ชวนไปทำความรู้จักกับ Bernard Arnault เจ้าของแบรนด์เนมหรูในเครือ LVMH มหาเศรษฐีผู้รวยแซงหน้า Elon Musk และเป็นรองเพียง Jeff Bezos
ที่ผ่านมาหากพูดถึงมหาเศรษฐีระดับโลก เชื่อว่าหลายคนคงต้องนึกถึงนักธุรกิจ ผู้บริหาร หรือเจ้าบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่างแน่นอน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกประจำปี 2021 ของนิตยสาร Forbes พบว่ามหาเศรษฐี 10 อันดับแรก ล้วนแล้วแต่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีทั้งสิ้น
-
- Jeff Bezos (Amazon) ทรัพย์สินรวม 1.77 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Elon Musk (Tesla และ SpaceX) ทรัพย์สินรวม 1.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Bernard Arnault และครอบครัว (LVMH) ทรัพย์สินรวม 1.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Bill Gates (Microsoft) ทรัพย์สินรวม 1.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Mark Zuckerberg (Facebook) ทรัพย์สินรวม 9.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Warren Buffett (Berkshire Hathaway) ทรัพย์สินรวม 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Larry Ellison (Software) ทรัพย์สินรวม 9.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Larry Page (Google) ทรัพย์สินรวม 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Sergey Brin (Google) ทรัพย์สินรวม 8.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
- Mukesh Ambani (Diversified) ทรัพย์สินรวม 8.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
-
ปี 2021 โควิดไม่กระทบคนรวย มหาเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มนับร้อย: Jeff Bezos ครองแชมป์ 4 ปีซ้อน
แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่มหาเศรษฐีในสายเทคโนโลยีคนดังอย่าง Jeff Bezos หรือ Elon Musk ซึ่ง Brand Inside เคยนำเสนออยู่บ่อยครั้ง แต่เป็นมหาเศรษฐีเบอร์ 3 ของโลก อย่าง Bernard Arnault เจ้าของ LVMH บริษัทแม่ของแบรนด์เนมหรูระดับโลกอย่าง Louis Vuitton, TAG Heuer, Dior, Fendi, Rimowa และ Bvlgari เป็นต้น
แต่หากดูการจัดอันดับมหาเศรษฐีแบบ Real Time ของนิตยสาร Forbes จะพบว่าปัจจุบัน Bernard Arnault มีทรัพย์สินแซงหน้า Elon Musk ก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยปริมาณทรัพย์สินกว่า 1.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.78 ล้านล้านบาท
ทำความรู้จักกับ Bernard Arnault มหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์เนมหรูระดับโลก
Bernard Arnault ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น Chairman ของ LVMH บริษัทแม่เจ้าของแบรนด์เนมหรูชื่อดังกว่า 75 แบรนด์ ครอบคลุมทั้งสินค้าแฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง น้ำหอม นาฬิกา เครื่องประดับ ร้านค้ารีเทล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในเครือ LVMH เช่น Louis Vuitton, TAG Heuer, Dior, Fendi, Rimowa และ Bvlgari เป็นต้น
นอกจากอาณาจักร LVMH แล้ว Bernard Arnault ยังถือหุ้นของ Christian Dior อีก 97.5% และ Christian Dior ก็ถือหุ้นใน LVMH อีก 41.2%
แม้ว่า Bernard Arnault จะเป็นเจ้าของ LVMH ที่เป็นบริษัทแม่ของแบรนด์เนมหรูระดับโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Bernard Arnault จะเรียนจบด้านแฟชั่นมาโดยตรง เพราะเขาเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และเคยทำงานในบริษัทก่อสร้างของพ่อเขาเอง
หลังจากที่ Bernard Arnault ทำงานในบริษัทก่อสร้างของพ่อเขาเอง ในปี 1984 เขาก็หันมาทำธุรกิจเกี่ยวกับแฟชั่นและแบรนด์เนมอย่างเต็มตัว ด้วยการเข้าซื้อบริษัท Agache-Willot-Boussac ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ Christian Dior และห้างสรรพสินค้า Bon Marche ซึ่งในขณะนั้นกำลังมีสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ ในช่วงเวลาหลังจากนั้นเองเป้าหมายของ Bernard Arnault ไปไกลมากกว่าการเป็นเจ้าของแบรนด์หรูเนมเพียงแบรนด์เดียว เพราะเขาต้องการที่จะสร้างอาณาจักรแบรนด์เนมหรูที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในช่วงยุค 1980 เขาได้ทำการเข้าซื้อหุ้นของ LVMH ด้วยมูลค่ากว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และ Chairman ของ LVMH ตั้งแต่ปี 1989
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ขยายอาณาจักร ด้วยการทำงานของลูกๆ
นอกจากตัวของ Bernard Arnault เอง ลูกๆ ของเขา ก็เดินตามรอยพ่อ ด้วยการทำธุรกิจเกี่ยวกับแบรนด์เนมหรูเช่นเดียวกัน
Delphine Arnault ลูกสาวคนโต ที่เกิดจากภรรยาคนแรก ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งเป็น Executive Vice President ของ Louis Vuitton และมีการคาดการณ์กันว่า Delphine Arnault คนนี้เองจะเป็นผู้ที่สืบทอดอาณาจักร LVMH ต่อจากพ่อของเธอ
Antoine Arnault ผู้เป็นลูกชายคนเล็ก ที่เกิดจากภรรยาคนแรก ปัจจุบันเป็น CEO ของ Berluti แบรนด์เนมเสื้อผ้าผู้ชาย และ Chairman ของ Loro Piana ซึ่งทั้งสองแบรนด์นี้ก็อยู่ในเครือ LVMH เช่นเดียวกัน
Alexandre Arnault ลูกชายที่เกิดจากภรรยาคนปัจจุบัน เป็น CEO ของ Rimowa แบรนด์กระเป๋าเดินทางราคาแพงในเครือ LVMH รวมถึงเป็นผู้บริหารด้านผลิตภัณฑ์และการสื่อสารของ Tiffany & Co. หลังจากที่ถูก LVMH เข้าซื้อเมื่อปีที่ผ่านมา
เป็นคู่แข่งกับ Kering อีกหนึ่งอาณาจักรแบรนด์เนมหรู
แน่นอนกว่าการทำธุรกิจไม่ว่าจะประเภทใดก็ต้องมีคู่แข่งที่อยู่ในวงการเดียวกันเป็นธรรมดา ในกรณีของ Bernard Arnault ผู้เป็นเจ้าของ LVMH มีคู่แข่งคนสำคัญคือ Francois Pinault ซึ่งเป็นเจ้าของ Kering บริษัทแม่เจ้าของแบรนด์เนมหลายแบรนด์ เช่น Gucci, Yves St. Laurent, Bottega Veneta, Balenciaga และ Alexander McQueen เป็นต้น
การแข่งขันระหว่าง LVMH นับว่าดุเดือดเป็นอย่างมาก เพราะ LVMH เคยพยายามเข้าซื้อหุ้นของ Gucci ในปี 1999 แต่ความพยายามนี้ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Francois Pinault ที่สามารถเข้าซื้อ Gucci ได้สำเร็จ
ความสำเร็จในการขยายอาณาจักร LVMH ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา นอกจากมูลค่าของบริษัท ชื่อเสียง และภาพลักษณ์แบรนด์เนมหรูที่สื่อออกไปแล้ว ยังมีคำชื่นชมจากคนดังหลายคนทั่วโลกอีกด้วย
ครั้งหนึ่ง Steve Jobs อดีต CEO ผู้ล่วงลับของ Apple เคยคุยกับ Bernard Arnault ว่า “ผมไม่รู้หรอกว่าในอีก 50 ปีข้างหน้าโทรศัพท์ iPhone ของผมจะยังประสบความสำเร็จอยู่หรือเปล่า รู้แต่ว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า คนก็จะยังดื่ม Dom Pérignon ของคุณอยู่เหมือนเดิม”
หมายเหตุ Dom Pérignon เป็นหนึ่งในธุรกิจในเครือ LVMH เช่นเดียวกัน
ที่มา – Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา