เผยกลยุทธ์ BEC-TERO Radio ทำวิทยุให้อยู่รอด ต้องไฮบริดออนไลน์ กับออฟไลน์

ก้าวสู่ปีที่ 17 ของ BEC-TERO Radio ในการทำสื่อวิทยุในประเทศไทย แม้จะอยู่ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามา Disrupt แต่ก็ยังไปต่อได้ด้วยกลยุทธ์การผนึกสถานีออฟไลน์ และออนไลน์เข้าด้วยกัน แถมเจาะกลุ่มเป้าหมายแต่ละเซ็กเมนต์ได้อีก

ทำวิทยุไม่หยุดแค่บนหน้าปัด เปิดสถานีออนไลน์เจาะตามเซ็กเมนต์

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้มีเรื่องราวมากมายในวงการสื่อที่โดนอิทธิพลจากสื่อดิจิทัล ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป สื่อวิทยุก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้รับผลกระทบ ได้เห็นข่าวน่าตกใจของการปิดตัวของสถานีวิทยุรายใหญ่อยู่ไม่น้อย

BEC-TERO Radio เป็นผู้บริหารคลื่นวิทยุรายใหญ่อีกรายในไทย เริ่มต้นจากการมีสถานีที่เป็นคลื่นเอฟเอ็ม แต่ด้วยยุคสมัยเปลี่ยนจำเป็นต้องมีคลื่นออนไลน์มาเสริมทัพ เป็นการฟังผ่านเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น

ได้เริ่มต้นทำคลื่นออนไลน์ตั้งแต่ปี 2014 ทำรวดเดียว 3 คลื่นได้แก่ Rad Radio, Rock on Radio และ Tofu Pop Radio และภายหลังได้เพิ่ม STAR FM มาอีกหนึ่งคลื่น กลยุทธ์สำคัญการกำหนดคาแรคเตอร์ของคลื่นชัดเจนว่าเปิดเพลงแนวไหน ทำให้กลุ่มเป้าหมายชัด

ทำให้ปัจจุบัน BEC-TERO Radio ให้บริการรายการวิทยุ 6 คลื่น ได้แก่ คลื่นเอฟเอ็ม จำนวน 2 คลื่น และคลื่นออนไลน์ จำนวน 4 คลื่น

  1. HITZ 955 คลื่นเพลงฮิตโดยส่วนใหญ่เป็นเพลงไทย 85% เพลงสากล 10% และเพลงเกาหลี 5% จับกลุ่มเป้าหมายวัยทำงาน และวัยรุ่น
  2. Eazy FM 105.5 คลื่นเพลงสากลแบบ Easy Listening
  3. STAR FM – www.stamfmthailand.com คลื่นออนไลน์ที่ชูจุดเด่นว่าไม่เปิดเพลงซ้ำใน 24 ชั่วโมง
  4. Rad Radio – www.radradio.fm เน้นเพลงแดนซ์ EDM
  5. Rock on Radio – www.rockonradio.fm เน้นเพลงร็อค
  6. Tofu Pop Radio – www.tofupopradio.fm เน้นเพลงเอเชี่ยน เกาหลี

ตอนนี้มียอดฟังจากออนไลน์เติบโตในทุกคลื่น และมีผู้ฟังรวมทุกคลื่นกว่า 8 ล้านครั้ง/เดือน แบ่งเป็น HITZ 4 ล้านครั้ง Eazy FM 2 ล้านครั้ง STAR FM 5 แสนครั้ง Rad Radio 1.4 แสนครั้ง Rock on Radio 6.4 หมื่นครั้ง และ Tofu Pop Radio 1.1 แสนครั้ง

ลีน่า-ลาวัณย์ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มธุรกิจเรดิโอ บริษัท บีอีซีเทโร เรดิโอ จำกัด เล่าว่า

เราต้องทำวิทยุให้เป็นมากกว่าวิทยุ เริ่มทำคลื่นออนไลน์เพราะมองเห็นโอกาสในตลาด อยากสร้างคอมมูนิตี้ในการฟังเพลง และตลาดยังไม่มีใครทำคลื่นที่เจาะเฉพาะเพลงร็อคอย่างเดียว เป็นการเจาะแต่ละเซ็กเมนต์ไป ยุคนี้ต้องมีทั้งออนไลน์ และออฟไลน์มาเสริมกัน อยู่แค่ที่ใดที่หนึ่งไม่ได้

ดีเจต้องครบเครื่อง ทำคอนเทนต์ได้ด้วย

ดีเจก็เป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำวิทยุผู้ฟังจะฟังทั้งเพลง และดีเจด้วย ลีน่าก็ได้บอกว่ามีการทำผลสำรวจอยู่ตลอดบางคลื่นคนก็ชอบฟังดีเจ พูดบางคลื่นก็ไม่ชอบฟังเยอะ แต่ก็อยู่ที่คอนเทนต์ในการพูดด้วย

สำหรับ BEC-TERO Radio จะเรียกดีเจว่าพรีเซ็นเตอร์ปัจจุบันมีรวมเกือบ 20 คน ในการสรรหาดีเจจะมีการทำ DJ Search

ลีน่าให้เหตุผลว่ายุคนี้ดีเจต้องครบเครื่องสามารถทำคอนเทนต์ได้ รอบรู้ ทำได้ทุกแพลตฟอร์ม เป็นพิธีกรได้ ไลฟ์สดได้ ต้องเป็นเหมือนพรีเซ็นเตอร์ให้กับคลื่น

ทำโฆษณาให้ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์ม

ในยุคที่เม็ดเงินโฆษณาไม่ค่อยกระเด็นมาทางสื่อสิทยุเท่าไหร่นักแต่ก็ใช่ว่าไม่มีการเติบโตยังมีแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับวิทยุอยู่ยิ่งในต่างจังหวัดจะเห็นว่าคนยังฟังวิทยุอยู่

ถึงแม้เม็ดเงินจะไม่เพิ่มเท่าไหร่ แต่อัตราค่าโฆษณาก็ไม่ได้ลดลง ลีน่าบอกว่ายุคนี้ต้องเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับลูกค้า ทำการวางแผนในการทำโฆษณา ไม่ใช่แค่วางตารางเรทโฆษณาแล้วจิ้มมาก็จบ แต่สามารถทำเป็นแพ็คเกจให้ครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มได้ เจะากลุ่มเป้าหมายตามคลื่นได้

รายได้หลักของวิทยุยังมาจากโฆษณาอยู่ แต่วิธีการสื่อสารจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่มีแค่สปอตโฆษณา แต่ต้องพยายามช่วยทำโฆษณาให้เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ทำให้สนุกมากขึ้น ยิ่งมีหลายแพลตฟอร์มยิ่งทำเป็นแพ็คเกจให้ลูกค้าได้ ลงในวิทยุด้วย เฟซบุ๊กด้วย อีเวนต์ด้วย และข้อดีของการลงโฆษณาในวิทยุก็คือไม่สามารถข้ามโฆษณาได้เหมือนอย่างบนออนไลน์

วิทยุยังไม่ตาย เป็นสื่อที่ Interactive กับผู้ฟังได้

มาถึงประเด็นที่ว่าวิทยุจะตายหรือไม่และจะบริหารให้อยู่รอดต่อไปอย่างไรในภาวะที่ถูกดิจิทัลเข้ามา Disrupt จนตอนนี้เหลือคลื่นวิทยุอยู่รวม 40 คลื่น ซึ่งทางลีน่าที่อยู่ในวงการวิทยุมา 30 ปีได้มองว่า ยังไงวิทยุก็ไม่ตาย ยังคงมีเสน่ห์ที่ทำให้คนฟังอยู่ก็คือการที่สามาระ Interactive กันได้ เป็นเหมือน Two Way Communication

จากการที่อยู่ในวงการมา 30 ปี เริ่มจากเป็นดีเจจนมาเป็น GM วิวัฒนาการที่สำคัญคือเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ดีเจคนหนึ่งจะไม่ใช่แค่ดีเจ ต้องครบวงจรต้องทำอะไรเพิ่มขึ้น มีแพลตฟอร์มที่ชัดขึ้น ต้องตามใจคนฟังมากขึ้น จะเปิดเพลงตามดีเจไม่ได้แล้ว มีการแบ่งคอมมูนิตี้ชัดเจน

วิทยุยังมีอยู่ตลอดเวลา สมัยที่มีวอล์คแมน หรือ iPod ก็คิดว่าวิทยุต้องตายแน่ๆ มาถึงยุคนี้ที่มีแอพพลิเคชั่นสตรีมมิ่งเพลง แต่วิทยุก็ยังอยู่ได้ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เสน่ห์ของมันคือเรียลไทม์ เข้าถึงง่าย และสามารถฟังไปด้วยพร้อมกับทำอย่างอื่นไปพร้อมกันได้ ไม่เหมือนทีวีที่ต้องใช้ตามอง

แต่ก็พบว่ามีกรณีศึกษาในต่างประเทศที่มองการมาของออนไลน์เป็นศัตรูจนไม่พัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองทำให้ปิดกิจการไปอยู่เหมือนกันแต่ต้องอย่ามองออนไลน์เป็นศัตรูต้องทำควบคู่กันถึงจะอยู่รอด

สรุป

แม้สื่อวิทยุจะร้อนๆ หนาวๆ มาหลายปี มีการล้มหายตายจากไปเยอะ แต่ผู้ที่จะอยู่รอดในอุตสาหกรรมได้คือคนที่พัฒนา และปรับตัวตามสถานการณ์ การที่ BEC-TERO Radio ก้าวสู่คลื่นออนไลน์และทำควบคู่กัน ทำให้วิทยุยังเติบโตได้ เพราะอย่างไรแล้วก็ยังมีคนฟัง มีเสน่ห์ในตัวของมันอยู่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา