แบงก์ชาติแจง “กังวลค่าเงินบาท” 5 ปีที่ผ่านมา แทรกแซงเงินบาทจนทุนสำรองเพิ่มเกือบ 2.4 แสนล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทยแจง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 2558 – 2562 เงินทุนสำรองพุ่งเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.4 แสนล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ หากแบงก์ชาติไม่ได้เข้าดูแลเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เงินทุนสำรองฯ ก็จะไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทก็อาจจะแข็งกว่าระดับปัจจุบัน 

เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงเรื่อง “สถานกรณ์ค่าเงินบาท” ณ ห้องแถลงข่าว อาคาร 2 ชั้น 1 ธปท. สำนักงานใหญ่ โดยระบุว่าภาพรวม ค่าเงินบาที่แข็งค่าขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกสูงกว่ารายจ่ายจากการนำเข้า)

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติเป็นความเข้าใจคาดเคลื่อน หากดูตัวเลขจะเห็นว่าการลงทุนของต่างชาติสุทธิทั้งปี 2019 ไหลออกเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง ยังกังวลการแข็งค่าของเงินบาท และติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมถ้าจำเป็น

การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของแบงก์ชาติในการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท แบงก์ชาติจะเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์และขายเงินบาท โดยเงินดอลลาร์ที่ซื้อเข้ามาอยู่ในรูปของเงินสำรองฯ เงินสำรองฯ ก็จะเพิ่มขึ้น หากต้องการชะลอการอ่อนค่า แบงก์ชาติจะขายเงินดอลลาร์ที่อยู่ในเงินสำรองฯ เพื่อซื้อเงินบาท เงินสำรองฯ ก็จะลดลง

ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

เงินสำรองปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ไทยมีเงินสำรองฯ เยอะติดอันดับต้นๆของโลก สะท้อนว่าแบงก์ชาติได้มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดด้วยการซื้อเงินดอลลาร์ต่อเนื่อง ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) เงินทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 2.4 แสนล้านบาท ถือเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้การค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ หากแบงก์ชาติไม่ได้ดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เงินทุนสำรองฯ ก็จะไม่เพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทก็อาจจะแข็งกว่าระดับปัจจุบัน 

การบริหารการจัดค่าเงินต้องให้เกิดสมดุลในระยะยาว แบงก์ชาติระบุ ถ้าเราเข้าแทรกแซงจนบาทอ่อนกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เท่ากับเราใช้ค่าเงินเพื่อให้สินค้าของไทยได้เปรียบกับประเทศคู่แข่งชั่วคราว ซึ่งไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง หากเป็นที่สังเกตจะถูกกีดกันทางการค้าหรือการใช้มาตรการทงภาษีสร้างความเสียหายต่อการส่งออกในระยะยาวได้

ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนนโยบาย QE (Quantitative Easing) นั้น QE คือการทำนโยบายผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ภาคเอกชนในประเทศจำนวนมาก จะส่งผลให้สภาพคล่องในระบบปรับตัวสูงขึ้น หากต้องการช่วยให้ SME เกิดสภาพคล่องมากขึ้น รัฐอาจให้ soft loan ผ่านธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและตรงจุดกว่า

ประเทศที่เกินดุลบัญชีสะพัดในระดับสูงใกล้เคียงไทยอย่างไต้หวันและเกาหลี แต่สกุลเงินไม่แข็งค่าเนื่องจากมีเงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก ช่วยลดแรงกดดันจากเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนใหญ่เป็นการออกไปลงทุนของนักลงทุนสถาบัน เช่น ประกันชีวิต ขณะที่ไทยยังไม่มีการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศนัก

ค่าเงินบาทแข็งมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ แบงก์ชาติกล่าว เหรียญอีกด้านหนึ่งที่มีผลต่อเศรษฐกิจด้านการส่งออกแล้ว คือเป็นประโยชน์ต่อเอกชนบางกลุ่ม เช่น ทำให้ต้นทุนนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรถูกลง ประชาชนที่มีหนี้ต่างประเทศจะมีหนี้ลดลง ไทยนำเข้าน้ำมันดิบปีละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังนั้น ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า ช่วยไทยประหยัดต้นทุนประเทศได้ 2 หมื่นล้านบาท

แบงก์ชาติสรุปว่ายังหารือกับภาครัฐเพื่อร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เงินบาทเป็นแค่อาการสะท้อนมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องช่วยแก้ไขทุกภาคส่วน เช่น

  • เพิ่มการนำเข้า ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือลงทุนเครื่องจักร
  • ลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก
  • สนับสนุนการออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศ

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา