หลังจากที่บทความในชุด “เปิดผลสำรวจ InterNations เมืองไหนดีต่อใจคนทำงานมากที่สุด” ตอนที่ 1 ได้พาเราไปสำรวจดูความเป็นอยู่ของคนเมืองทั่วโลก บทความตอนที่ 2 นี้ จะพาผู้อ่านนำบทเรียนจากทั่วทุกมุมโลกกลับมาย้อนมองชีวิตความเป็นอยู่ใน “กรุงเทพฯ” ว่าเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
InterNations เปิดสำรวจเมือง(ไม่)น่าอยู่ในโลกผ่านการสำรวจชีวิตคนที่ย้ายไปทำงานต่างประเทศ (expats) 15,000 คน จาก 173 ประเทศและเมืองกว่า 66 เมืองทั่วโลก
กรุงเทพได้อันดับกลางๆ: ชีวิตดีดี ที่ลงตัว?
ในปี 2020 กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง ถูกจัดให้เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 30 จากทั้งหมด 66 เมืองที่ทำการสำรวจ
โดยหากดูเชิงเปรียบเทียบ กรุงเทพในอันดับกลางๆ ของตาราง กล่าวคือ เป็นส่วนผสมของเรื่องดีในบางเรื่องและเรื่องไม่ดีในบางเรื่อง โดยกรุงเทพฯ มีอันดับในแต่ละหมวดย่อย ดังนี้
- คุณภาพความเป็นอยู่ในเมือง อันดับ 53
- ชีวิตการทำงานในเมือง อันดับ 50
- ความง่ายในการปรับตัวเข้ากับเมือง อันดับ 28
- การเงินและที่พักอาศัย อันดับ 4
คุณภาพความเป็นอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ดีนักจากการจัดอันดับ (อันดับ 53) กรุงเทพฯ ถูกจัดให้เป็นประเทศอันดับสุดท้ายในเรื่องของสิ่งแวดล้อมในเมือง โดย 64% ของคนที่ย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ ไม่พึงพอใจสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับโลกในเรื่องนี้อยู่ที่ 21% ในด้านการขนส่งสาธารณะ ความปลอดภัย และสุขภาวะในเมือง ไม่มีเรื่องใดที่กรุงเทพฯ ได้อันดับเกิน 48
ในเรื่องของชีวิตการทำงานในเมือง กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 50 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ความเจริญในประเทศไทยรวมศูนย์อยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้คนทำงานในกรุงเทพฯ มีจำนวนมาก และมีการแข่งขันสูง ผลักดันให้อันดับในเรื่องนี้ของกรุงเทพฯ ไม่สู้ดีเท่าใดนัก
อย่างไรก็ดี กรุงเทพได้อันดับกลางๆ (อันดับ 28) ในเรื่องความง่ายในการปรับตัว เป็นที่รู้กันดีว่าชาวต่างชาติมักจะมีมุมมองที่ดีต่อความเป็นมิตรของคนไทย และกิจกรรมทางสังคมในกรุงเทพฯ โดย 75% ของคนที่่ย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ มีมุมมองในแง่บวกต่อความเป็นมิตรต่อคนกรุงเทพฯ มากกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่ 8% ในขณะที่ 72% ของคนต่างชาติที่ทำงานในกรุงเทพพึงพอใจชีวิตทางสังคมในกรุงเทพฯ มากกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก 13%
กรุงเทพฯ ทำได้ดีในเรื่องของการเงินและที่พักอาศัย (อันดับ 4) ชาวต่างชาติที่ย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ มองว่าการอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นมิตรต่อสถานภาพทางการเงินของพวกเขา ชาวสหรัฐฯ ที่ย้ายมาในกรุงเทพฯ ท่านหนึ่งบอกว่าเขาใช้เงินเพียงแค่ 1 ใน 3 ของที่ใช้ในสหรัฐฯ ก็ทำให้มีชีวิตที่ดีระดับเดียวกันได้ แน่นอนว่าค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ย่อมต่ำกว่าเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลกเป็นธรรมดา จึงทำให้การอยู่ในกรุงเทพฯ มีราคาที่ต้องจ่ายต่ำในมุมมองชาวต่างชาติ แต่ก็ยังคงมีคำถามว่าแล้วค่าครองชีพในกรุงเทพฯ “ถูก” สำหรับคนไทยหรือไม่
ควรกล่าวด้วยว่า อันดับที่ดีในด้านสถานภาพทางการเงินและที่พักกอาศัยเป็นจุดร่วมกับเมืองอื่นๆ ในอาเซียน เช่น กัวลาลัมเปอร์ (อันดับ 1) โฮจิมินห์ซิตี้ (อันดับ 5) และ สิงคโปร์ (อันดับ 15)
สรุป
จากการจัดอันดับของ InterNations ผ่านการสำรวจชีวิตคนที่ย้ายไปทำงานต่างประเทศ พบว่า กรุงเทพเป็นเมืองน่าอยู่ที่อันดับที่ 30 จาก 66 โดยได้เปรียบในเรื่องค่าครองชีพ แต่ทำคะแนนได้ไม่ดีในประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตและวิถีของการทำงาน
อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นของผู้เขียนมองว่า หากเราจะลองทบทวนตัวเองว่าความเป็นอยู่ของเราดีต่อใจหรือไม่ เราไม่ควรหยุดอยู่ที่การภาคภูมิใจเฉพาะในด้านดี แต่เราควรถามตัวเองดังๆ ว่า เราควรหยุดแค่นี้หรือมองอันดับในด้านอื่นๆ ที่ไม่สู้ดีนักเป็นสำคัญ ซึ่งจะนำมาสู่การมองว่าเมืองของเรามีช่องว่างสำหรับการพัฒนาต่อไป หรือก็คือการมองว่า “ชีวิตเราดีขึ้นได้มากกว่านี้อีก”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา