ส้มหล่น! แบงก์พาณิชย์เตรียมรับทรัพย์ 16,000 ล้านบาท ผลจากธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75%

หลายคนมองว่าธนาคารพาณิชย์คือเสือนอนกิน เพราะเป็นตัวกลางรับเงินฝากแล้วปล่อยกู้กินดอกเบี้ยแบบสบายๆ ยิ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คนก็กลัวว่าต้องเจอดอกเบี้ยสูงขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ภาพจาก Shutterstock

ดอกเบี้ยนโยบายมีไว้ทำไม? ทำไมธปท.ขึ้นดอกเบี้ยแล้วแบงก์ได้เงินเพิ่ม 16,000 ล้านบาท

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics บอกว่า ธนาคารกลางแต่ละประเทศจะใช้ดอกเบี้ยนโยบายเพื่อคุมเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และเพื่อส่งผ่านนโยบายจากส่วนกลางไปถึงธนาคารพาณิชย์

“บางประเทศธนาคารพาณิชย์ต้องกู้เงินจากแบงก์ชาติเพื่อไปปล่อยกู้ต่อ โดยจ่ายตามดอกเบี้ยนโยบายของแต่ละประเทศ แต่ไทยจะต่างกันเพราะแบงก์พาณิชย์ทุกวันต้องนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินมาฝากไว้ที่ธปท. และแบงก์ชาติต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารพาณิชน์ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้อยู่ที่ 1.75%”

ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบแบงก์ไทยอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาท ทุกเย็นแบงก์พาณิชย์จะส่งสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 1.3 ล้านล้านบาทมาฝากไว้ที่ธปท. (เรียกว่า Bilateral Reverse Repo) โดยจะได้เงินค่าดอกเบี้ยเป็นรายวัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 1.75% ก็คาดว่าผลตอบแทนที่แบงก์พาณิชย์จะได้ไปอยู่ที่ 16,000 ล้านบาทต่อปี

ฝากเงินแบงก์ชาติได้ดอกเบี้ยตั้ง 1.75% ทำไมต้องปล่อยกู้รายย่อยให้เหนื่อย

แบงก์พาณิชย์ทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนให้คนในประเทศ เมื่อแบงก์ปล่อยกู้ให้ประชาชน สมมติว่าดอกเบี้ยกู้อยู่ที่ 6% แบงก์ต้องตั้งสำรองหนี้เสียตามเกณฑ์ประมาณ 3% มีต้นทุนเงินฝากที่ให้ประชาชนประมาณ 0.5% รวมถึงการบริหารจัดการไม่ให้เกิดหนี้เสีย จะเห็นว่าแบงก์พาณิชย์ได้ผลตอบแทนต่ำ แต่ถ้าไปฝากเงินที่แบงก์ชาติได้ดอกเบี้ย 1.75% โดยไม่มีความเสี่ยง แถมได้ดอกเบี้ยรายวัน ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจจะกระตุ้นในแบงก์พาณิชย์หันมาฝากเงินที่แบงก์ชาติมากขึ้น

และถ้าแบงก์พาณิชย์ทุกแบงก์ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้กับรายย่อย ผู้ฝากเงินก็เสียโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ยดีขึ้น และอาจเห็นภาพธนาคารปล่อยสินเชื่อรายย่อยยากขึ้นด้วย

“ธรรมชาติของแบงก์พาณิชย์หากจะขึ้นดอกเบี้ยเขาจะขึ้นทั้งขาเงินกู้และเงินฝาก ถ้าแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้มักจะขยับขึ้น 50% (ประมาณ 0.125%) แต่แบงก์พาณิชย์ควรขยับขึ้นดอกเบี้ยเพราะจะเกิดผลดีกับประชาชนมากกว่า เนื่องจากปัจจุบันในไทยมีเงินฝากรายย่อยกว่า 7 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันการขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบผู้กู้มากนัก เพราะคนที่กู้ยังจ่ายค่างวดเท่าเดิม แต่ SME กระทบเล็กน้อยเพราะ MOR MLR จะเพิ่มขึ้น แต่แบงก์ก็สามารถออกมาตรการช่วยเหลือได้อยู่ดี”

ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ด้านเงินฝาก เชื่อว่าจะไม่กระทบต่ออัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สทุธิ (NIM) ของแบงก์ทั้งระบบ เพราะแบงก์ทั้งหลายมีการบริการจัดการ NIM ที่ดีอยู่แล้ว ปัจจุบัน NIM อยู่ที่ราว 3% กว่า

แล้วแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยเพื่ออะไร

จุดประสงค์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธปท. ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) และต้องการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน จากปัจจุบันปัญหาเสถียรภาพการเงินมาจาก การอที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ (ทั้งทั่วโลกและไทย) เป็นเวลานาน ทำให้เกิด Search for Yield (การหาผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น คนกู้เงินไปลงทุนความเสี่ยงสูง ฯลฯ)

ดังนั้นถ้าแบงก์ไม่ขึ้นดอกเบี้ย ผู้ฝากเงินก็อาจได้ดอกเบี้ยต่ำ คนก็ยังออกไปลงทุนที่ความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินที่เป็นเป้าหมายหลักของแบงก์ชาติ

เราคิดว่าควรขยับดอกเบี้ย ไม่งั้นดอกเบี้ยนโยบายจะมีความศักดิ์สิทธิ์อะไร ที่อยากตอบคือ มันศักดิ์สิทธิเพราะแบงก์เอาเงินไปปล่อยธปทแล้วธปท.ต้องจ่ายเรทที่แพงขึ้นก็คือเงินของประชาชน เหล่านี้มีดาวน์ไซด์ ไม่ใช่ว่าขึ้นดอกเบี้ยแล้วผู้ประกอบการบอกว่าจะลำบากมาก แบงก์สามารถเลือกวิธีที่จะทำให้กลุ่มเหล่านี้ไม่กระทบ โดยการออกโปรแกรมล็อคเรทดอกเบี้ย สำหรับเฉพาะกลุ่ม เช่นเอสเอ็มอี เพราะหากไม่ขึ้นดอกเบี้ย ก็แปลว่าทั้งสองขาก็ไม่ขึ้น ไม่งั้นการส่งผ่านนโยบายบายการเงินขาดตอน

สรุป

ดอกเบี้ยแบงก์ชาติเป็นสัญญาณที่นักลงทุนใช้มองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เลยเห็นการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในส่วนของไทยที่มีสภาพคล่อง (มีเงินในระบบเยอะๆ) ดอกเบี้ยแบงก์ชาติเลยเป็นสิ่งที่แบงก์ชาติต้องจ่ายเงินให้แบงก์พาณิชย์ แต่การขึ้นดอกเบี้ยก็มีผลดีต่อผู้ฝาก และอาจกระทบกับผู้กู้นั้นเอง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา