[วิเคราะห์] ทำไมธนาคารต้องเพิ่มสินเชื่อออนไลน์ให้ SME กู้ผ่านมือถือ แถมหาโซลูชั่นให้เพียบ?

ธุรกิจ SME มีปัญหามาท้าทายความสามารถตลอดเวลาทั้งเรื่องเงิน ระบบงาน การคุมต้นทุนสินค้า หรือการหาคู่ค้าใหม่ๆ พอดีกับฝั่งธนาคารหลายแห่งหันมาออกแอปพลิเคชั่น บริการใหม่ๆ ให้ SME ทำธุรกิจง่ายขึ้นแต่เพื่ออะไร?

ธนาคารแข่งให้สินเชื่อ SME หนุนลูกค้ามีสภาพคล่องหมุนธุรกิจ

ธุรกิจธนาคารแข่งกันให้สินเชื่อลูกค้า SME เพราะเป็น Segment ที่มีกำไรมากกว่าลูกค้ารายใหญ่ ปัจจุบันดอกเบี้ยสินเชื่อธุรกิจของรายใหญ่มักอยู่ที่หลักเดียว (เช่น 3-6% ต่อปี) แต่ดอกเบี้ยสินเชื่อ SME มีตั้งแต่ 9-15% ต่อปี ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ปัจจุบัน SME บางส่วนใช้สินเชื่อบัตรกดเงินสด หรือบัตรเครดิตดอกเบี้ย 18% มาใช้ในธุรกิจ

ทว่าเมื่อแบงก์ต้องการผลตอบแทนสูงขึ้นก็มาพร้อมความเสี่ยงที่สูงขึ้น ต้องขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นด้วย ช่องทางออนไลน์กลายเป็นหนทางในการเข้าถึง SME ทั้งลูกค้าเดิมที่มีบัญชีอยู่แล้ว เพราะธนาคารเห็นพฤติกรรมการรับ-จ่ายเงินของ SME ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์มากเมื่อธนาคารต้องติดตามหนี้ หรือเสนอสินเชื่อให้เพิ่ม

ทั้งนี้ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งขยายฐานสินเชื่อ SME บน Platform ออนไลน์ เช่น

  • ธนาคารกสิกรไทย ใช้ระบบ AI ส่งข้อเสนอสินเชื่อให้ลูกค้า SME เมื่อลูกค้ากดรับสินเชื่อจะได้เงินโอนเข้าบัญชีใน 1 นาที)
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ มีสินเชื่อเจาะกลุ่มแม่ค้าออนไลน์ร่วมกับ Lazada ชื่อ แม่มณีศรีออนไลน์,
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีสินเชื่อ Car for cash ให้ลูกค้า SME ขอสินเชื่อผ่านเว็บไซด์

นอกจากนี้ธนาคารส่วนใหญ่จับมือกับ Startup บริษัทเทคโนโลยี เครือข่ายโลจิสติกส์ โปรแกรมบัญชี โปรแกรมบริหารคลังสินค้า ฯลฯ เพราะปัจจุบันการแข่งขันเป็นบัญชีหลักของ SME (บัญชีที่เห็นการเข้าออกของเงินในบริษัท) และ SME มักเลือกใช้บริการที่คุ้มค่ามากกว่าดูแค่เรื่องดอกเบี้ย และพนักงานที่ดูแลสินเชื่อ เลยต้องเพิ่มบริการใหม่ให้ลูกค้าเสมอ ซึ่งยังเป็นช่องทางให้ธนาคารได้ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลธุรกิจ เพื่อวิเคราะห์

ภาพจาก Shutterstock

ธนาคารไซซ์กลางจับพาร์ทเนอร์ออกแอปฯ ใหม่เข้าถึงลูกค้า SME

อย่างไรก็ตามบางธนาคารต้องการเข้าถึงตัว และข้อมูลลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เมื่อฐานลูกค้าเดิมในแบงก์ไม่เยอะมาก ต้องร่วมกับพันธมิตรเจ้าอื่นเพิ่มบริการให้มากขึ้น ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้งาน อย่างธนาคารยูโอบี ล่าสุดเปิดตัวแอปพลิเคชั่น MatchLink ร่วมกับบริษัทด้านข้อมูลอย่าง บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) หรือ BOL เพื่อขยายฐานลูกค้า SME ที่มียอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ฐานข้อมูลที่ BOL มีอยู่และเปิดให้ SME ลงทะเบียนใช้บริการได้ฟรีคือ บริษัทที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาการค้าธุรกิจ 1.6 ล้านบริษัท เช่น ชื่อบริษัท ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ งบการเงิน ฯลฯ ข้อดีคือช่วย SME หาคู่ค้า Supply chain ขยายลูกค้าก็ทำได้ อย่างไรก็ตามหาก SME ต้องการข้อมูลธุรกิจเฉพาะที่ลึกกว่าน้ี BOL สามารถเสนอบริการขายข้อมูลอื่นๆ ได้ การจับมือระหว่างธนาคารและบริษัทข้อมูลถือเป็นกลยุทธ์ Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย

สยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (UOB) บอกว่า การปล่อยสินเชื่อออนไลน์กลุ่ม SME เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สินเชื่อ SME ของธนาคารยังเติบโต คาดว่าสิ้นปี 2019 นี้ยอดสินเชื่อ SME Retail (ยอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาทต่อปี) ใหม่จะอยู่ที่ 20,000 ล้านบาทเติบโต 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน

หลังจากนี้จะออกโปรดักส์ให้ลูกค้า SME สามารถกู้เงินออนไลน์ได้ โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันข้อดีคือ อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงได้อีกเพราะการมีหลักทรัพย์ค้ำประกันทำให้ความเสี่ยงเป็นหนี้สูญลดลง

สรุป

สุดท้ายแล้วไม่ว่าธนาคารจะให้สินเชื่อ SME ได้มากขึ้น แต่หากคุมหนี้เสียหรือ NPL ไม่ได้ จะกลายเป็นตัวถ่วงสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร เลยเป็นโจทย์ใหญ่ว่าแบงก์จะเข้าถึงข้อมูลลูกค้า และช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้ SME มีเงินจ่ายค่างวดหรือชำระหนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา