แบงก์ชาติรายงาน เศรษฐกิจไทยหดตัว เสถียรภาพมีทิศทางแย่ลง นักท่องเที่ยวหดตัวรุนแรง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคมและไตรมาส 1 ปี 2563 พบว่า เศรษฐกิจไทยเดือนมีนาคม 2563 หดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวรุนแรง ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจปรับไปในทิศทางแย่ลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ

โดยด้านนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หดตัวรุนแรงที่ 76.4% จากระยะดียวกันกับปีก่อน เป็นการหดตัวสูงทุกสัญชาติ การประกาศใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศหลายแห่งรวมไทยด้วยเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงมาก กระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร

มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 2.2% จากระยะดียวกันกับปีก่อน ถ้าไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ 6.5% หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน หดตัวในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะยานยนตร์และชิ้นส่วนและสินค้ากลุ่มที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เป็นผลจากมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ

เครื่องชี้การบริโภคเอกชน หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน การใช้จ่ายเกือบทุกหมวด กำลังซื้อภาคครัวเรือนอ่อนแอลง ทั้งด้านรายได้ การจ้างงาน ความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมทั้งความกังวลต่อโรคโควิด-19 การเดินทางและการใช้จ่ายนอกบ้านลดลง หมวดสินค้าอุปโภคบริโคที่จำป็นและการใช้ใฟฟ้าขยายตัว การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง รวมทั้งความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ลดลงต่อเนื่องตามสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19

มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัว 4.4% จากระยะเดียวกันกับปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวอยู่ที่ 1.3% การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางโดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าบางกลุ่มกลับมาขยายตัว การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนยังคงหดตัว สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน กลับขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ตามการทยอยเบิกจ่ายภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 เป็นหลัก รายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจปรับไปในทิศทางที่แย่ลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัวสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดยังคงเป็นบวก แต่ปรับลดลงจากเดือนก่อน

ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้าที่ลดลงจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นและรายรับภาคการท่องเที่ยวลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์และหนี้สิน อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งอุปสงค์ต่อไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่มีการหดตัวสูง การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่อง เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนแผ่วลงตามรายได้และความเชื่อมั่นที่ปรับลดลงมาก โดยมีเพียงการใช้จ่ายในหมวดสินค้าที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่องจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสอดคล้องกัน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่เป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อน ขณะที่ตลาดแรงงานเปราะบางเพิ่มขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงมาก ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากทั้งด้านทรัพย์สินและหนี้สิน

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
สนใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทูต การเมือง ประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรมและความเท่าเทียม ชอบอ่าน ชอบเขียน ชอบสืบค้นข้อมูล ชอบทำคอนเทนต์