รู้จักบริษัทเจ้าของ Oppo-Vivo: จากผู้ผลิตเครื่องเล่น CD จีน สู่ตัวท็อปแห่งวงการมือถือ

ชวนไปทำความรู้จักกับ BBK Electronics จากผู้ผลิตเครื่องเล่น CD แบรนด์จีน สู่บริษัทเจ้าของแบรนด์โทรศัพท์ Oppo, Vivo, OnePlus และ Realme บริษัทเดียวขายครบทุกกลุ่มเป้าหมาย

หากพูดถึงแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน คงจะหนีไม่พ้นแบรนด์โทรศัพท์มือถือในระดับท็อปของวงการที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดในโลก ในไตรมาสที่ 4 ปี 2020 (ข้อมูลจาก IDC)

    • อันดับ 1 Apple มีส่วนแบ่งการตลาด 23.4%
    • อันดับ 2 Samsung มีส่วนแบ่งการตลาด 17%
    • อันดับ 3 Xiaomi มีส่วนแบ่งการตลาด 11.6%
    • อันดับ 4 Oppo มีส่วนแบ่งการตลาด 9%
    • อันดับ 5 Huawei มีส่วนแบ่งการตลาด 8.6%

เมื่อลองดูจาก 5 อันดับแบรนด์โทรศัพท์มือถือที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด 5 อันดับแรก มีแบรนด์จากประเทศจีนถึง 3 แบรนด์ คือ Xiaomi, Oppo และ Huawei แสดงถึงความสำเร็จของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีนที่ตีตลาดโลกได้สำเร็จ

ส่วนในประเทศไทยเอง ส่วนแบ่งการตลาดของโทรศัพท์มือถือต่างจากตลาดโลกเล็กน้อย โดย Canalys รายงานส่วนแบ่งการตลาดของโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2021 ดังนี้

    • อันดับ 1 Samsung มีส่วนแบ่งการตลาด 24%
    • อันดับ 2 Xiaomi มีส่วนแบ่งการตลาด 20%
    • อันดับ 3 Oppo มีส่วนแบ่งการตลาด 16%
    • อันดับ 4 Vivo มีส่วนแบ่งการตลาด 15%
    • อันดับ 5 Realme มีส่วนแบ่งการตลาด 9%

สิ่งที่น่าสนใจคือ แบรนด์โทรศัพท์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ 2-5 เป็นแบรนด์จากประเทศจีนทั้งสิ้น และที่น่าสนใจไปมากกว่านั้น แบรนด์โทรศัพท์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ 3-5 คือ Oppo, Vivo และ Realme เป็นแบรนด์ที่มีต้นกำเนิดจากบริษัทเดียวกัน นั่นคือ BBK Electronics

แม้ในปัจจุบัน BBK Electronics จะประสบความสำเร็จ จนมีที่ยืนอยู่ในระดับโลก เพียงแค่ Oppo แบรนด์เดียว ก็ได้ส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 4 ของโลกแล้ว ยังไม่รวมแบรนด์อื่นๆ ในเครือ คือ Vivo, Realme และ OnePlus ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตามแม้ในปัจจุบัน BBK Electronics จะประสบความสำเร็จในตลาดระดับโลก แต่มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่าจุดเริ่มต้นของบริษัทจากจีนแผ่นดินใหญ่นี้ ไม่ได้เริ่มต้นจากการทำธุรกิจผลิตโทรศัพท์มือถือมาก่อนเลย และต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้

จากผู้ผลิตเครื่องเล่น CD สู่ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเบอร์ต้นๆ ของโลก

BBK Electronics ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 ชาวจีนที่มีชื่อว่า Duan Yongping ในขณะนั้นเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องเล่น CD, DVD และ MP3 แต่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก BBK Electronics มากเท่าใดนัก โดยเฉพาะนอกประเทศจีน

กำเนิด Oppo จุดเปลี่ยนสำคัญของ BBK Electronics

จนกระทั่งปี 2004 แบรนด์ Oppo ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้จึงถือกำเนิดขึ้น แม้ในขณะนั้น Oppo จะไม่ได้เริ่มจากการเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถือ แต่เป็นแบรนด์ที่วางตัวเป็น Digital Division เน้นผลิตเครื่องเล่น CD และ DVD เช่นเดิม แต่ก็นับว่าการสร้างแบรนด์ Oppo ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ BBK Electronics เช่นกัน

หลังจากที่ Oppo ได้ถือกำเนิดขึ้น 4 ปี ในปี 2008 จึงเริ่มผลิตโทรศัพท์มือถืออย่างที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้ ตั้งแต่ยุคฟีเจอร์โฟน และเริ่มผลิตโทรศัพท์สมาร์ทโฟนครั้งแรกในปี 2012 ซึ่งจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ Oppo ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในตลาดเอเชีย คือ การเน้นผลิตโทรศัพท์มือถือที่ราคาไม่แพง ดีไซน์สวย ออกแบบดี เน้นคุณภาพของกล้องถ่ายรูปที่ดี

แตกแบรนด์ย่อย จาก Oppo สู่ Vivo

หลังจากนั้นเพียง 1 ปี หลังจากที่ BBK Electronics ก่อตั้งแบรนด์ Oppo ขึ้นมา ก็ได้เวลาที่จะขยายธุรกิจไปสู่เป้าหมายที่กว้างขึ้น ด้วยการตั้งแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า Vivo ขึ้นมาในปี 2009 แต่กว่าโทรศัพท์รุ่นแรกภายใต้แบรนด์ Vivo จะออกมาก็ต้องรอจนถึงปี 2011

โดยแบรนด์ Vivo เป็นแบรนด์ที่แยกตัวเป็นเอกเทศจาก Oppo เน้นจุดเด่นเรื่องดีไซน์สวย เสียงดี มีฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่สร้างความว้าว ในขณะนั้นโทรศัพท์ Vivo ใส่ชิปเสียงที่มีคุณภาพสูงเข้ามาเป็นจุดเด่นเหนือโทรศัพท์มือถือแบรนด์อื่นๆ ที่มีในเวลานั้น

Realme แบรนด์ที่เกิดมาสู้กับ Xiaomi

ในยุคถัดมาหลังจากที่ BBK Electronic ประสบความสำเร็จกับแบรนด์ Oppo และ Vivo แล้ว ในโลกของโทรศัพท์มือถือ มีคู่แข่งใหม่ที่น่ากลัวเพิ่มขึ้น คู่แข่งนั้นก็เป็นเพื่อนร่วมชาติกับ BBK Electronics นั่นเอง โดยแบรนด์นั้นมีชื่อว่า Xiaomi

ทำให้ BBK Electronics ต้องก่อตั้งแบรนด์ใหม่ขึ้นมา เพื่อแข่งกับ Xiaomi โดยเฉพาะ นั่นคือ Realme ในปี 2018 โดยเน้นจุดเด่นไปที่การผลิตโทรศัพท์มือถือราคาถูก แต่มีสเป็คดี เน้นทำตลาดทั้งในยุโรป และอินเดีย รวมถึงประเทศในเอเชียด้วย

เข้าสู่ตลาดโลกด้วยแบรนด์ OnePlus โทรศัพท์มือถือของสายเทคฯ

นอกจาก Oppo, Vivo และ Realme ซึ่งเป็น 3 แบรนด์หลักของ BBK Electronics แล้ว ยังมี OnePlus ที่เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ย่อยที่ประสบความสำเร็จ และเป็นที่รู้จักในระดับโลก แต่สิ่งที่สร้างความต่างให้กับ OnePlus คือการตั้งเป้าตีตลาดระดับโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่แรก ต่างจาก Oppo, Vivo และ Realme ที่เริ่มจากการตีตลาดในประเทศจีน และเอเชียก่อน

OnePlus เป็นแบรนด์ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 โดย Pete Lau อดีตผู้บริหารของ Oppo ที่ตัดสินใจลาออกไป (แต่ OnePlus ก็ยังนับว่าเป็นแบรนด์ที่อยู่ภายใต้ BBK Electronics เช่นกัน) โดยโทรศัพท์มือถือแบรนด์ Oneplus สร้างขึ้นบนพื้นฐานของโทรศัพท์มือถือ Oppo แต่จะมีรายละเอียดบางอย่างที่แตกต่างกัน

จุดเด่นของ OnePlus ไม่ได้อยู่ที่การเป็นโทรศัพท์ที่มีกล้อง เสียง คุณภาพดี มีฟีเจอร์ใหม่สร้างความว้าวให้กับผู้ใช้งานเหมือนอย่าง Oppo และ Vivo แต่เป็นแบรนด์ที่เน้นไปที่ฮาร์ดแวร์คุณภาพดี ประสิทธิภาพการทำงานสูง และซอฟแวร์ที่ไม่มีฟีเจอร์รกๆ แต่ให้ประสบการณ์การใช้งานโทรศัพท์มือถือ Android ที่ดีที่สุด จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น Pure Android ก็ได้

สร้างแบรนด์แยก ขายลูกค้าทุกกลุ่ม ปัจจัยความสำเร็จของ BBK Electronics

จากที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งที่สามารถเห็นได้ชัดจากรูปแบบการทำธุรกิจของ BBK Electronics แม้เราจะไม่เคยรู้จักชื่อของบริษัทนี้มาก่อน แต่เราต้องเคยได้ยินชื่อ Oppo, Vivo, OnePlus และ Realme อย่างแน่นอน การที่คนทั่วๆ ไป ไม่รู้จักชื่อ BBK Electronics ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เรากลับรู้จักแบรนด์ย่อยทุกแบรนด์ที่เป็นผลงานของบริษัทเดียวกัน

    • Oppo เน้นโทรศัพท์กล้องดี ดีไซน์สวย
    • Vivo เน้นโทรศัพท์เสียงดี ดีไซน์สวย มีฟีเจอร์ว้าวๆ
    • Realme เน้นโทรศัพท์สเป็คดี ราคาไม่แพง
    • OnePlus เน้นโทรศัพท์ฮาร์ดแวร์ดี ประสบการณ์การใช้งานแบบ Pure Android

การที่ทุกแบรนด์ มีจุดเด่น และจุดขายที่ต่างกัน นั่นหมายความว่าแต่ละแบรนด์จะมีลูกค้าเป็นของตัวเอง แต่เมื่อรวมตัวกันภายใต้การดูแลของ BBK Electronics จะทำให้บริษัทเดียวสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการโทรศัพท์มือถือราคาถูกหลักพันบาท ใช้งานได้คุ้มค่า ไปจนถึงโทรศัพท์มือถือตัวท็อปที่มีราคาหลักหมื่น สเป็คดี ตัวเครื่องหรูได้

อย่างไรก็ตามยังมีอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุด ที่แม้ BBK Electronics จะแยกแบรนด์ต่างๆ ออกจากกันตามกลุ่มเป้าหมาย แต่กระบวนการพัฒนาหลังบ้านหลายๆ อย่าง BBK Electronics ได้สร้างจุดแข็งให้ตัวเอง ด้วยการรวมส่วนที่ทำหน้าที่พัฒนาเบื้องหลังเข้าด้วยกัน เป็นการสร้างความได้เปรียบในการพัฒนาเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ เรียกได้ว่าพัฒนาครั้งเดียว แต่ใช้จริงได้หลายแบรนด์ครบทุกกลุ่มเป้าหมายนั่นเอง

ข้อมูลอ้างอิงจาก – BBK Electronics, KrAsia, Android Central, Gizchina.it, Android Authority, IDC, Blognone

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา