที่แรก แต่ถ้าเทียบกับ Private Bank ในสวิตเซอร์แลนด์ที่มีอายุเป็นร้อยปี ก็จะเห็นว่าเขายังมีผลิตภัณฑ์การเงินที่หลากหลายกว่าเรามาก ที่ผ่านมาเราแข่งขันได้ เพราะความสัมพันธ์และความเอาใจใส่ ตลอดจนการดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด งานจึงหยุดไม่ได้ เราควบรวมมาได้ 7 ปีแล้ว แต่ยังต้องปรับอยู่เสมอเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อเวลามาใช้บริการของเราไม่ว่าที่ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์”

ความไร้รอยต่อ

อย่างไรก็ตาม อภินันท์วิเคราะห์ว่าหนึ่งในปัจจัยสำเร็จของธุรกิจที่ไร้รอยต่อก็คือสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างกฎหมายของประเทศ กฎระเบียบ หรือการกำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐ เขายกตัวอย่างข้อจำกัดในเชิงกฎหมาย ที่ทำให้การทำงานของธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์อาจไม่สามารถรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างแท้จริง ทั้งที่ในทางปฏิบัติ ถ้ามองในแง่โครงสร้างการถือหุ้น องค์กรทั้งสองควรถูกมองว่าอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน เช่น ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารยังจำเป็นต้องขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อมาดูแลงานบางส่วนของบริษัทหลักทรัพย์ เพราะเป็นเงื่อนไขของกฎเกณฑ์ที่มองว่าผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินต่างๆ ต้องมีเวลาเต็มที่ให้กับสถาบันการเงินของตัวเอง ทั้งที่ในความจริงธนาคารถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทหลักทรัพย์จนน่าจะถือได้ว่าเป็นองค์กรเดียวกัน และการบริหารบริษัทหลักทรัพย์ก็คือส่วนหนึ่งของการทำงานให้ธนาคารในฐานะผู้ถือหุ้นนั่นเอง

“โลกการเงินและตลาดทุนนั้นเปลี่ยนไปเยอะมากในปัจจุบัน หน่วยงานกำกับดูแลอาจจำเป็นต้องมองไปไกลกว่าเดิมว่าธนาคารไม่ใช่แค่ที่รับฝากเงินและปล่อยสินเชื่อเท่านั้น ถ้าหากหน่วยงานกำกับดูแลมองประโยชน์ของลูกค้าเป็นหลักก็จะสามารถวางแนวทางการกำกับดูแลที่คุ้มครองผู้บริโภคได้และในขณะเดียวกันก็ไม่สร้างข้อจำกัดให้กับอุตสาหกรรมการเงินของประเทศ บางครั้งการออกกฎเกณฑ์เพื่อดูแลไม่ให้ผู้ใช้บริการไม่กี่คนสร้างความเสียหายแก่ภาคการเงินนั้น กลายเป็นต้นทุนและส่งผลเสียที่ใหญ่กว่ามากแก่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ที่ไม่ได้สร้างปัญหาเลย”

ทั้งนี้ อภินันท์ยอมรับว่าการหาสมดุลในการกำกับดูแลเป็นเรื่องที่ยาก โดยเขาได้ยกตัวอย่างว่าในสหรัฐอเมริกาเคยมีช่วงของ Deregulation ที่มีการผ่อนคลายด้านการกำกับดูแลอย่างมาก จน สถาบันการเงินบางแห่งแอบใช้ช่องว่างของกฎระเบียบเพื่อใช้ประโยชน์ (Abuse) ทำให้ระบบการเงินโดยรวมเกิดวิกฤต และท้ายที่สุดหน่วยงานกำกับดูแลก็ต้องกลับมาออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมอุตสาหกรรมการเงินเข้มงวดอีกครั้ง แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งก็กลับค่อยๆ ผ่อนคลายลงกลายเป็นวงจร ซึ่งเขามองว่าการกลับไปกลับมาระหว่างความสุดโต่งทั้งสองทางสุดท้ายก็ยังเป็นความเสี่ยง ด้วยเหตุนี้ อภินันท์จึงมองว่าคำตอบอยู่ที่การสร้างเครื่องมือการแข่งขันให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะเข้ามาควบคุมพฤติกรรมของผู้เล่นในอุตสาหกรรม นอกเหนือจากการกำกับดูแลของหน่วยงาน

“หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง มากกว่าการออกกฎเกณฑ์ที่กลายเป็นว่าท้ายที่สุดแล้วทำลายหรือทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน เช่น หากหน่วยงานกำกับดูแลเห็นว่าดอกเบี้ยของธนาคารแพงเกินไป ก็ไม่ใช่ออกกฎกำหนดเพดานดอกเบี้ยเลย แต่ต้องไปดูแลให้เกิดการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินขึ้นมาแล้วอัตราดอกเบี้ยนั้นจะลดลงมาเอง เพราะโดยธรรมชาติแต่ละสถาบันการเงินก็จะพยายามปล่อยกู้แล้วเรียกดอกเบี้ยที่พอคุ้มกับความเสี่ยง และหากใครคิดดอกเบี้ยแพงเกินไปก็จะแพ้คู้แข่ง ตรงกันข้าม ถ้าหากหน่วยงานกำกับดูแลออกกฎกำหนดเพดานดอกเบี้ยเลย มันก็จะไม่มีการแข่งขัน เพราะทันทีที่ความเสี่ยงสูงกว่าเพดานดอกเบี้ย ก็จะไม่มีธนาคารไหนปล่อยกู้ ก็กลายเป็นว่านโยบายนี้ของหน่วยงานกำกับดูแลกลับผลักให้ประชาชนบางส่วนต้องไปใช้สินเชื่อนอกระบบ ซึ่งดอกเบี้ยยิ่งแพงกว่าธนาคาร ได้ผลตรงข้ามกับความตั้งใจของนโยบายเลย”


หน่วยงานกำกับดูแลในไทยยังต้องทำอีกหลายเรื่อง

อภินันท์ยอมรับว่าหลายๆ เรื่อง หน่วยงานกำกับดูแลในไทยได้สร้างให้เกิดการแข่งขันขึ้นมาเป็นอย่างดีแล้ว เช่น กรณีของ PromptPay หรือระบบ NDID ที่เกียรตินาคินภัทรได้มีตัวแทนบุคลากรคือ ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ผู้บริหารของธนาคาร เข้าไปร่วมพัฒนา แต่ยังคงมีเรื่องต้องทำเพิ่มเติมอีกมาก เพราะการลดการกำกับดูแลจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่แล้ว มิฉะนั้นแล้ว ถ้าหากลดการกำกับดูแลลง โดยยังไม่มีการแข่งขัน ท้ายที่สุดประชาชนก็เสียหาย

“หน่วยงานกำกับดูแลต้องไปดูว่าปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันหรืออุปสรรคที่ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันมีอะไรบ้าง เช่น ตอนนี้ไทยมีผู้ถือใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์อยู่ 14 แห่ง ถ้าหากมองว่าธนาคารใหญ่มีอำนาจเหนือตลาดมากเกินไปก็ต้องปล่อยให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเข้ามาแข่งขัน เช่น FinTech โดยการลดทอนกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นลง มิเช่นนั้น FinTech ก็จะไม่มีวันเข้ามาได้ หรือข้อกำหนดที่ห้ามสถาบันการเงินมีชาวต่างชาติถือหุ้นเกิน 49% หรือต้องมีเงินขั้นต่ำเป็นจำนวนมหาศาล ก็ถือเป็นข้อกำหนดที่กีดกันผู้เล่นในอุตสาหกรรมให้มีน้อยลงและเกิดการแข่งขันได้น้อยลงทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ควรต้องถูกพิจารณา เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถดูแลผู้บริโภคได้โดยมีประสิทธิภาพที่สุดและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุดสมความตั้งใจ”

สุดท้าย อภินันท์ทิ้งท้ายว่ากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรเชื่อในหลักการตลาดเสรี ดังนั้นความหวังขององค์กรจึงไม่ได้อยู่ที่องค์กรอย่างเดียว แต่อยู่ที่สภาพแวดล้อมที่เป็นสนามแข่งขันขององค์กรด้วย หากประเทศไทยมีคอร์รัปชันสูง มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ธุรกิจธนาคารต่อเนื่องไปจนถึงตลาดเงินตลาดทุนอย่างไรก็ย่อมได้รับผลกระทบ ในทางตรงกันข้ามหากประเทศไทยมีการประกอบธุรกิจที่ง่าย มีตลาดที่แข่งขันเต็มที่และเป็นธรรม มีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต การบริหารจัดการเชิงนโยบายที่ดี ฯลฯ เมื่อนั้นผู้เล่นทุกคนในอุตสาหกรรมก็จะดีขึ้นไปพร้อมกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ