SCB EIC เปิดค่าใช้จ่ายคนโสดในไทย “ใช้จ่ายเยอะ-สินทรัพย์น้อย-เที่ยวเก่ง”

ลองมาดูกันว่า คนโสด เขาใช้เงินกันแบบไหน มีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนมีครอบครัวด้านไหนบ้าง?

Laughing Korean girls in the shopping mall

เมื่อคนไทยเป็นโสดมากขึ้น ยอดจดทะเบียนสมรสต่ำ-ยอดหย่าสูงขึ้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ (SCB EIC) บอกว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นโสดมากขึ้น โดยช่วง 2550-2560 มีประชากรเพิ่มขึ้น 3 ล้านคน แต่การแต่งงานลดลงโดยการหย่าร้างเพิ่มขึ้น เห็นได้้จากข้อมูลกรมการปกครองพบว่า คนไทยจดทะเบียนสมรสในปี 2560 อยู่ที่ 2.98 แสนคู่ ลดลง 5.1% จากปี 2550 ที่อยู่ 5.5 แสนคู่ ในขณะที่จำนวนการจดทะเบียนหย่าอยู่ที่ 1.22 แสนคู่ เพิ่มขึ้น 19.7% จากปี 2550 ที่อยู่ 1.02 แสนคู่

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละภูมิภาคพบว่า การจดทะเบียนสมรสในภาคเหนือ ใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือลดลง แต่กรุงเทพฯ และภาคกลางจำนวนสูงขึ้น ในขณะที่จำนวนการจดทะเบียนหย่าเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค

Photo : Shutterstock

คนโสดไทย “ใช้จ่ายเยอะ-สินทรัพย์น้อย-เที่ยวเก่ง”

ทั้งนี้ SCB EIC วิเคราะห์ข้อมูลการใช้จ่ายและทรัพย์สินของคนมีครอบครัว และคนโสด (คนที่อายุ 20 ปีขึ้นไปซึ่งสามารถจดทะเบียนสมรถได้และนับรวมกลุ่มคนที่หย่าแล้ว) และมีความแตกต่างหลายด้าน ได้แก่

  1. คนโสดใช้จ่ายเพื่อบริโภคมากกว่า แต่มีทรัพย์สินน้อยกว่าคนมีครอบครัว ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2561 พบว่าคนโสดมีรายจ่ายเพื่อบริโภค (กิน ใช้ ช้อปปิ้ง ฯลฯ) มากกว่าคนมีครอบครัวเฉลี่ย 11%
    ในขณะที่คนมีครอบครัวมีสัดส่วนรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้สูงกว่า ทำให้กลุ่มนี้มีภาระรายจ่ายสูงกว่าคนโสด
  2. คนโสดเป็นเจ้าของบ้านและรถน้อยกว่าคนมีครอบครัวในทุกกลุ่มอายุ เช่น คนโสดอายุ 31-35 ปี มีแค่ 18% ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ส่วนคนมีครอบครัวที่อายุเท่ากันเป็นเจ้าของบ้านอยู่ที่ 51% แต่ทั้ง 2 กลุ่มเมื่ออายุมากขึ้นมีสัดส่วนการเป็นเจ้าของบ้านและรถมากขึ้น
  3. คนโสดใช้จ่ายมากกว่าในหมวดทานอาหารนอกบ้าน-การท่องเที่ยว คนโสดใช้จ่ายด้านอาหารมากกว่าคนมีครอบครัว 12% เพราะจากค่าใช้จ่ายอาหาร 100% คนโสดจ่ายเงินครึ่งหนึ่งไปกับการกินอาหารนอกบ้าน ส่วนคนมีครอบครัวใช้จ่ายเพื่อกินข้าวนอกบ้าน 1 ใน 3 ของรายจ่ายด้านอาหาร
    นอกจากนี้ถ้าดูค่าใช้จ่ายหมวดการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ คนโสดใช้จ่ายมากกว่าคนมีีครอบครัวถึง 40%

สรุป

แม้ว่าข้อมูลการวิเคราะห์ครั้งนี้จะเจาะเรื่องการใช้จ่าย การบริโภของคนโสด แต่จริงๆ แล้วกลุ่มคนโสดอาจมีค่าใช้จ่ายมีภาระในด้านอื่นๆ เช่น การดูแลพ่อแม่ การลงทุนหรือวางแผนการเงินเตรียมเกษียณเมื่อต้องเป็นโสด ฯลฯ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง