องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ประเมินว่าในปี 2024 ทั่วโลกจะมีความต้องการลิเทียมเพิ่มขึ้น 42 เท่าจากปี 2020 และราคาของโคบอลต์ในปีนี้สูงขึ้นเกิน 50% จากความต้องการ รถยนต์ไฟฟ้า ที่เพิ่มมากขึ้น
หลายฝ่ายหาช่องทางครอบครองแร่ธาตุ ตอบโจทย์กระแส รถยนต์ไฟฟ้า
ความต้องการลิเทียมทำให้การลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งโลหะอยู่ในช่วงเฟื่องฟู นักสำรวจแร่ชั้นนำของออสเตรเลีย 48 ราย ระดมทุนได้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทสำหรับการพัฒนาลิเทียมซึ่งมากกว่าการระดมทุนในโลหะอื่น ตามการรายงานของบริษัทบัญชี BDO
แต่การลงทุนพัฒนาเหมืองใหม่มีข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาที่ยาวนานเกิน 10 ปีกว่าจะเริ่มผลิตได้ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการแบตเตอรี่ที่เพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่จากจีนอย่าง CATL ได้ลงทุนในบริษัทจีนซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เหมืองโคบอลต์ในคองโก ส่วน Tesla ครอบครองกรรมสิทธิ์บนพื้นที่ 10,000 เอเคอร์ในรัฐเนวาดาเพื่อใช้เป็นแหล่งผลิตลิเทียมจากดินเหนียว
สร้างทางเลือกทดแทนความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกันผู้ผลิตแบตเตอรี่บางรายจึงหวังพึ่งเทคโนโลยีใหม่ โดยเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมบริษัท CATL ได้เปิดตัวแบตเตอรี่โซเดียมไออนที่ไม่มีส่วนประกอบของลิเทียม โคบอลต์ และนิกเกิล
อีกทั้งการผลักดันของสหภาพยุโรปให้นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่มากขึ้นจะช่วยได้อีกทางหนึ่ง โดยนักวิจัยอาวุโสของ Itochu Research Institute กล่าวว่า การสร้างระบบรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของยุโรปจะช่วยส่งเสริมการนำโลหะกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งและจะช่วยลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง
สรุป
ราคาแร่ส่วนประกอบสำคัญอย่างโคบอลต์และลิเทียมมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ผลิตแบตเตอรี่จึงต้องฝากความหวังไว้ที่การพัฒนาเทคโนโลยีผลิตแบตเตอรี่ในอนาคต
ที่มา: Nikkei Asia
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา