ยังใช้ “ถ่านไฟฉาย” อยู่ไหม? ถ้าใช่ คุณคือหนึ่งในผู้ใช้สินค้าที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 4,000 ล้านบาท

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีแบตเตอรี่ในตัวมากขึ้น ทำให้หลายบ้านเริ่มไม่มี “ถ่านไฟฉาย” ติดไว้เหมือนในอดีต แต่เชื่อหรือไม่ว่าสินค้านี้มีมูลค่าตลาดในไทยกว่า 4,000 ล้านบาท โดย Panasonic คือเบอร์ 1 ผ่านส่วนแบ่ง 83%

ถ่านไฟฉายยังมีคนใช้ และเติบโต 1-2%

โดยส่วนตัวไม่ได้ซื้อ “ถ่านไฟฉาย” ติดบ้านมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะความจำเป็นในตอนนี้มีแค่ใช้เปลี่ยนเวลารีโมทโทรทัศน์ กับเครื่องปรับอากาศใช้งานไม่ได้เท่านั้น ซึ่งต่างจากในอดีตที่ต้องซื้อติดบ้านไว้เพื่อใส่ของเล่น, เครื่องเล่น MP3, นาฬิกาปลุก และอื่นๆ ที่สำคัญเวลาซื้อก็ซื้อแต่ถ่านที่ใช้ได้นานๆ ต่างจากตอนนี้ที่เน้นเรื่องราคามากกว่า

ซึ่งผมเชื่อว่า หลายคนที่อยู่ในเมืองก็คงเป็นแบบผม ไม่เชื่อก็ลองไปค้นดูที่บ้านได้ว่ามีสินค้าตัวนี้ติดบ้านอยู่หรือไม่?

แต่พอทราบความจริงจากปากของผู้บริหาร Panasonic ประเทศไทยก็คงงงไม่น้อย เพราะมูลค่าตลาดของสินค้าถ่านไฟฉายนั้นสูงถึง 4,000 ล้านบาท และเติบโต 1-2% ทุกปี ซึ่งการเติบโตนั้นแสดงให้เห็นว่ายังมีการซื้อสินค้าตัวนี้มาโดยตลอด แทนที่จะหดตัวตามกระแสสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เปลี่ยนไป

เครื่องวัดความดันอัตโนมัติ หนึ่งในอุปกรณ์สุขภาพที่ต้องใช้ถ่านไฟฉายอยู่ // ภาพจาก Omron

วิฑูรย์ เหล่าวีระกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ผลิตภัณฑ์ถ่านไฟฉาย บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า ที่ตลาดยังเติบโต เพราะต่างจังหวัดยังมีการซื้อสินค้าตัวนี้ไปใช้งานกับวิทยุ รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ส่วนในกรุงเทพ และหัวเมืองใหญ่ก็ยังซื้อไปใช้กับสินค้าระดับสูง และอุปกรณ์ดูแลสุขภาพด้วย

เบอร์หนึ่งตลาดด้วยส่วนแบ่งถึง 83%

“ถ่านไฟฉายในตลาดตอนนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทง่ายๆ คือถ่านแมงกานีส หรือถ่านแบบเก่าที่ของพานาโซนิคจะเป็นก้อนสีดำ กับถ่านอัลคาไลน์ที่ให้พลังงานได้ยาวนานกว่า โดยในกรุงเทพนั้นถ่านอัลคาไลน์ได้รับความนิยมมากกว่า ส่วนในต่างจังหวัดยังนิยมถ่านแมงกานีส เพราะราคาถูก และยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างถ่าน 2 ประเภท”

แพ็คเกจใหม่ของถ่านอัลคาไลน์ Panasonic ที่มีภาษาไทยกำกับขนาดใหญ่ว่าใช้ได้นานกว่าถ่านปกติถึง 10 เท่า

และหากลองนึกแบรนด์ที่จำหน่ายถ่านไฟฉายในตอนนี้ ก็คงนึกออกแค่ไม่กี่แบรนด์ ซึ่งปัจจุบันทาง Panasonic นั้นครองส่วนแบ่งในตลาดนี้เป็นอันดับหนึ่ง หรือ 83% ของทั้งตลาด โดยแบรนด์อันดับสอง และรองจากนั้นต่างมีส่วนแบ่งเพียงตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น แต่จะเป็น Energizer หรือแบรนด์อื่น ทาง Panasonic ขออนุญาตไม่ตอบคำถาม

ส่วนเรื่องประวัติการทำตลาดถ่านไฟฉายในประเทศไทยของ Panasonic นั้นต้องย้อนไปถึง 30 ปีเลยทีเดียว หรือตั้งแต่มีก้อนสีเขียว-ก้อนสีดำ ไล่มาจนถึงถ่านอัลคาไลน์ และถ่านชาร์จในชื่อแบรนด์ Eneloop และด้วยบริษัทแม่กำหนดให้ไทยเป็นประเทศยุทธศาสตร์เหมือนกับอินเดีย และบราซิล ตั้งแต่ปีก่อน จึงมีการลงทุนการตลาดอย่างเต็มที่

ทุ่ม 100 ล้านบาททำตลาด-จ้างพรีเซ็นเตอร์

“ที่บริษัทแม่กำหนดให้ไทยเป็นประเทศยุทธศาสตร์ เพราะเรามียอดขายเติบโตเหนือตลาดมาตลอด ทั้งสร้างโรงงานผลิตที่สำโรงตั้งแต่ปี 2543 เพื่อผลิตขายในประเทศ รวมถึงส่งออกไป 50 ประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่เอเชียอีกด้วย แต่เมื่อเป็นประเทศยุทธศาสตร์ เราก็ตั้งเป้าท้าทาย โดยหวังยอดขายโต 2 เท่าจากตอนนี้ในปี 2565” วิฑูรย์ ย้ำ

โดยหนึ่งในแผนที่ Panasonic จะปั้นยอดขายได้ 2 เท่าตัวนั้น คือการทุ่มงบการตลาดกว่า 100 ล้านบาท เพื่อทำสื่อโฆษณาทั้งออนไลน์-ออฟไลน์, จัดกิจกรรมตามพื้นที่ต่างๆ รวมถึงจ้าง “เมสซี่เจ-ชนาธิป สรงกระสินธ์” เป็นพรีเซ็นเตอร์ เพื่อสื่อให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างถ่านแมงกานีส กับถ่านอัลคาไลน์ให้ได้

ถ่านแบบแมงกานีสของ Panasonic

สำหรับตัวราคาถ่านไฟฉายของ Panasonic จะเริ่มต้นที่ 32 บาท ได้ถ่านแมงกานีสสีดำแพ็ค 4 ก้อน ส่วนถ่านอัลคาไลน์จะเริ่มที่แพ็ค 2 ก้อน ราคา 48 บาท แต่ในปีหน้ามาตรการภาษีใหม่จะทำให้ถ่านแมงกานีสเพิ่มราคาเป็น 48 บาท แต่ถ่านอัลคาไลน์นั้นใช้งานได้นานกว่าถ่านแบบเดิมถึง 10 เท่า ก็คงอยู่ที่ผู้บริโภคจะเลือกแบบไหน

สรุป

ถ่านไฟฉายเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีมูลค่าเยอะอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก็มีแบตเตอรี่ในตัวกันหมดแล้ว และคิดว่า Panasonic คงครองเบอร์หนึ่งในตลาดไทยไปอีกนาน เพราะเตรียมส่งถ่านไฟฉายแพ็คที่มีมากกว่า 10 ก้อนเข้ามาในตลาด และการทุ่มงบครั้งนี้คงทำให้ส่วนแบ่งถ่านอัลคาไลน์เพ่มขึ้นแน่ๆ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา