ปัจจุบัน Millennial เริ่มเข้ามาเป็นกำลังสำคัญขององค์กรต่างๆ และอนาคตจะขึ้นมาเป็นกำลังหลักแน่ๆ ดังนั้นการดูแลบุคลากรภายในบริษัทด้วยวิธีดั้งเดิมคงใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะพฤติกรรม และแนวคิดคนกลุ่มนี้ต่างจากเดิมมาก
ต้องสร้างการทำงานในโรงพยาบาลให้สนุก
อาชีพเกี่ยวกับการแพทย์ถือเป็นอาชีพที่มีความเครียดติด 1 ใน 3 อันดับแรกของอาชีพทั้งหมด เพราะการกระทำทุกอย่างนั้นตัดสินชีวิตคนหนึ่งคนได้เลย จึงไม่แปลกที่เวลาเดินสวนกับแพทย์ หรือพยาบาล บางครั้งก็มีหน้าเคร่งเครียดกันบ้าง แต่ถ้าเรื่องนี้ยังเกิดขึ้นต่อไป คงจะไม่ถูกใจแพทย์ และพยาบาลยุค Millennial แน่ๆ
ดวงใจ สินธุสังข์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายการบริหารทรัพยากรบุคคลกลาง บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS เล่าให้ฟังว่า กลุ่ม Millennial ชอบความสนุก แต่จะให้สนุกตลอดในโรงพยาบาลก็คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ดังนั้นการพยายามทำให้คนกลุ่มนี้ที่ทำงานกับบริษัทมีความรักในหน้าที่การงานน่าจะดีที่สุด
“การทำให้พวกเขารัก มันก็ช่วยแก้ไขเรื่องคนรุ่นใหม่ไหลออกจากองค์กรได้ดีกว่าเดิมเยอะ ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งการส่งไปฝึกงานในต่างประเทศ รวมถึงเรื่องราคาในการรักษาโรค เช่นหากมีน้ำหนักเกินก็สามารถนัดเย็บกระเพาะในราคาพิเศษได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ส่งผลกับงานบริการของเราที่มันจะดีขึ้นโดยอัตโนมัติ”
ละลาย Hierarchy ช่วยสร้างความใกล้ชิด
ด้าน กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS เสริมว่า การปกครองแบบลำดับขั้น หรือ Hierarchy ถูกใช้กันมานานในองค์กรตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ แต่เรื่องนี้จะเริ่มใช้ไม่ได้แล้ว เพราะ Millennial ชอบความใกล้ชิด และเชื่อในความสมดุล
“เมื่อก่อนเราคุยกันเรื่องความสุขในการทำงาน แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เราต้องดูแลพนักงานแบบใหม่ เคารพการเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น เช่นวันพฤหัสบดีหัวหน้างานไม่มีสิทธิ์เรียกประชุมช่วงบ่าย รวมถึง Long Term Incentive ก็คงน้อยลง และเน้นเรื่อง Startup กับสร้าง Skill Set ใหม่ๆ มากกว่า”
ทั้งนี้ในฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ AIS ได้ลด Hierarchy ด้วยการยกเลิกตำแหน่งต่างๆ ภายในฝ่าย เช่น SVP, AVP และอื่นๆ เพื่อให้คนในระดับสูงลดอัตตาของตัวเองเวลาเจอน้องใหม่ รวมถึงพนักงานใหม่ก็สบายใจที่จะทำงานร่วมกับคนรุ่นเก่ามากขึ้น ส่วนการนำไปปรับใช้กับฝ่ายอื่นๆ ในองค์กรคงต้องรออีกระยะหนึ่ง
เมื่อเรา Go Digital คนรุ่นใหม่ก็อยากอยู่ด้วย
ส่วน พรรณพร คงยิ่งยง รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันพนักงานในองค์กรเป็น Generation Y ถึง 70% ดังนั้นฝ่ายทรัพยากรณ์บุคคลก็ต้องเปลี่ยนแนวคิดทั้งการดูแล และการดึงดูดพนักงานใหม่ให้เข้ามาทำงานกับธนาคาร ซึ่งจุดหนึ่งที่ทำแล้วสำเร็จคือ Digital Transformation
“เมื่อคนรุ่นใหม่เห็น SCB เริ่ม Digital Transformation ในแง่มุมต่างๆ ทำให้พวกเขาเริ่มสนใจทำงานกับธนาคารมากขึ้น แต่ด้วยพนักงานทั้งหมด 26,000 คน มันก็ยากที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้มันเร็ว หรือเสร็จภายในวันเดียว แต่เชื่อว่าทุกคนก็พยายามปรับตัว เพราะมันส่งผลต่อภาพในอนาคตของธนาคาร”
การทำ Digital Transformation เม็ดเงินลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ค่อนข้างสำคัญ ซึ่ง SCB ก็ใส่เรื่องนี้อย่างเต็มที่ ทั้งการพัฒนา Mobile Application ตัวใหม่ รวมถึงใช้ Artificial Intelligence หรือ AI เพื่อเข้ามายกระดับการวิเคราะห์บริการในแง่มุมต่างๆ เช่นกัน
สรุป
เรื่อง Millennial ถูกพูดถึงในหลายเวที และคนที่จะสำเร็จได้ก็ต้องมีการทำจริง รวมถึงฝ่ายทรัพยากรณ์บุคคลต้องล้างความคิดเดิมๆ ของตัวเองออกไปก่อน หากยังคิดแบบเดิมอยู่ การทำงานกับ Millennial ก็ค่อนข้างยาก และส่งผลต่อภาพรวมในการเติบโตของบริษัทด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา