คุยกับ ศุภวุฒิ สายเชื้อ ในวันที่รัฐบาลมีบทบาทมากสุดที่จะช่วยธุรกิจ SME ไทยหลังวิกฤติ COVID-19

คุยกับ ศุภวุฒิ สายเชื้อ ในวันที่รัฐบาลมีบทบาทมากสุดที่จะช่วยธุรกิจ SME รวมไปถึงมุมมองอื่นๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงกรณีศึกษาการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ – ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร​

Brand Inside ได้มีโอกาสได้สัมภาษณ์กับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร​ และเขาเองยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์มือฉมังคนหนึ่งของไทย และยังเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม CARE อีกด้วย และในช่วงการสัมภาษณ์นี้ไทยเองกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลต่อเนื่องจาก COVID-19 ส่งผลทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมไปถึง SME ทั้งหลายได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก

สำหรับธุรกิจ SME ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการจ้างงานแรงงานของไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าหาก SME ล้มหายหรือตายไป ย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการบริโภคไม่น้อย

เศรษฐกิจไทย ภาคการท่องเที่ยวกระทบหนักสุด

ศุภวุฒิได้ฉายภาพเศรษฐกิจคร่าวๆ ว่า ไทยเริ่มเปิดประเทศให้กลไกลเศรษฐกิจทำงานได้บ้าง แม้ GDP โตได้บ้าง แต่ประเทศไทยต้องพึ่งพาภาคการส่งออกมากกว่า 60% ของ GDP อย่างไรก็ดีรายได้ที่เกิดขึ้นนั้นไม่พอเลี้ยงเศรษฐกิจหรือแม้แต่คนทำงาน เขาได้ชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมามาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ลูกหนี้ได้ขอผ่อนปรนหนี้เป็นจำนวนสูงมาก

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบหนักสุด คิดตัวเลขกลมๆ นักท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมาคือประมาณ 40 ล้านคน คิดรายได้เฉลี่ยต่อหัวราวๆ 50,000 บาทต่อคนก็จะได้ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยอีก 1 ล้านล้านบาท รวมเป็นมูลค่าทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18% ของ gdp 

ในปี 2020 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติตอนนี้มีราวๆ 6 ล้านกว่าคน จากไตรมาสแรก เขายังได้กล่าว่าต่อให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาอีก 1 ล้านคนเลยในช่วงที่เหลือ คิดเฉลี่ยต่อหัว 50,000 บาท ก็จะได้ราวๆ 350,000 ล้านบาท เงินที่หายไปจากรายได้ของนักท่องเที่ยวถึง 1.65 ล้านล้านบาท ขณะที่ปีหน้าศุภวุฒิมองว่าถ้าหากไทยยังมีนโยบายกับ COVID-19 อาจรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่ได้เท่ากับปี 2020 นี้ด้วยซ้ำ

ศุภวุฒิยังสมมติว่าในปีหน้าอาจไทยได้นักท่องเที่ยวเพียงแค่ 1 ล้านคนเท่านั้น เข้ามากักตัว 14 วัน แล้วเที่ยวประเทศไทยได้ยาวๆ โดยที่รัฐบาลคาดว่าคนเหล่านี้จะใช้จ่ายต่อหัวถึง 800,000 บาทต่อราย แต่เขาเองก็ยังสงสัยว่านักท่องเที่ยวที่มาไทยจะมีศักยภาพขนาดนั้นหรือไม่ ซึ่งถ้าหากคิดตัวเลขนี้ไทยจะมีรายได้เพียง 800,000 ล้านบาทเท่านั้น ยังขาดจากของเดิมถึง 1.2 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกันการลงทุนจากต่างประเทศแม้เม็ดเงินจะน้อย แต่จะมีการกระตุ้นการจ้างงาน รวมไปถึงเรื่องความสามารถต่างๆ เช่น เทคโนโลยี ฯลฯ ไทยถึงพยายามชวนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ผ่านโครงการสำคัญเช่น EEC แต่ในปีนี้นั้นการลงทุนของไทย 25% ของ GDP ตอนนี้ -10% ของ GDP หรือคิดเป็น -2.5% ของ GDP โดยรวม

ไม่เพียงแค่นั้นไทยเรายังอยากจะเป็นศูนย์กลางของการถ่ายทำภาพยนตร์ รัฐบาลเคยกล่าวว่าไทยได้เงินมากถึง 200,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดีนั้นกลับไม่มีใครมาถ่ายหนังที่ไทยเลย ทำให้เงินหายไปอีก

ทางด้านของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร หรือภาคการก่อสร้างก็หายไป จากการปิดชายแดนเพื่อป้องกัน COVID-19 ยังไม่นับรวมถึงเด็กที่เข้ามาเรียนอีกประมาณ 30,000 คน 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้กำลังซื้อในประเทศไทยหดหายไปทันที

Bangkok Thailand COVID-19
ภาพจาก Shutterstock

ผู้ประกอบการต้องการเงินทุน

ศุภวุฒิยังเล่าถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมเงินไว้จำนวนหนึ่งสำหรับช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ COVID-19 เช่นกองทุน SME ที่ตั้งมาถึง 500,000 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงใช้ไปเพียง 100,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนที่จัดทำเพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับตลาดพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีวงเงินถึง 400,000 ล้านบาทก็ไม่ได้ใช้ด้วยซ้ำ

เขากล่าวว่า “เงินใช้ไปน้อยมากกว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่กลุ่ม CARE ในตอนแรกมองว่าให้รัฐปล่อยเงินกู้ไปได้เลย แต่มาถึงตอนนี้นั้น SME สายป่านหมดแล้วจากปัญหาขาดทุน สิ่งที่ตามมาคือส่วนของผู้ถือหุ้นกำลังจะร่อยหรอหมดไปเรื่อยๆ (จากปัญหาขาดทุนสะสมมาพักใหญ่) ซึ่งเขามองว่าถ้าตอนนี้จะทำจริงๆ คือเพิ่มทุนดีหว่า”

ถ้าหากจะปรับโครงสร้างธุรกิจและฟื้นฟูกิจการนั้นศุภวุฒิมองว่า “ตอนนี้สิ่งที่ต้องการคือเงินทุน ไม่ใช่การกู้เงินเพิ่มแล้ว” แต่การเพิ่มทุนครั้งนี้ เงินทุนที่ SME ต้องหาคือทุนราคาถูก นั่นก็คือภาครัฐช่วย SME และ SME เองก็ต้องไปหาทุนเพิ่มด้วยเช่นกัน ศุภวุฒิได้เสนอโมเดลว่าถ้าหากคิดสัดส่วนเงินทุนนั้น รัฐบาลใส่ 50%  SME ใส่เงินทุน 20% ธนาคารใส่ 30% 

เขาให้เหตุผลว่าถ้าจะให้เอกชนขับเคลื่อนตอนนี้ทำไม่ได้ ศุภวุฒิ เล่าถึงถ้าหากโรงแรมเล็กๆ จะเชื่อมต่อกันเพื่อระเบียงการท่องเที่ยว เพื่อที่จะได้รับนักท่องเที่ยวใหม่ๆ เข้ามา หรือแม้แต่การปรับรูปแบบธุรกิจรับผู้สูงวัย ถ้าไปกู้ไปธนาคารตอนนี้อาจกู้ไม่ได้แน่ๆ แต่ถ้าใช้วิธีที่รัฐใส่เงินทุนเข้ามามีทางเป็นไปได้แน่ๆ การคิดที่จะทำแบบนี้ต้องใช้เงินทุนเยอะมาก ซึ่งตอนนี้รัฐเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพที่สุดที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตอนนี้

และเขายังเสริมว่าถ้าหากโมเดลธุรกิจดีเจ้าของกิจการจะใส่เงินของตัวเองเข้าไปอยู่แล้ว ขณะที่ธนาคารเห็นก็จะกล้าปล่อยสินเชื่อเหมือนเป็นการรับรองให้กับรัฐบาลว่าจะธุรกิจเหล่านี้จะรอดได้ในอนาคตและตัวสถาบันการเงินเองก็ได้คัดกรองธุรกิจให้กับรัฐบาลอีกทางหนึ่งด้วยก่อนที่รัฐบาลจะใส่เงินลงไป

แต่เขาได้ย้ำว่าการปล่อยกู้ของรัฐบาลนั้นต้องมีเงื่อนไข คือ SME ต้องมีมาตรฐานบัญชีที่ถูกต้อง อีกเรื่องที่สำคัญมากคือจะต้องเข้าระบบภาษีของกรมสรรพากร ซึ่ง SME ส่วนใหญ่ของไทยไม่ได้อยู่ในระบบภาษี นอกจากนี้ SME เองยังจะได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ หรือแม้แต่เปลี่ยนธุรกิจเป็นธุรกิจใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ SME เหล่านี้จะแปลงโฉมโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้เอง

ซึ่งวิธีดังกล่าวนี้ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน

จุดสุดท้ายของข้อเสนอของ CARE

ในแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ศุภวุฒิได้เสนอไปนั้น เขาได้ชี้ว่าวิธีการดังกล่าวย่อมมีธุรกิจ SME ที่ล้มหายตายจากแน่นอน แต่ต้นทุนทางการเงินที่เสียไปนั้นกลับถือว่าน้อยมาก สำหรับเงื่อนไขในการซื้อกิจการกลับถ้าหากธุรกิจนั้นๆ ไปได้ดีคือจะอยู่ที่ราวๆ 1.3 เท่าของมูลค่ากิจการ ภายในช่วง 7 ปีหลังจากรับเม็ดเงินที่เปลี่ยนเป็นทุนช่วยเหลือ

แต่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก็สามารถซื้อหุ้นต่อจากรัฐบาลไทยที่ 1.3 เท่าของมูลค่ากิจการ แน่นอนว่าเจ้าของกิจการย่อมมองว่าอัตราส่วน 1.3 เท่าของกิจการถือว่าน้อยด้วยซ้ำ ถ้าหากธุรกิจมีศักยภาพแท้จริง และรัฐบาลก็จะมีกำไรนิดหน่อยและดีกว่าผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีที่รัฐบาลออกด้วย

ขณะที่หน้าที่หนักของรัฐบาลคือจะทำอย่างไรในการสร้างทีมที่สร้างระบบบัญชีและระบบภาษีให้ SME เหล่านี้ที่จะนำเม็ดเงินภาษีกลับเข้ามาให้รัฐบาล เมื่อจัดการระบบภาษีให้ดีแล้วหลังจากนี้รัฐบาลจะต้องเข้ามาตรวจสอบเป็นครั้งๆ ว่า SME เหล่านี้ยังทำตามมาตรฐานที่รัฐตั้งไว้หรือไม่

Phuket ภูเก็ต
ภาพจาก Shutterstock

ในวันที่ SME ล้ม ความเหลื่อมล้ำจะสูงขึ้น

ศุภวุฒิยังมองว่าท้ายที่สุดแล้ว SME จะต้องมีการควบรวมกิจการกัน และถ้าหาก SME ล้มตายก็อาจมีธุรกิจรายใหญ่มากวาดซื้อธุรกิจของ SME ไป ซึ่งเขาเองไม่อยากให้มีกรณีนี้เกิดขึ้น เพราะถ้ายังปล่อยไปแบบนี้เรื่อยๆ มีความเสี่ยงสูงว่าธุรกิจเหล่านี้จะล้มตาย ความเหลื่อมล้ำก็จะสูงขึ้นอีกมาก เพราะธุรกิจรายใหญ่ที่ได้กิจการของ SME ไปก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

แต่ก็จะมีบางกรณีที่ SME เองได้ขอสินเชื่อจากธนาคารเอง และดำเนินธุรกิจต่อไปไม่ไหว ธนาคารเองก็จำเป็นต้องยึดทรัพย์สินและหาผู้ซื้อ ขณะที่จุดท้ายสุดนั้นธนาคารก็ต้องขายสินทรัพย์ของ SME เหล่านี้ให้กับผู้ที่สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายใหญ่ และหน้าที่ของธนาคารคือระดมทุนเงินฝากเอามาปล่อยกู้

อย่างไรก็ดีศุภวุฒิได้ชี้ว่าตอนที่ธนาคารรอคนที่จะมาซื้อกิจการเหล่านี้ เศรษฐกิจแทบจะเดินหน้าไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะสินทรัพย์ที่เป็นธุรกิจของ SME จะโดนล็อกไว้เนื่องจากธนาคารยึดไปแล้ว

แล้วรัฐบาลถังแตกหรือไม่?

ศุภวุฒิได้ชี้ว่าการมองว่ารัฐบาลนั้นถังแตกนั้นไม่ใช่ เพรารัฐบาลมีอำนาจพิเศษกับเรานั่นคือการเก็บภาษี แถมรัฐบาลอมตะ สามารถเก็บภาษีได้ตลอดไป ทำให้รัฐบาลแทบจะไม่ต้องคืนหนี้เลย และผ่อนหนี้ได้ตลอด เขายังชี้ว่ารัฐบาลไทยไม่เคยลดปริมาณหนี้สาธารณะเลย ซึ่งวินัยทางการคลังคือหนี้สาธารณะต่อ GDP จะไม่สูง แต่ส่วนใหญ่หนี้สาธารณะมักจะสูงขึ้นตอนมีวิกฤติ

เขายังอธิบายเพิ่มว่า ถ้าจะรักษาวินัยทางการคลังได้ ขึ้นอยู่กับว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจมีการเพิ่มขึ้นของ GDP โตเร็วกว่าหนี้หรือไม่ ซึ่งของไทยหนี้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 เพิ่มขึ้นสูงถึง 60% แต่ 5 ปีต่อมาหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงมาเหลือ 50% อย่างไรก็ดีหลังวิกฤติ COVID-19 นั้นหนี้สาธารณะไทยหลังจากนี้จะขึ้นไปถึง 60% ต่อ GDP แน่นอนเพราะเศรษฐกิจไทย GDP ติดลบ เก็บภาษีไม่ได้ แถมยังต้องกู้มากระตุ้นเศรษฐกิจ 

แล้วถ้าหากในอนาคตไทยจะมีปัญหาด้านวินัยทางการคลังไหม เขาได้ตอบว่า “ไทยจะไม่มีปัญหานี้ ถ้ากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ”

Thailand Phuket 2020 ภูเก็ต
ภาพจาก Shutterstock

ออกพันธบัตร 2 ล้านล้านบาท

ศุภวุฒิได้เสนอให้รัฐบาลออกพันธบัตรมูลค่า 2 ล้านล้านบาทที่จะมาลงทุนกับ SME ที่ได้กล่าวไปในข้างต้น โดยพันธบัตรนี้จะมีอายุ 100 ปี และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ซื้อพันธบัตรทั้งหมด คิดดอกเบี้ยเพียงแค่ 0.01% โดยใช้มาตรฐานเดียวกับมาตรการเยียวยาของรัฐบาลในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลแทบไม่มีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยด้วยซ้ำ แถมถ้าหากเงินเฟ้อของไทยคิดเพียงแค่ 1-2% มูลค่าของพันธบัตรนี้ถือว่าน้อยมาก

ขณะเดียวกันศุภวุฒิยังชี้ว่าประเทศไทยของเรามีทุนสำรองจนล้น แต่คนก็กลัวคือเมื่อเราพิมพ์เงินออกมามากมายนั้นปัญหาที่ตามมาคือเงินเฟ้อ แต่ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยมาก และเงินเฟ้อฟื้นตัวไม่กลับมาด้วยซ้ำ ทั้งในโลกและในไทยเอง

ไม่เพียงแค่นั้นธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เองในช่วงที่ผ่านมาก็ได้พิมพ์เงินออกมาจำนวนมาก โดยเฉพาะธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ศุภวุฒิชี้ว่า “ญี่ปุ่นนั้นพิมพ์เงินออกมาแทบตาย พันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น 10 ปีซึ่งเป็นตัวเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวของญี่ปุ่นยังมีผลตอบแทนที่ 0% เท่านั้น ซึ่งจะเท่ากับว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกู้เงินฟรีๆ ด้วยซ้ำ” นอกจากนี้รวมไปถึงธนาคารกลางยุโรปก็เช่นกัน แถมยังมีอัตราดอกเบี้ยติดลบด้วยซ้ำ

เขายังชี้ว่าวิธีดังกล่าวข้างต้นยังจะช่วยแก้ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากเกินไปอีกด้วย โดยค่าเงินบาทแข็งค่ามา 20% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แถมค่าเงินบาทที่อ่อนลงจะยังช่วยภาคการส่งออกและเกษตรกรที่ส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาไทยสูญเสียศักยภาพในการส่งออกจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า

กรณีศึกษาของสหรัฐในการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ

ศุภวุฒิได้เล่าถึงกรณีศึกษาที่สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ในการซื้อสินทรัพย์ต่างๆ เช่น พันธบัตรต่างๆ ของรัฐและเอกชน ในการซื้อสินทรัพย์เช่นนี้ เป็นการทำให้ราคาสินทรัพย์สูงขึ้น เขากล่าวถึงกรณีราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเมื่อมีราคาสูง ผลตอบแทนก็ลดลง ทำให้นักลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ดีกว่า เช่น ไปซื้อหุ้นแทน แต่กรณีของการไปซื้อหุ้น นักลงทุนเองจะตัดสินใจว่าจะซื้ออนาคตของบริษัทอะไร กลายเป็นว่าตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาเองนั้นเป็นกลไกลในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เราจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาหุ้นเทคโนโลยีขึ้นมาสูงมาก เพราะเมื่อเวลาหุ้นตัวนั้นๆ ขึ้น นั่นคือเป็นตัวส่งสัญญาณว่าทรัพยากรอยู่ที่บริษัทนั้นๆ และบริษัทสามารถขยายธุรกิจต่อได้ ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มทุนเพื่อขยายกิจการต่อ อย่างกรณีของ Tesla ฯลฯ

ศุภวุฒิ ยังชี้ว่า “ที่สหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็นความจงใจหรือไม่ตั้งใจ ธนาคารกลางของสหรัฐให้ตลาดทุนเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน ขณะที่ประเทศไทยนั้นไม่มีเลย” นอกจากนี้เขาเองยังเสริมว่า สหรัฐเป็นประเทศที่ใหญ่ มีประชากรมากกว่าไทย 5 เท่า ขนะเดียวกันก็มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่อยู่ในระดับสูง สถานการณ์ย่ำแย่ แต่เราจะเห็นว่าตลาดหุ้นของสหรัฐกลับสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหุ้นไทย

เขายังได้กล่าวว่า “ถ้าเทียบกรณีสหรัฐกับไทยฉะนั้นแล้วตลาดหุ้นของไทยไม่มีศักยภาพในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย แถมเราไม่มีตัวชี้นำอะไรเลย ไม่รู้จะไปทางไหน ไม่รู้จะปรับโครงสร้างยังไง ทั้งๆที่ไทยนั้นผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่มีเลยอยู่ในขณะนี้” และเขายังมองว่าไม่อยากให้เรามานั่งเทียนกันเอง โดยมองว่า “ให้ SME เป็นตัวปรับระบบโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยเอง ซึ่งปัจจุบันไทยมีแต่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วคิดว่าเอกชนจะลงทุนไปด้วย”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ