ช่วงสิ้นเดือนที่ผ่านมา ระบบธนาคารพาณิชย์ในไทยเกิดปัญหาพร้อมๆ กัน ทำให้ประชาชนทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ บางแบงก์ยังลามไปถึงบริการทางการเงินในช่องทางอื่นๆ เช่น ATM ฯลฯ
แต่สุดท้ายช่วงเย็นเราก็เห็นว่าบริการของหลายธนาคารกลับมาใช้ได้เป็นปกติ (บางคนยังต้องรอการแก้ไขในวันที่ 1 ก.ย. 2561) ว่าแต่สิ้นเดือนก.ย.นี้ อะไรจะเป็นหลักประกันว่าแบงก์จะใช้ได้ ?
แบงก์คอนเฟริมไม่ได้ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นไหม แต่จะพยายามถึงที่สุดไม่ให้เกิดปัญหาอีก
สมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส–เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในฐานะประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมธนาคารไทย บอกว่า เราไม่สามารถคอนเฟริมได้ว่าปัญหาระบบแบงก์จะเกิดขึ้นอีกไหม แต่เราจะพยายามให้ดีที่สุดเพื่อลด และแก้ปัญหาเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้น
ล่าสุดวันที่ 5 ก.ย. 2561 ทางสมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ITMX (บริษัทกลางที่ดูแลการเชื่อมต่อระบบระหว่างธนาคาร) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกัน
จนได้ข้อสรุปแนวทางการเแก้ปัญหา 6 ข้อ เช่น การเพิ่มความสามารถในการรองรับธุรกรรมทั้งฝั่งแบงก์และ ITMX ตั้งคณะทำงานกลางเพื่อสร้างเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าจะตัดแบงก์ที่มีปัญหาออกจากระบบช่วงคราวและต่อกลับทันทีอย่างไร การสร้าง Dashboard กลางเพื่อแสดงสถานะระบบของแต่ละแบงก์ให้รับมือปัญหาได้เร็วขึ้น ฯลฯ
ย้อนรอยวันที่ 31 ส.ค. 1 ก.ย. เกิดอะไรขึ้นกับระบบให้บริการของ KBank ?
วันที่ 31 ส.ค. 2561 – เวลา 6.30 น. มักจะมี Spike (Trafic ที่พุ่งขึ้นรวดเร็ว) เกิดขึ้นบ่อยๆ พนักงานของ KBank เลยเข้าไปดูเรื่องนี้และมีการใช้คำสั่งผิดรูปแบบ จนส่งผลให้ต่อ Core Switch ที่เชื่อมโยงระบบทั้งหมดของธนาคารไม่ทำงาน
เวลา 6.31 น. ทาง ITMX เลยถอดการเชื่อมต่อระหว่างกสิกรไทย ออกจากระบบกลางเพื่อป้องกันปัญหาที่จะลามไปธนาคารอื่นๆ จนเวลาประมาณ 11.05 น. ระบบก็กลับมาใช้งานได้และเชื่อมต่อกับระบบกลางได้เป็นปกติ
“ทุกวันนี้ธุรกรรมในระบบ Mobile เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายธนาคารที่เกิดปัญหาขึ้นโดยเฉพาะหลัง 11.00 น. เขาต้องไปดูเรื่อง Capacity ภายในของแบงก์เองว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างไร แต่เรายอมรับว่าการบริการของกสิกรไทยในวันที่ 31 ส.ค. เกิดจาก Human Error ของกสิกรไทยเรา”
ส่วนวันที่ 1 ก.ย. 2561 ระบบของกสิกรไทยทำงานตามปกติ แต่ระบบของเราจับความผิดปกติของธุรกรรมที่ส่งเข้ามาในระบบแบงก์ว่าเป็น Code Error จำนวนหนึ่งและส่งกลับไปที่ ITMX ซึ่งต้องการให้ เคแบงก์ตรวจสอบสาเหตุที่เกิดขึ้นจึงถอดระบบเคแบงก์ออกจากระบบพร้อมเพย์ชั่วคราว (กสิกรไทยเลยเปิดใช้ระบบสำรองที่ชื่อ PCC เพื่อให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้) หลังการตรวจสอบแล้วประมาณ 16.11 น.ก็สามารถเชื่อมกับระบบพร้อมเพย์ได้ตามปกติ
Code Error คือ Code ของบัญชีไม่ถูกต้อง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เลขบัญชีกับเลขเบอร์มือถือมี 10 หลักเหมือนกัน ลูกค้าบางคนก็กรอกเบอร์มือถือในช่องเลขบัญชีแล้วส่งทำธุรกรรมเลยไม่สามารถทำธุรกรรมได้ แล้วก็กดซ้ำๆ จนกลายเป็นธุรกรรมเทียม โดยในวันที่ 1 ก.ย. มี Code Error อยู่ที่ 40,000 รายการ (ปกติเฉลี่ยประมาณ 20,000-30,000 รายการต่อวัน)
ต่างประเทศเขาแก้ปัญหาระบบแบงก์ล่มอย่างไรบ้าง
ในบางประเทศอย่างญี่ปุ่นจะมี ระบบ Switching ที่เป็นตัวกลางระหว่างธนาคารหลายแห่งเพื่อป้องกัน ตัวกลางใดตัวกลางหนึ่งมีปัญหา สมคิด บอกถึงเรื่องนี้ว่าในไทยเรามี ITMX และ PCC รวมเป็น 2 แห่งถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะแต่ละตัวกลางจะมีระบบย่อยๆ ที่เป็นระบบให้บริการสำรองมากกว่า 1 ระบบอยู่แล้ว
นอกจากนี้ไทยเรายังมีระบบการโอนเงินที่ต่างจากประเทศอื่นๆ เพราะเราเป็นระบบ Real-Time คือเมื่อมีการโอนเงินแล้วเราจะเห็นเงินเข้าบัญชีผู้รับทันที ทำให้ระบบมีความซับซ้อนกว่าบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ระบบการโอนเงินอาจใช้เวลา 2-3 วันกว่าเงินจะเข้าบัญชีปลายทาง แต่ก็มีคนที่ใช้ระบบโอนเงินแบบ Real-Time เหมือนเราคือ สิงคโปร์ และอังกฤษ (บางส่วน)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา