กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ทำให้ไทยจะเหลืออัตราดอกเบี้ยเพียงแค่ 1.25% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดตั้งแต่หลังช่วงวิกฤติการเงินปี 2009
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในบ่ายวันนี้ได้มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซึ่งทาง กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลงซึ่งส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม
- ศูนย์วิจัยกสิกรคาด กนง. ลดดอกเบี้ยวันนี้เหลือ 1.25% หลังสัญญาณเศรษฐกิจยังชะลอตัว
- “สมคิด” ย้ำให้แบงก์ชาติดูแลค่าเงินบาทใกล้ชิด หลังค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีกว่า
โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% ของไทยนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดของเศรษฐกิจไทย โดยใช้ในช่วงของวิกฤติการเงินเพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ก่อนหน้านี้ Bloomberg ได้ทำผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ 26 คนจากหลากหลายสถาบันการเงิน โดย 16 คนคาดว่าการประชุมครั้งนี้จะมีการลดดอกเบี้ย
สำหรับกรรมการส่วนใหญ่ 5 เสียงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่กรรมการ 2 เสียง เห็นว่าในภาวะปัจจุบันที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลายอยู่แล้ว การลดอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังจำเป็นต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ที่มีจำกัดเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน กนง. ยังกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ กนง. สนับสนุนให้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และช่วยให้ภาคเอกชนบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจำเป็น
สำหรับระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคตโดยเฉพาะคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SMEs ที่ด้อยลง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำ พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร
กราฟอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยตั้งแต่ปี 2000
ข้อมูลจาก: tradingeconomics.com
ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา