สินเชื่อ OD คืออะไร แตกต่างจากสินเชื่อทั่วไปอย่างไร

สภาพเศรษฐกิจในตอนนี้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าหลายคนอาจจะกำลังหนักใจเรื่องของการจัดบริหารจัดการเงิน แค่จัดการเพื่อใช้จ่ายในทุกวันก็ค่อนข้างจะตึงมืออยู่แล้วยังต้องวางแผนเผื่อในกรณีที่ต้องการใช้เงินแต่พึ่งใครไม่ได้ ยืมใครก็ไม่ได้ หลายคนอาจจะมองหาสินเชื่อกับทางธนาคารซึ่งสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่พ่อค้าแม่ค้ารู้จักดีนั่นก็คือสินเชื่อเงินก้อนที่จะได้เงินก้อนมาทีเดียวแล้วทะยอยชำระให้กับธนาคารตามงวดที่ตกลงไว้ในสัญญา แต่ยังมีอีกประเภทหนึ่งของสินเชื่อที่ช่วยบริหารจัดการเงินได้ดีเช่นกัน นั่นก็คือ สินเชื่อ OD

สินเชื่อ OD คืออะไร

สินเชื่อสำหรับบุคคลที่มีบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารพาณิชย์ หลายคนเรียกกันว่า “สินเชื่อ OD” “เงินเบิกเกินบัญชี” ลักษณะของสินเชื่อ OD จะเป็นการให้กู้ยืมแบบหมุนเวียนโดยธนาคารจะตั้งวงเงินไว้ในบัญชีกระแสรายวันที่ได้ทำไว้ เราสามารถเบิกใช้ได้เต็มจำนวนหรือทยอยถอนบางส่วนก็ได้โดยไม่เกินวงเงินที่ธนาคารกำหนดไว้ ทั้งนี้การคิดดอกเบี้ยจะคิดจากจำนวนที่มีการเบิกใช้ หากมีการจ่ายคืนก็จะเป็นการหยุดดอกเบี้ยทันที ต่างจากสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทเงินก้อนที่เราจะได้เงินก้อนเข้าบัญชีและคิดดอกเบี้ยตามที่เราตกลงกับธนาคารไว้

ข้อดีของสินเชื่อ OD

  • ใช้สำหรับเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ
  • ดอกเบี้ยจะหยุดคิดก็ต่อเมื่อเราชำระกับทางธนาคารเรียบร้อย ดังนั้นหากเป็นการเบิกใช้ระยะสั้น สินเชื่อ OD จะตอบโจทย์ได้ดีกว่า
  • วงเงินคงอยู่ตลอดไป หากมีเรื่องฉุกเฉินสามารถเบิกใช้ได้ตลอดเวลา ไม่มีระยะเวลาของสินเชื่อมากำหนด

ข้อเสียของสินเชื่อ OD

  • ดอกเบี้ยค่อนข้างสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น ดังนั้นจึงเหมาะกับการใช้บริหารจัดการเงินระยะสั้น เช่นการเพิ่มการลงทุนกับสินค้ากะทันหัน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับธุรกิจแบบไม่คาดฝัน หรือการต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉินเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้
  • หากนำเงินไปใช้งานผิดวัตถุประสงค์อาจทำให้กระแสเงินสดเข้าสู่บัญชีช้า ทำให้เกิดการคาดสภาพคล่องทางการเงิน และผิดชำระหนี้ในที่สุด

เงื่อนไขในการขอสินเชื่อ OD 

สินเชื่อ OD จะมีการตรวจคุณสมบัติผู้ยื่นขอสินเชื่อค่อนข้างละเอียด เนื่องจากต้องคัดกรองความสามารถในการชำระหนี้ ไม่นำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ของสินเชื่อ รวมถึงไม่หนีหนี้ โดยคุณสมบัติหลักๆ ที่จะทำการพิจารณามีดังนี้

  • เป็นบุคคลที่ประกอบธุรกิจหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย
  • อายุ 20-65 ปี
  • มีประสบการณ์ดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด
  • ไม่มีประวัติค้างชำระเกิน 30 วัน ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
  • ไม่เคยมีประวัติปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินใด ๆ มาก่อน
  • ไม่เป็นหนี้เสีย หรือ NPL กับสถาบันการเงินใด ๆ ณ ปัจจุบัน
  • ไม่เคยถูกฟ้องร้องและมีคำพิพากษาเป็นฝ่ายผิดเกี่ยวกับการเงิน ถูกอายัดทรัพย์ เป็นบุคคลล้มละลาย หรือถูกศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
  • เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ธนาคารจะกำหนด

การทำสินเชื่อประเภทต่างๆ ต้องพิจารณาให้ดีว่าตัวเราหรือธุรกิจของเรานั้นเหมาะกับประเภทสินเชื่อแบบใด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดดอกเบี้ยในระยะยาวรวมทั้งเกิดการผิดนัดชำระ ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียมากมายตามมาในอนาคต

Source: ddproperty,krungthai, rabbitcare,Money Coach

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา