ศึกษาการทำตลาดของ Betagro ในยุคที่ขายแค่วัตถุดิบเฉยๆ อย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว

Betagro คือหนึ่งในยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหาร เพราทำตลาดเนื้อสัตว์หลากหลายทั้งใน และต่างประเทศ รวมถึงอาหารแปรรูปหลากรูปแบบด้วย แต่ถ้าอยู่ที่เดิมมันไม่ก็คงไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้ง่ายๆ

Betagro
ผลิตภัณฑ์ของ Betagro

ตลาดพรีเมียมช่วยสร้างความแตกต่าง

เมื่อปี 2561 ทาง Betagro เริ่มปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเองผ่านการเดินหน้าแคมเปญการตลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าแปรรูอย่างไส้กรอกระดับพรีเมียม รวมถึงเนื้อสัตว์ S-Pure ที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน NSF รายแรกของโลก ซึ่งทั้งสองตลาดที่ Betagro ทำนั้นมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด

สมศักดิ์ บุญลาภ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการกลุ่มอาหาร เครือเบทาโกร เล่าให้ฟังว่า การเดินเกมไส้กรอกระดับพรีเมียม พร้อมกับใช้พรีเซนเตอร์ช่วยให้ยอดขายส่วนสินค้าไส้กรอกนั้นเติบโต 10% โดยเฉพาะตัวสินค้าพรีเมียมนั้นเติบโตถึง 15% แต่สิ่งสำคัญคือมันช่วยสร้างคนรับประทานประจำสูงถึง 45% จากเดิม 17%

betagro
สมศักดิ์ บุญลาภ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการกลุ่มอาหาร เครือเบทาโกร

“ไม่ใช่แค่ตัวไส้กรอกพรีเมียม แต่การเร่งสร้างแบรนด์ S-Pure ก็ทำให้สินค้าหมู, ไก่ และไข่ภายใต้แบรนด์นี้เติบโต 17% ซึ่งมากกว่าตลาดเนื้อสัตว์ชนิดดังกล่าวในระดับพรีเมียมที่เติบโตเพียง 10% แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ที่ถูกต้องในการเดินหน้าสร้างแบรนด์ S-Pure เต็มกำลัง”

เดินกลยุทธ์เดิม แต่เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น

จากความสำเร็จในปี 2561 ทำให้ Betagro ยังเดินหน้ากลยุทธ์สินค้าระดับพรีเมียมในประเทศเช่นเดิม แต่มีสิ่งที่แตกต่างคือการพาสินค้าพรีเมียมเหล่านี้กระจายออกไปสู่ผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวไส้กรอกชีสหลากรสชาติ พร้อมกระจายไปยังร้านรถทอดไส้กรอกกว่า 1,500 คันเพื่อส่งมอบความอร่อยให้คนทุกระดับ

Betagro
ไก่ S-Pure ของ Betagro

ส่วนกลุ่มสินค้า S-Pure ก็จะเน้นทำตลาดในต่างจังหวัดมากขึ้นจากเดิมที่เน้นในกรุงเทพ และหัวเมืองใหญ่ ผ่านการต่อยอดจากแบรนด์ Betagro ที่เป็นที่รู้จัก และได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าบ้างแล้ว ที่สำคัญยังเตรียมลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนา และสร้างโรงงานใหม่ๆ เช่นกัน

นอกจากนี้ในตัวธุรกิจส่งออก Betagro ก็ยังไม่ทิ้ง เพราะในปีนี้ก็เตรียมแบ่งงบลงทุนโรงงานมา 600 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงาน “ยากิโทริ” หรือไก่ปิ้งเสียบไม้ย่างถ่าน เพราะตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการสูง รวมถึงการพัฒนาการตัดแต่งสินค้าให้เหมาะสมในตลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกาตาร์, บาห์เรน และฮ่องกงเป็นต้น

ยากิโทริ
ยากิโทริ หรือไก่เสียบไม้ย่างถ่าน // ภาพ pixabay.com

ภาพรวมตลาดยังโต-Trade War ยังไม่เกี่ยวมาก

ทั้งนี้ Betagro มองว่าภาพรวมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ รวมถึงสินค้าแปรรูปในประเทศไทยยังเติบโตได้ดี เพราะยังเป็นที่ต้องการสูง ในทางกลับกันการส่งออกก็ยังทำได้ดี แม้ว่าเศรษฐกิจ และการเมืองในระดับโลกจะยังไม่นิ่ง เนื่องจากมีความต้องการสูง โดยเฉพาะสินค้าแปรรูป ยิ่งไม่มีโรคระบาดก็ยิ่งไม่มีความเสี่ยง

“Betagro วางเป้ารายได้ปีนี้ไว้ 53,000 ล้านบาท เติบโต 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 49,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนหลักๆ ยังมาจากกลุ่มอาหารสด หรือคิดเป็น 60% รองลงมาเป็นอาหารแปรรูป 25%, ไข่ 9% และอาหารปรุงสำเร็จ 6% นอกจากนี้เรายังพัฒนาการบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้นอีกด้วย”

Betagro
ข้าวกะเพราไก่ของ Betagro

จากการเติบโตเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า Betagro เริ่มเดินมาถูกทาง เพราะเมื่อเลือกวางตัวเองเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียม ภาพลักษณ์การจดจำแบรนด์ของผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่แบรนด์ขายเนื้อสัตว์เดิมๆ อีกแล้ว ดังนั้นคงต้องมาดูกันว่า Betagro จะรักษาตำแหน่งนี้ และฝ่าฝันคู่แข่งทั้งใน และต่างประเทศได้อย่างไร

สรุป

เมื่อพูดถึงชื่อ Betagro หลายคนอาจเริ่มนึกถึงเนื้อสัตว์ S-Pure มาเป็นอย่างแรกๆ บ้างแล้ว เพราะการวางตำแหน่งสินค้าที่ชัด ประกอบกับการใช้สื่อต่างๆ ช่วยผลักดัน ก็ทำให้ Betagro เริ่มแตกต่างจากแบรนด์อื่น ส่วนในสินค้าไส้กรอกนั้นต้องยอมรับว่าหินจริงๆ เนื่องจากไม่ได้มีแค่พี่ใหญ่รายเดียว แต่มีคนอยู่ในตลาดนี้นับสิบ

ดังนั้นมันไม่ง่ายเลยที่ Betagro จะเข้าไปครองใจผู้บริโภคทุกคน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา