ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติเตรียมออกใช้ธนบัตรชนิดราคา 20 บาทที่เปลี่ยนวัสดุการพิมพ์เป็นพอลิเมอร์
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธนาคารจะออกธนบัตรชนิดใหม่นี้เพื่อพัฒนาคุณภาพธนบัตรให้มีอายุยาวนานขึ้น ใหม่ สะอาดต่อผู้ใช้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธนบัตรชนิดราคา 20 บาท เป็นธนบัตรที่ประชาชนใช้จ่ายบ่อยที่สุด มีความถี่ในการเปลี่ยนมือสูง ทำให้ธนบัตรมีสภาพเก่าและสกปรกง่ายกว่าธนบัตรชนิดราคาอื่น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเปลี่ยนวัสดุธนบัตรชนิดราคา 20 บาทเป็นพอลิเมอร์แทนกระดาษ เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีพื้นผิวเรียบสะอาด ทนทาน ทำให้ธนบัตรพอลิเมอร์มีอายุการใช้งานนานกว่ากระดาษ ส่งผลให้ลดปริมาณการผลิตลงและเอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการออกใช้ธนบัตรของธนาคารกลางหลายประเทศที่หันมาใช้ธนบัตรพอลิเมอร์มากขึ้น
ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาทจะมีลักษณะโดยรวมเหมือนธนบัตรกระดาษที่หมุนเวียนในปัจจุบัน โดยมีการใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัย มีจุดสัมผัสสำหรับผู้บกพร่องทางสายตาเช่นเดียวกับธนบัตรทุกรุ่นที่ผ่านมา ธนบัตรพอลิเมอร์ชนิดราคา 20 บาทจะเริ่มออกใช้หมุนเวียนวันที่ 24 มีนาคม 2565 ประชาชนสามารถเบิกถอนได้ผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง สำหรับธนบัตรกระดาษที่ยังใช้หมุนเวียนในปัจจุบัน ยังสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติ
สาเหตุที่เลือกใช้พอลิเมอร์
ผู้ช่วยผู้ว่าการสายออกบัตรธนาคาร พูดถึงสาเหตุที่เลือกใช้พอลิเมอร์ เนื่องจากธนบัตรชนิดราคา 20 บาทที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนั้นมีคุณภาพความสะอาดไม่ได้มาตรฐานเท่าที่เราอยากเห็น มีการใช้หมุนเวียนประจำ ใช้มาก มีโอกาสที่ธนบัตรชนิดราคา 20 บาทจะเข้าสู่การทำลายได้น้อยลงเพราะหมุนเวียนอยู่ในตลาด ทำให้เกิดปัญหาความสะอาด ธนบัตรชนิดราคา 20 บาทควรมีอายุการใช้งาน 2 ปี แต่ใช้ระยะเวลาจริงคือ 3 ปีกว่าจะเข้าสู่กระบวนการทำลาย ดังนั้น ธนบัตรชนิดที่ว่านี้จึงสกปรกพอสมควร
ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงหาทางศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้ธนบัตรสะอาดได้ ก็พบว่าในยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลียและเพื่อนบ้านที่มีอากาศร้อนชื้นเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามต่างหันมาใช้ธนบัตรพอลิเมอร์มากขึ้น โดยฉพาะธนบัตรที่มีชนิดราคาต่ำที่ใช้ในการหมุนเวียน ประชาชนยอมรับ มีความสะอาดมากขึ้น เป็นพอลิเมอร์ที่ไม่ดูดซับความชื้นและสิ่งสกปรก จึงมีอายุการใช้งานมากกว่าธนบัตรกระดาษ 2.5 เท่า
ลักษณะของธนบัตรที่กำลังออก
ในการพิมพ์ธนบัตรครั้งนี้ ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ที่มีพัฒนาการดีขึ้นในรอบ 10-20 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหมึกพิมพ์ หรือวัสดุที่ใช้เคลือบผิว ทำให้ธนบัตรที่ออกมามีคุณภาพดี มีความคงทน มีภาพและลักษณะโดยรวมเหมือนธนบัตรกระดาษที่ใช้หมุนเวียนปัจจุบัน
ใช้เทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงมาตรฐานขั้นสูง ยากต่อการปลอมแปลง ยังสามารถทดสอบได้เหมือนเดิม คือสัมผัส ยกส่อง พลิกเอียงเช่นเดียวกับธนบัตรที่ใช้ในปัจจุบัน ลวดลายเส้นนูนบริเวณพระบรมสาทิสลักษณ์และตัวเลขแจ้งราคาสามารถสัมผัสได้ด้วยปลายนิ้วมือ และบริเวณลายน้ำ เมื่อยกส่องจะเห็นภาพเงาพระบรมสาทิสลักษณ์ได้ชัดเจนทั้งสองด้านของธนบัตร และเมื่อพลิกเอียงธนบัตรจะเห็นตัวเลขแฝงเป็นเลข 20 ภายในแถบสีเทาแนวตั้งและตรงข้อความแจ้งราคาด้วย สำหรับลักษณะต่อต้านการปลอมแปลมที่ใช้ในครั้งนี้ที่เพิ่มขึ้นคือมีช่องใสที่มองเห็นทะลุสองด้าน บริเวณช่องใสด้านล่างที่เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์จะมีตัวเลข 20 พิมพ์ด้วยหมึกสีพิเศษจะมีสีเหลือบแดง
สำหรับผู้บกพร่องทางสายตายังสามารถสัมผัสเส้นสัญลักษณ์รูปดอกไม้ที่พิมพ์นูนสองดอกที่บ่งบอกราคา 20 บาทได้เช่นเดียวกับธนบัตรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพิ่มเติมอีกหนึ่งแห่งคือช่องใสทรงหยดน้ำจะมีตัวเลข 20 พิมพ์นูนให้สัมผัสได้ ธนบัตรแบบ 20 บาทในปัจจุบันยังคงใช้งานอยู่
ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา