สตาร์ทอัพในสหรัฐฯ คิดค้นกาแฟที่ไม่ใช้เมล็ดกาแฟ ลดการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อหาพื้นที่เพาะปลูก

ปลอมเพราะรักษ์โลก นวัตกรรมใหม่จากสหรัฐอเมริกา กาแฟที่ไม่ต้องใช้เมล็ดกาแฟแต่มีรสชาติเหมือนของจริง เริ่มที่เอสเพรสโซ่ก่อน

Atomo Coffee บริษัทสตาร์ทอัพจากเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ได้คิดค้นการทำกาแฟด้วยส่วนผสมอื่น ๆ หลายอย่างแทนเมล็ดกาแฟ ได้แก่ เมล็ดอิทผลัม (Date Seed) เมล็ด Ramon ซึ่งเป็นเมล็ดของต้นไม้ในป่าแถบลาตินอเมริกา สารสกัดเมล็ดทานตะวัน ฟรัคโตส โปรตีนถั่ว ข้าวเดือย เลม่อน ฝรั่ง เมล็ดลูกซัดที่สกัดไขมันออก พร้อมคาเฟอีนและเบกกิ้งโซดา โดยนำส่วนผสมมาบดรวมกันให้มีลักษณะคล้ายผงโกโก้ จะได้รสชาติเหมือนดาร์กช็อกโกแลต ผลไม้อบแห้ง และแครกเกอร์

แนวคิดของการทำกาแฟที่ไม่ใช้เมล็ดกาแฟมาจากกระบวนการปลูกกาแฟที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มจากที่อากาศร้อนขึ้น ผู้ที่เพาะปลูกกาแฟพันธุ์ที่เปราะบางเป็นพิเศษก็จะต้องหาพื้นที่เพาะปลูกใหม่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าเดิมเพื่อให้เหมาะกับการเติบโตของต้นกาแฟซึ่งรวมถึงการทิ้งพื้นที่เพาะปลูกเดิม ถางที่ใหม่ที่เคยเป็นป่ามาก่อน การตัดไม้ทำลายป่าที่เกิดขึ้นก็ทำให้สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงเป็นวงเวียนนี้ต่อไปเรื่อย ๆ 

เว็บไซต์ของ Atomo Coffee เผยว่าที่เลือกส่วนผสมที่กล่าวไปมาใช้แทนเมล็ดกาแฟเป็นเพราะว่ามีรสชาติคล้ายกาแฟและการผลิตส่วนผสมนี้ไม่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าและ Food Waste ที่มีปริมาณมาก

เมล็ดของอิทผลัมเป็นผลพลอยได้ที่มีอยู่มากมายจากอุตสาหกรรมอินทผลัมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนถั่วและลูกเดือยสามารถทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งและเติบโตได้ดี แม้ว่าจะยังไม่มีสถิติที่แสดงให้เห็นว่ากาแฟทางเลือกของ Atomo Coffee มีผลดีกับสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง แต่มีรายงานว่า กาแฟ Cold Brew กระป๋องที่บริษัทเริ่มขายไปเมื่อปีที่แล้วที่ใช้แนวคิดแบบเดียวกัน ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตน้อยลง 93% และใช้น้ำน้อยกว่าการทำกาแฟดั้งเดิม 94%

ปัจจุบัน กาแฟทางเลือกของ Atomo Coffee มีขายที่เดียวที่ Gumption Coffee ร้านกาแฟจากออสเตรเลียที่มีสาขาอยู่ที่ Time Square ในนิวยอร์ก ลูกค้าสามารถสั่งเครื่องดื่มที่มีเอสเพรสโซ่เป็นส่วนผสมโดยใช้ผงกาแฟทางเลือกนี้ได้เฉพาะวันอังคาร ที่ร้านเรียกว่า Atomo Tuesdays แม้ว่าบริษัทจะเริ่มผลิตผงเอสเพรสโซ่แบบธรรมดาและไม่มีคาเฟอีนในรูปแบบบรรจุถุงแต่ผู้บริโภคยังไม่สามารถซื้อกลับไปชงเองที่บ้านได้

ที่มา – Atomo Coffee, Extreme Tech

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา