[สรุป] ปัญหาเงินหายจากบัญชีแบงก์ โอนเงินไม่ถึง ฯลฯ ลูกค้าต้องป้องกันอย่างไร?

ข่าวใหญ่อีกแล้วเมื่อเงินลูกค้าหายจากบัญชีธนาคารเกือบ 3 แสนบาท โดยบัญชีที่ว่าไม่มีบัตรเอทีเอ็ม ไม่ได้เชื่อกับ Mobile Banking เป็นไปได้อย่างไร?

ที่มา ไทยรัฐ, ข่าวสด, One31, มติชน, ผู้จัดการออนไลน์, ThaiPBS

ปัญหาเงินลูกค้าหายจากบัญชีมีทุกปี

Brandinside รวบรวมเคสปัญหาเงินหายจากบัญชีลูกค้า พบว่าแต่ละปีจะเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เช่น เคสล่าสุด ม.ค. 2562 ธนาคารใช้เวลาตรวจสอบและคืนเงินเกือบ 3 แสนบาทให้ลูกค้าภายใน 4 วัน สาเหตุมาจากพนักงานธนาคารฉ้อโกง (จากการสอบสวยของธนาคารพบผู้เสียหายอีก 14 ราย) ส่วน ต.ค. ปี 2561 ลูกค้า 3 รายเงินหายจากบัญชีรวม 1.8 ล้านบาท สาเหตุเพราะพนักงานธนาคารปลอมแปลงเอกสารถอนเงินลูกค้ามาใช้หนี้พนันบอล

นอกจากนี้ยังมีเคสเกิดขึ้นทั้ง ก.ย. 2561เม.ย.2560 และ ส.ค. 2559 ที่เงินลูกค้าหายจากบัญชีธนาคารกว่า 1.3 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากมิจฉาชีพไปที่ศูนย์บริการค่ายมือถือใช้สำเนาบัตรประชาชนเปิดเบอร์โทรศัพท์ใหม่ และเชื่อมโยงกับ Mobile Banking แล้วโอนเงินไปที่บัญชีของมิจฉาชีพ

แต่ยังมีอีกหลายเคสที่ไม่เป็นข่าว โดยผู้ทุจริต มิจฉาชีพจะอาศัยช่องโหว่ที่แตกต่างกัน เช่น กรณีเงินหายจากบัญชีธนาคาร โดยพนักงานของธนาคารเป็นผู้ปลอมแปลงเอกสาร จะเลือกบัญชีลูกค้าที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวโดยคนโกงถอนและหวังว่าตนเองจะหาเงินมาคืนได้ทัน ส่วนมิจฉาชีพมีหลากหลายแบบตั้งแต่โทรศัพท์ หลอกให้ลูกค้าโอนเงินโดยตรง (กลโกงทางโทรศัพท์) ฯลฯ

dept

แบงก์พาณิชย์แจงสาเหตุปัญหาเงินหาย-เงินโอนไม่ถึง-กดเงินไม่ออก

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ บอกว่า จากเคสที่ลูกค้าได้รับผลกระทบแบ่งเป็น 2 แบบได้แก่ 1. กรณีการทุจริตหรือ Fraud อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น พนักงานแบงก์ฉ้อโกง มิจฉาชีพ ฯลฯ แต่ละธนาคาต้องใช้เวลาในการตรวจสอบสาเหตุของปัญหา 2. กรณีปัญหาจากระบบภายในธนาคาร เช่น สั่งโอนเงินแต่เงินไม่เข้าที่บัญชีปลายทาง กดเงินจากตู้ ATM ตัดเงินในบัญชีแต่เงินไม่ออกมา ฝากเงินที่ตู้อัตโนมัติเงินไม่เข้าบัญชี โดยข้อ 2 นี้ธนาคารทั้งหลายพยายามคืนเงินลูกค้าภายใน 24 ชม.

“กรณีเกิดปัญหาจากทุจริตเมื่อธนาคารก็ตรวจสอบ พบสาเหตุถ้าไม่ใช่ความผิดลูกค้าธนาคารรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ถ้าเป็นพนักงานภายในต้องลงโทษตามกฎหมาย ส่วนถ้าเป็นกรณีมิจฉาชีพโกง มักเกิดจาก Social hacking คือผู้ร้ายจะค่อยๆเก็บข้อมูลลูกค้าที่บอกบน Social และหาทางโกงเงินลูกค้าจนได้

เมื่อเกิดปัญหาขึ้น วิธีแก้ไขง่ายที่สุดคือการติดต่อ Call Center ทันทีที่รู้ว่าเกิดปัญหาขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาใดๆ หรือตอนนี้Mobile Banking หรือแอพพลิเคชั่นของสถาบันการเงินต่างๆ ก็ทำได้หลายอย่าง เช่น กำหนดวงเงินโอนออกจากบัญชีในแต่ละวัน แต่ละครั้ง อายัดบัตรเดบิต บัตรเครดิต ฯลฯ ที่สำคัญเราเช็คข้อมูลธุรกรรมต่างๆได้”

นอกจากนี้สิ่งที่จะป้องกันปัญหาจากการทุจริต คือ ลูกค้าต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลทางการเงินบนโลกอินเตอร์เน็ต ให้กับคนที่ไม่รู้จัก เช่น รหัส PIN รหัสลับต่างๆ ข้อมูลบนบัตรเครดิต ฯลฯ เพราะอาจเป็นช่องโหว่ให้มิจฉาชีพโกงง่ายขึ้น

บทบาทของแบงก์ชาติกับการดูแลประชาชน

จาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ตามปกติสถาบันการเงินจะมีกระบวนการภายในเพื่อดำเนินการสอบสวนเรื่องทุจริต และมีบทลงโทษอยู่แล้ว

ในส่วนของ ธปท. จะให้ความสำคัญต่อผลการสอบสวนและสาเหตุที่ทำให้เกิดการทุจริต และการดำเนินการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา เพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอีก รวมถึงเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้ความสำคัญต่อการดูแลลูกค้าของสถาบันการเงิน อนึ่ง หาก ธปท. ตรวจสอบพบการทุจริตจะมีการออกคำสั่งให้สถาบันการเงินดำเนินการต่อไป

ข้อมูลจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (www.1213.or.th) สรุปสิ่งที่ต้องทำหากตกเป็นเหยื่อ 3 ข้อ ได้แก่

  1. เมื่อพบธุรกรรมผิดปกติ ไม่ว่าจะถอนเงิน โอนเงิน ยอดใช้จ่ายที่ไม่ได้จ่ายเอง ฯลฯ รีบติดต่อผู้ให้บริการ (แบงก์ บริษัทเครดิต ฯลฯ) เพื่ออายัดบัตรทันที บัญชีธนาคาร เปลี่ยนรหัสผ่าน E-mail หรือแอพฯที่มีปัญหา
  2. แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลงบันทึกประจำวัน ณ ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไป
  3. ทำใจ…เพราะเงินที่ถูกมิจฉาชีพขโมยไป โอกาสจะได้คืนนั้นน้อยมาก เพราะเมื่อมิจฉาชีพได้เงินไปจะรีบถอนออกทันที หรือกรณีที่มิจฉาชีพได้ข้อมูลบัตรเพราะความประมาทของผู้ถือบัตร ทั้งนี้ กรณีที่เป็นการ skimming ที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารจริง ธนาคารจะชดใช้เงินให้แก่ลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย

ส่วนคำแนะนำของ Brandinside เรื่องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและป้องกันคือ เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้น 

  1. ตรวจสอบบัญชีของเราก่อน เช่น เปิดโมบายแบงก์กิ้งเช็คยอดเงินที่หายไป หรือยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตว่าถูกใช้ไปเท่าไร เดี๋ยวนี้โมบายแบงก์กิ้งหลายแบงก์สามารถกำหนดวงเงิน หรืออายัดบัตรได้แล้ว
  2. โทรหา Call Center ธนาคารแจ้งเรื่องให้รีบตรวจสอบไว้ และไปสำนักงานตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้ก่อน
    ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่าง โอนเงินแล้วไม่เข้าบัญชีผู้รับ ฝากเงินที่ตู้แต่เงินไม่เข้าบัญชี หรือ กดเงินที่ ATM แล้วเงินไม่ออกมา ถ้าติดต่อคอลเซ็นเตอร์ธนาคารจะพยายามจัดการคืนเงินภายใน 24 ชม.
  3. ถ้าไปที่แบงก์แล้วเรื่องยังไม่เดิน โทรเข้า 1213 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ส่วนการป้องกันมี 4 วิธี ได้แก่

  1. บางธนาคารมีบริการแจ้งเตือนฟรี เช่น SCB ผ่านไลน์ หรือ tmb ที่ให้ลูกค้ามีเงินเกินล้าน ก็ควรเปิดใช้งาน
  2. ตั้งค่าให้การธุรกรรมการเงินทั้งหมด ไม่ว่าจะ ฝาก-ถอน-โอน-จ่าย ถ้ามีความเคลื่อนไหวในบัญชีธนาคาร E-wallet บัตรเครดิต ต้องเตือนมาที่เราทั้งหมด เพื่อที่เกิดเรื่องฉุกเฉินเราจะรู้ตัวเร็วที่สุด
    ใครที่ไม่อยากใช้โมบายแบงก์กิ้งก็ติดต่อใช้บริการแจ้งเตือนจากธนาคารได้ แต่ถ้าแบงก์นั้นไม่มี ก็ต้องหมั่นอัพ Book Bank บ่อยๆ
  3. อย่าเปิดเผยข้อมูลการเงิน ข้อมูลส่วนตัวบนโลก Social  ไม่ว่าจะรหัส PIN OTP ข้อมูลบนเครดิตการ์ดไม่ควรให้ใครง่ายๆ
    ที่สำคัญเวลาเข้าเว็บไซด์ต่างๆ อาจถูก Phishing จะกรอกข้อมูลการเงิน ข้อมูลส่วนตัวอะไรต้องระวัง เช่น กรณี
    เจอข้อความเป็น Link ไปหน้าล็อกอินธนาคารออนไลน์ให้สงสัยไว้ก่อน เราควรจะพิมพ์เอง กรณีเจอคนบอกโทรมาขอข้อมูลธนาคารขอข้อมูล ถ้าไม่แน่ใจให้ตัดสายแล้วโทรกลับไปธนาคารเอง
  4. ตั้งค่าธุรกรรมการเงินเท่าที่ใช้ เช่น Mobile Banking สามารถกำหนดวงเงินที่โอนออกจากบัญชีได้ App ของบัตรเครดิตทุกวันนี้ก็ทำอะไรมากมาย

สรุป

เมื่อเกิดปัญหาเรื่องเงินขึ้น ลูกค้าต้องติดต่อธนาคารเพื่อป้องกันการรั่วไหลเพิ่มเติม หลังจากนั้นต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง หากแบงก์ช้าต้องพึ่งพา 1213 ของแบงก์ชาติ แต่เท่าที่เห็นปัญหาไหนเป็นข่าว เป็นที่สนใจกระบวนการของแบงก์จะเร็วขึ้นทันที เป็นลูกค้าวันนี้นอกจากหวังกับผู้กำกับอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย คงต้องพึ่งสื่อและ Social ด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

จากนักข่าวการเงินหนังสือพิมพ์ธุรกิจย่านประชาชื่น ผันตัวเข้าโลกออนไลน์ ความท้าทายครั้งใหม่คือการเล่าเรื่องเงินให้เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง