เทศกาลใหญ่อย่างปีใหม่ เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนต่างต้องใช้เงินสด ธนบัตรมากเป็นพิเศษ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ต้องเตรียมสำรองเงินสดเพื่อให้บริการในทุกช่องทางอย่างเพียงพอ แน่นอนว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังต้องเตรียมสำรองเงินสดให้ธนาคารพาณิชย์ด้วย
สมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายออกบัตรธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ซึ่งประชาชนมีความต้องการใช้ธนบัตรในระดับสูงกว่าปกตินั้น ธปท. ได้พิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจ มาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยประมาณการว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการเบิกจ่ายธนบัตรจาก ธปท. ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเทศกาลปีใหม่ 2567 เป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 80,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมาและเป็นการลดลงต่อเนื่องมาหลายปี (ปี 2559 มีการสำรองเงินสดราว 150,000 ล้านบาท) จากการขยายตัวของการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาทดแทนการชำระเงินด้วยเงินสด โดยเฉพาะมูลค่าสูง อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้เตรียมสำรองธนบัตรชนิดราคาต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการไว้อย่างเพียงพอ
ทั้งนี้จากข้อมูล ธปท. ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการสำรองเงินสดปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ได้แก่
– ช่วงปีใหม่ 2566 ธปท. มีการสำรองเงินสดราว 100,000 ล้านบาท
– ช่วงปีใหม่ 2565 ธปท. มีการสำรองเงินสดราว 120,000 ล้านบาท
– ช่วงปีใหม่ 2564 ธปท. มีการสำรองเงินสดราว 120,000 ล้านบาท
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เตรียมสำรองเงินสดรับเทศกาลปีใหม่ช่วง 27 ธ.ค. 2566 – 2 ม.ค. 2567 (แต่ละธนาคารอาจระบุเวลาต่างกันเล็กน้อย) เช่นกัน
ธนาคารกรุงเทพ เตรียมสำรองเงินสดเพิ่มเติมจากภาวะปกติอีก 50,000 ล้านบาท (ช่วง 29 ธ.ค. 2566 – 1 ม.ค. 2567) ผ่านช่องทางบริการเอทีเอ็มที่มีอยู่ 8,000 จุดทั่วประเทศ
ในช่วงวันหยุดนี้สามารถใช้บริการสาขาไมโครภายในห้างสรรพสินค้าและจุดชุมชนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ
ธนาคารไทยพาณิชย์ เตรียมสำรองธนบัตรจำนวน 37,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น
- ช่องทางสาขาจำนวน 6,900 ล้านบาท (ปัจจุบันมี 741 สาขา)
- ช่องทางตู้เอทีเอ็ม จำนวน 30,600 ล้านบาท (ปัจจุบันมีเครื่องเอทีเอ็ม 11,055 เครื่องทั่วประเทศ)
(ข้อมูล ณ วันที่ 10 ธ.ค.2566)
ธนาคารกสิกรไทยเตรียมสำรองเงินสด รวม 34,300 ล้านบาท (ช่วง 28 ธ.ค. 2566 – 1 ม.ค. 2567) แบ่งเป็น
- ช่องทางสาขา จำนวน 7,800 ล้านบาท แบ่งเป็น เขตกรุงเทพฯ 3,500 ล้านบาท, เขตภูมิภาค 4,300 ล้านบาท) ปัจจุบันมี 813 สาขาทั่วประเทศ
- ช่องทางเครื่องเอทีเอ็ม (K-ATM) จำนวน 26,500 ล้านบาท แบ่งเป็น เขตกรุงเทพฯ จำนวน 10,300 ล้านบาท และเขตภูมิภาคจำนวน 16,200 ล้านบาท ปัจจุบันมีเครื่องเอทีเอ็มรวม 9,100 เครื่องทั่วประเทศ
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เตรียมสำรองเงินสด 11,028 ล้านบาท (ช่วง 27 ธ.ค. 2566 – 2 ม.ค. 2567) แบ่งเป็น
- ช่องทางสาขา จำนวน 3,198 ล้านบาท (ปัจจุบันมี 552 สาขา)
- ช่องทางเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 7,830 ล้านบาท (ปัจจุบันมีเครื่องเอทีเอ็ม 5,608 เครื่องทั่วประเทศ) (ข้อมูลจำนวนเครื่อง/สาขา ณ 30 พ.ย. 2566)
ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา,ธนาคารไทยพาณิชย์
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา