วิเคราะห์ อนาคตฮ่องกง จากข้อกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ถึงความมั่นใจในเรื่องการทำธุรกิจ

มาทำความเข้าใจเรื่องข้อกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง ที่กลายเป็นชนวนที่ทำให้ประชาชนฮ่องกงออกมาต่อต้านถึงหลักล้านคน รวมไปถึงอนาคตของฮ่องกงหลังจากนี้

Hong Kong Protests
ภาพจาก Unsplash

หลังจากที่ แครี่ แลม ผู้ว่าการสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้ออกมาประกาศระงับการเสนอข้อกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้กับสภานิติบัญญัติของฮ่องกงอย่างไม่มีกำหนด ท่ามกลางแรงกดดันจากประชาชนชาวฮ่องกงที่เตรียมประท้วงอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ หลังจากเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมถึง 1 ล้านคน แม้ว่าตำรวจฮ่องกงจะรายงานว่ามีผู้ชุมนุมเพียงแค่ 2 แสนกว่ารายก็ตาม

แม้ว่าผู้ว่าการสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงจะระงับการเสนอกฏหมายนี้อีกก็ตาม แต่การชุมนุมล่าสุดในวันนี้ (วันอาทิตย์) ยังไม่จบ เนื่องจากผู้ที่ออกมาร่วมประท้วงต้องการที่จะให้ยกเลิกข้อกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนี้ รวมไปถึงความไม่พอใจ แครี่ แลม ด้วย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังกับฮ่องกงหลังจากนี้ไปอาจไม่เหมือนเดิมต่อไปแล้ว Brand Inside วิเคราะห์ถึงเรื่องราวจากนี้ของเกาะฮ่องกงซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งหนึ่งของเอเชีย และยังเป็นประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่

จุดเริ่มต้น

อย่างที่เราทราบกันว่าฮ่องกงในอดีตเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ต่อมาได้มีการเจรจาระหว่างจีนกับอังกฤษในปี 1984 ว่า อังกฤษจะคืนอธิปไตยเหนือฮ่องกงให้กับจีนในเดือนกรกฎาคม ปี 1997 ภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบอบ” หมายถึงว่า ฮ่องกงจะยังคงพัฒนาภายใต้ระบอบทุนนิยมได้ต่อ รวมไปถึงยังใช้กฏหมายพื้นฐาน (Basic law) และมีสิทธิอิสระในการปกครองตนเองอีก 50 ปี

หลังจากการคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนแล้ว เราจะเห็นว่าที่ผ่านมาจีนพยายามที่จะเข้ามาแสดงอำนาจในเกาะฮ่องกงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปี 2013 ถึง 2015 ที่จีนได้พยายามปฏิรูปการบริการฮ่องกง โดยผู้ว่าการสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงนั้นจะต้องมาจากการเลือกจากการเสนอชื่อจากฝั่งจีนก่อน เนื่องจากจีนต้องการผู้นำที่ขึ้นมาแล้วไม่ทำตัวปฏิปักษ์กับจีน แล้วประชาชนฮ่องกงค่อยเลือกแล้วให้จีนอนุมัติอีกรอบ ทำให้ประชาชนฮ่องกงแสดงความไม่พอใจ

หลังจากนั้นเริ่มมีการจัดการชุมนุมโดยผู้ที่รักประชาธิปไตยที่ไม่เห็นด้วยในช่วงวันที่ 22 กันยายน และท้ายที่สุดตำรวจฮ่องกงได้สลายการชุมนุมในวันที่ 4 ตุลาคม ซึ่งผู้ชุมนุมมาชุมนุมมากที่สุดหลักแสนคนในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม

นอกจากนี้ยังทำให้แกนนำในการชุมนุมโดนจำคุกด้วย

“ม็อบร่มเหลือง” ในปี 2015 – ภาพจาก Pixabay

ทำไมชาวฮ่องกงถึงออกมาประท้วงได้เยอะขนาดนี้

สาเหตุเริ่มต้นที่ทำให้ชาวฮ่องกงไม่พอใจคือ แครี่ แลม ผู้ว่าการสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้เตรียมที่จะเสนอข้อกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนฉบับใหม่ หลังจากมีคดีชาวฮ่องกงฆาตรกรรมที่ประเทศไต้หวันแล้วหนีกลับมาที่ฮ่องกง ที่ผ่านมาฮ่องกงไม่มีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน ไต้หวัน และมาเก๊า โดยฮ่องกงมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศอื่นๆ รวม 20 ประเทศ

สำหรับข้อกฎหมายนี้ผู้ว่าการสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงมองว่าจะแก้ปัญหาไม่ให้ฮ่องกงกลายเป็นสวรรค์ของเหล่าผู้ทำผิดกฎหมายแล้วใช้ฮ่องกงเป็นที่พำนัก แต่ข้อกฎหมายนี้จะทำให้จีนสามารถขอผู้ร้ายที่ทางการจีนต้องการตัวกลับไปยังที่จีน ซึ่งอย่างที่เราทราบกันว่าการพิจารณาคดีในจีนมักจะโดนซ้อมทรมาน หรือไม่ก็ผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของผู้ต้องหา เช่น การพบทนาย ฯลฯ แม้ว่ารัฐบาลฮ่องกงจะกล่าวว่ากฎหมายนี้จะพิจารณาคดีเป็นเรื่องๆ ไป ก็ตาม

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้นในฮ่องกง ทำให้ประชาชนนั้นแสดงความไม่พอใจออกมา ซึ่งการชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา สื่อต่างประเทศคาดว่ามีการชุมนุมของประชาชนมากถึงหลักล้านคน มากที่สุดตั้งแต่การส่งมอบเกาะฮ่องกงให้กับจีน (และมากกว่าม็อบร่มเหลืองด้วย) แม้ว่าตำรวจฮ่องกงจะประมาณผู้เข้าร่วมชุมนุมเพียงแค่ 240,000 คน

ผู้ว่าการสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเองยังได้กล่าวว่า “จะไม่มีทางยกเลิกการเสนอข้อกฎหมายนี้โดยเด็ดขาด” และยังได้กล่าวว่า “ประชาชนชาวฮ่องกงเข้าใจเรื่องข้อกฎหมายนี้แบบผิดๆ” และในวันพุธที่ผ่านมามีการใช้แก๊สน้ำตา ในการสลายผู้ชุมนุมด้วย โดยแก๊สน้ำตาที่ตำรวจฮ่องกงใช้สลายผู้ชุมนุมมากกว่าสมัยม็อบร่มเหลืองถึง 2 เท่า และจับผู้ชุมนุมไป 11 ราย

เมื่อวันเสาร์ (15 มิถุนายน) ที่ผ่านมา แครี่ แลม ได้ออกมาประกาศระงับการเสนอข้อกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้กับสภานิติบัญญัติของฮ่องกงอย่างไม่มีกำหนด แต่เธอได้กล่าวว่าจะปรับปรุงกฎหมายนี้ใหม่ด้วย และเธอยังได้เลี่ยงคำตอบเรื่องการลาออก

แต่ชาวฮ่องกงกลับไม่ถูกใจสิ่งนี้

Hong Kongers Protest Over China Extradition Law
HONG KONG, HONG KONG – JUNE 12: A protester makes a gesture during a protest on June 12, 2019 in Hong Kong China. Large crowds of protesters gathered in central Hong Kong as the city braced for another mass rally in a show of strength against the government over a divisive plan to allow extraditions to China. (Photo by Anthony Kwan/Getty Images)

ประชาชนยังออกมาอีก

ในวันนี้ (16 มิถุนายน) ผู้ชุมนุมได้ประกาศชุมนุมอีกครั้งและได้นัดแนะให้มีการแต่งชุดดำออกมา โดยสื่อต่างประเทศคาดว่าน่าจะมีจำนวนหลายแสนคน ขณะเดียวกันตำรวจฮ่องกงยังประมาณผู้ชุมนุมไว้เท่าเดิมที่ 240,000 คน สาหตุที่ยังมีผู้ชุมนุมออกมาจำนวนมากขนากนี้เนื่องจากไม่พอใจที่ แครี่ แลม ผู้ว่าการสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ไม่กล่าวขอโทษชางฮ่องกงจากการสลายการชุมนุมในวันพุธ และยังไม่ยกเลิกข้อกฎหมายอีกด้วย

หนังสือพิมพ์ People’s Daily ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ควบคุมโดยรัฐบาลจีน ได้แสดงความคิดเห็นว่า มีความพยายามที่จะแทรกแซงกิจการภายในของจีนและกิจการภายในฮ่องกง ขณะเดียวกัน Weibo ซึ่งเป็น Social Network ของจีนได้ปิดกั้นการค้นหาการชุมนุมของฮ่องกง โดยแสดงเพียงแค่ประกาศจากกระทรวงต่างประเทศจีนที่กล่าวว่าผู้ชุมนุมในฮ่องกงขัดขวางสันติภาพในฮ่องกง

ขณะเดียวกันยังมีข่าวว่า แครี่ แลม ถูกโดดเดี่ยวทางการเมืองมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่สมาชิกสภาของฮ่องกงที่สนับสนุนฝั่งจีนยังตีตัวออกห่างเธอด้วย

Hong Kongers Protest Over China Extradition Law
ภาพจาก Unspash

อนาคตของฮ่องกง ราคาที่จีนต้องจ่าย

สำหรับจีนแล้วในปัจจุบันถ้าหากจะใช้ไม้แข็งกับฮ่องกงเลย ยิ่งโดยเฉพาะสมัยของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง จะกลายเป็นว่าจีนต้องมีราคาจ่ายอย่างแพงสำหรับเรื่องนี้ เนื่องจากฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกแห่งหนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงมีขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก ขณะที่จีนพยายามผลักดันให้เซี่ยงไฮ้และปักกิ่งกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ ปัจจุบันจีนเองยังไม่ได้เปิดเสรีทางการเงินให้กับต่างประเทศ 100% เนื่องจากยังกลัวปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า รวมไปถึงจีนยังมีความกลัวตลาดหุ้นพังในปี 2015 ที่ยังตามหลอกหลอนจนถึงปัจจุบันอยู่

ขณะเดียวกันถ้าหากปล่อยให้ฮ่องกงดูเป็นอิสระมากเกินไป จีนก็กังวลว่าฮ่องกงจะเป็นเหมือนหอกข้างแคร่อันใหญ่ของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ยังมีธุรกิจจากต่างประเทศที่ลงหลักปักฐาน ซึ่งเชื่อมั่นใน Basic Law ของฮ่องกงที่มีมาอย่างยาวนานกดดันจีนด้านหลังอีก การประท้วงครั้งนี้จึงกลายเป็นการส่งสัญญาณให้กับจีนกลายๆ ว่า ถ้ายังใช้ไม้แข็งกับฮ่องกงอยู่ยิ่งจะลดบทบาทของฮ่องกงในโลกการเงินและเศรษฐกิจ และอาจรวมถึงจีนในอนาคตด้วย ขณะที่บทบาทของจีนกำลังพยายามที่จะต้อนรับเสรีทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้น

สำหรับอนาคตของ แครี่ แลม หลังจากที่เธอโดนโดดเดี่ยวอย่างที่กล่าวไปข้างต้น กรณีที่เลวร้ายที่สุดในเกมนี้เธออาจเป็นเหยื่อสังเวยให้กับข้อกฎหมายนี้แทน เพื่อที่จะลดแรงกดดันจากประชาชนชาวฮ่องกง

หลังจากนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะต้องคิดหนักมากขึ้นโดยเฉพาะอนาคตของฮ่องกง ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวที่เป็นหัวใจสำคัญของการชุมนุมหลังจากผ่านเหตุการณ์นี้ไปแล้วย่อมไม่เหมือนเดิม

Hong Kong Protests 2019
ภาพจาก Shutterstock

เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่านต่อ

  • หนังสือพิมพ์ LA Times – สำหรับการชุมนุมครั้งนี้แทบจะไม่มีแกนนำที่แท้จริงด้วยซ้ำ
  • Bloomberg – การชุมนุมครั้งนี้วางแผน และแก้ปัญหาการชุมนุมสมัยม็อบร่มเหลืองด้วย
  • SCMP – อัพเดตล่าสุด แครี่ แลม ออกมาขอโทษประชาชนแล้ว

อัพเดตล่าสุด 12/08/2019

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ