ด้วยสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และปัจจัยลบอื่นๆ ทั้งในไทย รวมถึงระดับโลก ต่างทำให้กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์หรูปวดขมับไปตามๆ กันเพราะก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าการจำหน่ายรถหรูในประเทศไทยจะมีถึง 22,000 คัน แต่นี่จะปลายปีแล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะถึง 20,000 คัน ลองมาฟังจากปากผู้บริหารเมอร์เซเดส–เบนซ์ ประเทศไทย ว่าปีนี้จะจบอย่างไร แล้วปีหน้าจะมีสัญญาณอะไรบ้าง
ฟันธงปีนี้ได้แค่ 20,000 คันยังเหนื่อย
ไมเคิล เกรเว่ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส–เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ย้ำว่า ปกติแล้วช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปีจะเป็นเวลาที่การจำหน่ายรถยนต์หรูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจทั้งในไทย และต่างประเทศชะลอตัว กลุ่มผู้ซื้อก็เลือกที่จะไม่ใช้เงิน จนการจำหน่ายรถยนต์หรูในประเทศไทยที่คาดการณ์กันไว้ที่ 22,000 คัน อาจไม่ถึง และมีความเป็นไปได้สูงที่จะอยู่ราว 20,000 คัน หรือต่ำกว่านั้น 12 – 15% แต่ถึงตลาดหดตัว บริษัทก็ยังคงเป็นเบอร์หนึ่งในการจำหน่ายรถยนต์หรูในประเทศไทย และในปีหน้าก็ยังคงเป้าหมายนั้นไว้เหมือนเดิม
“ตอนนี้มองปีหน้าว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้น หลังจากสภาพเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ดีขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นถ้าไม่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน รถยนต์หรูน่าจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง และทางเบนซ์ก็ยังคงเป้าหมายเรื่องเบอร์หนึ่งรถยนต์หรูไว้เช่นเดิม ผ่านการใช้เรื่องโปรดักต์ที่แตกต่างเป็นตัวนำตลาด ไม่ว่าจะเป็น Compact Car, Contemporary Luxury, Dream Car และ SUV รวมถึงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) ที่ได้ความสนใจมากกว่าตลาดเยอรมันเสียอีก”
เดินเกมรถผลิตไทยต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันการทำตลาดรถยนต์หรูด้วยการนำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบในประเทศไทย ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างฐานผู้ใช้งานเบนซ์ให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ผ่านการใช้พาร์ทเนอร์ ธนบุรีประกอบยนต์ (TAAP) ที่ช่วยประกอบรถยนต์ในประเทศไทยขายมาตั้งแต่ปี 2522 หรือ 37 ปี และประกอบรถยนต์ออกมาจำหน่ายในตลาดไทยแล้ว 1 แสนคัน โดยเฉพาะปีนี้ประกอบไป 9,000 คัน ประกอบด้วยรถยนต์ 8 รุ่นหลัก กับ 16 รุ่นย่อย จากทั้งหมดที่เบนซ์ทำตลาดในระดับโลกกว่า 30 รุ่น นอกจากนี้เพื่อรองรับความต้องการในตลาด ยังมีแผนขยายโรงงานผลิตให้ใหญ่กว่าเดิม จากที่มีพื้นที่ 1.35 แสนตร.ม.
สำหรับการประกอบรถยนต์ภายในประเทศไทยของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ จะใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยเกิน 40% ตามข้อตกลง และการประกอบนั้นไม่ได้ทำเพื่อส่งออก แต่มีวัตถุประสงค์จะหน่ายในประเทศไทยเท่านั้น เพราะในภูมิภาคนี้ยังมีโรงงานในอินโดนีเซีย, เวียดนาม รวมถึงอินเดียอยู่แล้ว จากโรงงานทั้งหมดที่กระจายอยู่ทั่วโลก 28 แห่ง และยังต่อสัญญากับ TAAP ไปอีก 12 ปี หรือ 2 รุ่นการผลิต เพื่อให้การทำตลาดรถยนต์ประกอบในประเทศไทยเป็นไปได้อย่างยั่งยืน และสร้างยอดจำหน่ายให้กับบริษัทเติบโต ผ่านสัดส่วน 2 ใน 3 ของยอดขายในประเทศไทยทั้งหมดด้วย
EV ต้องรอรัฐบาล ส่วน Luxury Pickup ไม่มีแผน
ไมเคิล เล่าให้ฟังต่อว่า ตัวรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือ EV เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น การสนับสนุนโดยภาครัฐ รวมถึงการสร้างมาตรฐานกลางของรถยนต์เป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุด เพราะถ้าไม่เกิดสถานีชาร์จอย่างเป็นรูปธรรม ก็เสี่ยงที่ EV จะวิ่งได้แค่ระยะทางสั้นๆ นอกจากนี้ตัวปลั๊กเสียบชาร์จรถยนต์ค่ายต่างๆ ก็ยังแตกต่างกัน ที่สำคัญประเทศไทยก็มีโอกาสเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ได้ แต่ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นต้องเกิดขึ้นครบก่อน
ส่วนแผนการนำเข้า Luxury Pickup ในตระกูล X Class เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนั้น ตอนนี้ยังไม่มีแผน ส่วนเรื่องอนาคตยังไม่สามารถตอบได้เช่นกัน
สรุป
บริษัทรถคงมองกันไปถึงปี 2560 แล้ว เพราะปีนี้วิกฤติหนักจริงๆ แต่ถ้ามองไปที่กลุ่มรถยนต์หรูแล้ว โอกาสที่ตลาดจะฟื้นตัวกลับมาก็คงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะกลุ่มซื้อรถหรูก็มีคนที่เศรษฐกิจซบยังไงก็ไม่กระทบอยู่แล้ว ดังนั้นคงลุ้นแค่ชนชั้นกลาง หรือกลางบน ที่ถ้าเศรษฐกิจดี พวกเขาก็น่าจะยกระดับชีวิตตัวเองกันบ้าง
ส่วนเรื่อง X Class ใครอยากได้ก็เตรียมติดต่อ Grey Market ไว้เลยนะครับ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา