ความยั่งยืน กลายเป็นสิ่งที่หลายคนสามารถจับต้องได้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัญหาที่เรากำลังเจออยู่รอบตัวเป็นของจริง ทั้งสภาวะโลกร้อน ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้นการจะจัดการเรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันและทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด เพื่อสร้างแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง
สำหรับภาคธุรกิจ แนวทางเพื่อความยั่งยืน คือ ESG: Environmental, Social และ Governance หลายองค์กรกำลังปรับเปลี่ยนการทำงานให้เป็นไปในทิศทางนี้ เพื่อเป้าหมายในอนาคต รวมถึง Beacon VC บริษัทเงินร่วมทุนของธนาคารกสิกรไทย ที่ลงทุนเชิงกลยุทธ์เพื่อต่อยอดการดำเนินงานเชิงเทคโนโลยีของธนาคาร ก็จัดตั้งกองทุน Beacon Impact Fund ขึ้นเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีเป้าหมายในการสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืน วัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีศักยภาพที่จะสามารถขยายผลในวงกว้าง
ลงทุน 5 โครงการ ตอกย้ำเป้าหมายสร้างระบบนิเวศ Climate Tech เพื่อความยั่งยืน
ธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด หรือ k Bank บอกว่า Beacon VC ได้จัดตั้งกองทุน Beacon Impact Fund ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2566 ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 1,200 ล้านบาทหรือประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และพร้อมจะขยายเงินลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปีหากมีโครงการที่เหมาะสม
โดยเป้าหมายสำคัญของกองทุน Beacon Impact Fund จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีเป้าหมายในการสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยั่งยืน วัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีศักยภาพที่จะสามารถขยายผลในวงกว้าง ซึ่งเป็นไปตามตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
สำหรับปี 2567 Beacon VC ได้ประกาศลงทุนเชิงกลยุทธ์ 5 โครงการผ่านกองทุน Beacon Impact Fund โดยมียอดเงินลงทุนแล้วกว่า 13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 455 ล้านบาท และไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ได้ขยายผลไปยังตลาดภูมิภาคอื่นๆ
เดินหน้า 5 โครงการ ย้ำเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน-ลงทุนในเอเชียใต้ครั้งแรก
สำหรับ 5 โครงการที่ Beacon VC มีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ผ่านกองทุน Beacon Impact Fund ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการลงทุนกับสตาร์ทอัพในหลากหลายประเทศ และที่สำคัญมีการลงทุนครั้งแรกในเอเชียใต้ คือ อินเดีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีการเติบโตเร็วที่สุด โดยมีรายละเอียดดังนี้
Neutreeno สตาร์ทอัพจากสหราชอาณาจักรที่มุ่งเน้นการช่วยองค์กรทั่วโลกติดตามและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 ซึ่งครอบคลุมการปล่อยก๊าซจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยเฉพาะ โซลูชันของ Neutreeno ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรทุกขนาดบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ
PlanetFWD แพลตฟอร์มเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาที่ช่วยเจ้าของผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภควิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละสินค้า (SKU) ผ่านกระบวนการ Life Cycle Assessment (LCA) ช่วยให้ผู้ผลิตบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิผล
Majoo สตาร์ทอัพอินโดนีเซียที่นำเสนอแพลตฟอร์มการบริหารจัดการธุรกิจแบบครบวงจรสำหรับวิสาหกิจรายย่อย ขนาดย่อมและขนาดกลาง (MSMEs) ช่วยให้ผู้ประกอบการในอินโดนีเซียปรับปรุงกระบวนการทำงาน เข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจได้มากขึ้น
Avaana Capital กองทุน VC ด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย มุ่งเน้นการลงทุนในเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ประเทศอินเดียมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การร่วมทุนจะทำให้ Beacon VC ขยายขอบเขตการลงทุนไปตลาดในอินเดีย หนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด เพิ่มความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาพลังงานสะอาด การคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเกษตรแบบยั่งยืน
ION Energy สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ที่มุ่งเน้นการเข้าถึงพลังงานสะอาดแบบครบวงจรได้ง่ายขึ้น โดยนำเสนอโซลูชั่นโซลาร์เซลล์ ทั้งการลงทุนติดตั้งโซลาร์ฟรีผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้า การรับเหมาและติดตั้งแผงโซลาร์สำหรับที่อยู่อาศัยและการพาณิชย์ รวมถึงพัฒนา Application สำหรับการบริหาร ติดตาม การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และการชำระเงินออนไลน์
สนับสนุนหลากหลายโครงการเพื่อสร้างความยั่งยืน
ในส่วนภาพรวมการลงทุนของกองทุน Beacon Impact Fund เน้นลงทุนในกลุ่มนวัตกรรมที่มีความสำคัญด้าน ESG อาทิ นวัตกรรมเพื่อการลดการปล่อยคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ (Decarbonization) เทคโนโลยีที่ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม (Climate Tech) และการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion)
นอกจากการลงทุนแล้ว Beacon VC ยังสนับสนุนความยั่งยืนผ่านโครงการต่างๆ เช่น การลงนามบันทึกข้อตกลงกับสถาบันเพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโลก ประจำประเทศไทย (GGGI) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และเตรียมความพร้อมให้สตาร์ทอัพด้วยการจัดกิจกรรม Climate Tech Connect และ GreenGather เพื่อสร้างเครือข่ายผู้มีส่วนร่วมในระบบนิเวศ แบ่งปันความรู้และความร่วมมือที่กระตุ้นผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดเวิร์กช็อป ESG Essential Reporting เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการทำรายงานด้านความยั่งยืนให้กับสตาร์ทอัพ
ขณะที่ด้านสังคม Beacon VC ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนผู้ประกอบการสตรีในโครงการ Cartier Women’s Initiative 2024 โครงการสนับสนุนธุรกิจที่บริหารโดยผู้หญิงและเน้นด้านความยั่งยืนและสร้างผลกระทบทางสังคม เพื่อส่งเสริมความหลากหลายและความยั่งยืนในธุรกิจไทยและภูมิภาค (Sustainable business landscape)
ย้อนดูปี 2566 จุดเริ่มต้นการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
ปี 2566 Beacon Impact Fund ได้ร่วมลงทุนโดยตรงกับธุรกิจสตาร์ทอัพและผ่านกองทุนเงินร่วมลงทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วโลกไป 4 ราย ใช้เงินลงทุนไปกว่า 9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 320 ล้านบาท ได้แก่
Algbra ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเงิน (Financial Service) จากสหราชอาณาจักร ผู้พัฒนา Platform เพื่อให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศอังกฤษสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับหลักทางศาสนาได้ และมีวิสัยทัศน์จะขยายบริการให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามทั่วโลก
Wavemaker Impact ธุรกิจเงินร่วมลงทุนที่มีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก (Global Carbon Emission) ลงร้อยละ 10 และยังเป็นธุรกิจร่วมสร้างกลุ่มสตาร์ทอัพ (Venture Builder) ทางด้าน Climate Tech เจ้าแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Quona Opportunity Fund ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) เน้นการแก้ปัญหา ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ให้สามารถเข้าถึง ได้รับโอกาส และประโยชน์จากบริการทางการเงิน
กองทุน Siam Capital กองทุนที่ตั้งขึ้นโดย สิตา จันทรมังคละศรี นักลงทุนหญิงชาวไทย เน้นการลงทุนที่ส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ หลากหลายแขนง อาทิ วัสดุที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ระบบการซื้อขายที่ลดการปล่อยคาร์บอน
ลงทุนลดการปล่อยคาร์บอน ผลักดันพลังงานสะอาด
ธนพงษ์ บอกว่า การลงทุนของ Beacon Impact Fund เป็นการเสริมสร้างระบบนิเวศของธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน แผนในอนาคตจะมุ่งเน้นการลงทุนเพิ่มเติมในโซลูชั่นที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในส่วนของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมถึงการผลักดันพลังงานสะอาด การบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างชาญฉลาด และการส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงินอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การลงทุนจะมุ่งเป้านวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง มีความสามารถในการสร้างกำไรขั้นต้นได้ดี มีความจำเป็นที่ต้องใช้เม็ดเงินการลงทุนสำหรับการขยายธุรกิจต่ำ และมีความสามารถปรับลักษณะการประกอบธุรกิจได้ง่ายตามสภาพแวดล้อมการแข่งขัน โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ บริษัทพร้อมนำประสบการณ์จากการลงทุนในต่างประเทศกลับมาพัฒนาระบบนิเวศในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย และสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกในอนาคต
สรุป โอกาสที่เปิดกว้างสำหรับสตาร์ทอัพ
ทิศทางในอนาคตของ Beacon VC ไม่เพียงช่วยต่อยอดยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนของธนาคารกสิกรไทย แต่ยังเป็นการเสริมสร้างระบบนิเวศของธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีแผนที่จะมุ่งเน้นการลงทุนเพิ่มเติมในโซลูชันที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในส่วนของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมถึงการผลักดันพลังงานสะอาด การบริหารห่วงโซ่อุปทานอย่างชาญฉลาด และการส่งเสริมการเข้าถึงทางการเงินอย่างทั่วถึง การลงทุนจะให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่มีศักยภาพเติบโตสูง ใช้เงินลงทุนต่ำ และปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมการแข่งขัน
นอกจากนี้ บีคอน วีซี ยังให้ความสำคัญกับโซลูชันที่สนับสนุนการเข้าถึงทางการเงินแบบยั่งยืน โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ บริษัทพร้อมนำประสบการณ์จากการลงทุนในต่างประเทศกลับมาพัฒนาระบบนิเวศในประเทศไทย เพื่อกระตุ้นการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย และสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา