หลังกลุ่ม SME ประสบปัญหาทางธุรกิจอย่างหนักในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ถึงตอนนี้เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และกลายเป็นโอกาสสำคัญที่จะดันยอดขาย SME ให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง
แต่ SME ต้องเตรียมพร้อมรับโอกาสนี้อย่างไรบ้าง กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ ได้ชี้ให้เห็นถึง 4 จุดสำคัญที่ SME จะพลาดไม่ได้หากต้องการขี่คลื่นการเติบโตดังนี้
ปรับตัวให้ทันโลกดิจิทัล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ ธนาคารกรุงเทพ อธิบายว่า ตอนนี้คือจังหวะที่ใช้ที่สุดในการลงทุนดิจิทัลของ SME ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเครื่องมือดิจิทัลค่อนข้างพร้อม ทั้งยังมีการเข้าถึงที่ง่าย
“เทคโนโลยีตอนนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ใครตามไม่ทันก็มีโอกาสจะตกยุค แต่เทคโนโลยีมันไม่ได้เข้าถึงยากเหมือนในอดีต เช่น ปัจจุบันคนทั่วไป หรือ SME สามารถใช้งาน AI และการประมวลผลขั้นสูงได้อย่างอิสระ ซึ่งใครจับจุดได้ก็มีโอกาสสร้างให้ธุรกิจเติบโตเช่นกัน”
ตัวอย่างที่น่าสนใจในการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี คือ การใช้ AI จำลอง หรือช่วยออกแบบสินค้าต่าง ๆ รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปต่อยอดในมุมการตลาด ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ดังนั้นใครที่ใช้เครื่องมือได้เต็มประสิทธิภาพที่สุดย่อมได้เปรียบ
รับมือภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลง
อย่างที่ 2 ที่ SME ไทย ต้องเตรียมรับมือคือ การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจประเทศต่าง ๆ ซึ่งฝั่งของจีนอาจมีการหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนมากขึ้น หาก SME ไทย รับมือเรื่องนี้ได้ ก็มีโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจเช่นกัน
“ฝั่งรัฐบาลมีการกระตุ้นเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดึงเงินทุนต่างชาติให้ไหลเข้ามาในประเทศไทยผ่านการให้สิทธิประโยชน์เรื่องฟรีวีซ่า และอื่น ๆ ซึ่งน่าจะจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และเกิด Supplychain ใหม่ที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย”
กอบศักดิ์ คาดว่า การลงทุนจะไหลเข้าสู่ประเทศในอาเซียนมากขึ้น และเชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งด้านการลงทุนเศรษฐกิจ และท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนได้
เอเชีย และอาเซียน จะเชื่อมต่อกันอีกขั้น
เรื่องที่ 3 คือ โอกาสของภูมิภาคเอเชีย และอาเซียน จากความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความเจริญขยายสู่หัวเมืองใหญ่ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ SME มีโอกาสในการขายสินค้า และบริการทั้งใน และต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไหลเข้ามาของแหล่งทุนจากอินเดีย และจีน เป็นต้น
“ตอนนี้ราคาพื้นที่ CBD ของไทยราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ประกอบกับระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ค่อนข้างดี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ดังนั้น SME ควรรับมือกระแสดังกล่าวด้วย”
แต่ต้องจับตาว่าหลังจากนี้กลุ่มทุนฝั่งจีนจะมีปัญหาอะไรออกมาหรือไม่ เพราะปัจจุบันปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนเริ่มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การล้มละลายของ China Evergrande Group เบอร์ 10 ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทย และ Country Garden เบอร์ 1 ของตลาดที่มีความเสี่ยงจะไม่ชำระหุ้นกู้
สุดท้ายคือเรื่องความยั่งยืนที่มาเป็นจุดขายใหม่
สุดท้ายคือเรื่องความยั่งยืนที่นอกจากนโยบายของรัฐบาลทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม, การใช้แรงงาน และมาตรการทางการเงิน ซึ่ง SME ต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการต่าง ๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย เกิดการจ้างงานกว่า 12 ล้านคน และสร้างรายได้ให้ประเทศคิดเป็นสัดส่วนกว่า 35% ของ GDP ราว 17 ล้านล้านบาท รวมทั้งเป็นรากฐาน Supply Chain ที่สำคัญของหลายอุตสาหกรรม โดยกลุ่มธุรกิจบริการมีสัดส่วนมากที่สุดกว่า 40%
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ มีการสนับสนุน SME ด้านสินเชื่อ และบริการทางการเงินต่าง ๆ ทั้งยังมุ่งเป็น Facilitator ที่ช่วยประสานความร่วมมือกับภาคราชการ และสถาบันการศึกษา ให้มาถ่ายทอดความ รู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ของธนาคาร
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา