กรุงเทพฯ เมืองแห่งโอกาส มีตำแหน่งงานว่างมาก แต่แลกด้วยความกดดันในการใช้ชีวิต

กรุงเทพมหานคร นอกจากจะมีความสำคัญในฐานะเมืองหลวงของไทยแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และโอกาสในการทำงานของคนจากทุกๆ จังหวัดในประเทศไทย ที่เดินทางเข้ามาหางานทำ

ภาพจาก Shutterstock

จากข้อมูลสถิติตำแหน่งงานว่าง ที่ต้องการแรงงาน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่า ทั้งประเทศ มีตำแหน่งงานว่างที่กำลังเปิดรับสมัครคน 377,382 ตำแหน่ง โดยในจำนวนนี้ เป็นตำแหน่งงานว่างในกรุงเทพมหานคร ถึง 91,392 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 24.21% ของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศ

เทียบกับในจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ที่มีประชากรอยู่หนาแน่น อย่าง เชียงใหม่ ที่มีตำแหน่งงานว่าง 10,215 ตำแหน่ง ภูเก็ต ตำแหน่งงานว่าง 7,017 ตำแหน่ง ขอนแก่น ตำแหน่งงานว่าง 3,299 ตำแหน่ง นครศรีธรรมราช ตำแหน่งงานว่าง 3,484 ตำแหน่ง

ตัวเลขตำแหน่งงานว่างในแต่ละจังหวัดข้างต้นนี้ ในอีกทางหนึ่ง ก็สามารถเรียกได้ว่า เป็นตัวเลขแห่งโอกาสที่จะได้งานทำเช่นเดียวกัน

ในปี 2561 มีนักศึกษาจบใหม่ ในระดับปริญญาตรี เป็นจำนวน 303,149 ราย ระดับปริญญาโท 31,273 ราย และระดับปริญญาเอก มีผู้จบการศึกษา 3,905 ราย (ข้อมูลจาก กระทรวงการอดุมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ยังไม่รวมกับผู้ที่กำลังตกงาน เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อีกหลายแสนราย ซึ่งทั้งนักศึกษาจบใหม่ และผู้ที่กำลังตกงานอยู่ในขณะนี้ จะยิ่งเป็นการเพิ่มอัตราการแข่งขันในการหางาน เพราะผู้ที่กำลังหางานมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขตำแหน่งงานว่างยังคงมีเท่าเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลง

กรุงเทพฯ เมืองแห่งโอกาสในการทำงาน

ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ในปัจจุบันเหล่าบรรดานักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยจำนวนมาก จึงเลือกที่จะเดินทางเข้ามาในกรุงเทพมหานคร เพื่อตามหาโอกาส ที่จะได้งานทำ เพราะในบางครั้งจังหวัดที่ตัวเองอาศัยอยู่ ไม่ได้มีตำแหน่งงานว่างมากนัก หรือหากมีตำแหน่งว่างจริง ก็ต้องมีปัจจัยด้านอื่นๆ ที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะด้านเงินเดือนที่จะได้รับ รวมถึงสาขาของตำแหน่งงานว่าง อาจไม่ตรงความต้องการหรือวุฒิการศึกษาที่ได้รับมา

แต่ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของคนต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหาคร คือ ความกัดดัน ที่เกิดจากการใช้ชีวิต ที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ด้วยตัวคนเดียว โดยไม่มีครอบครัวให้ความช่วยเหลือ เหมือนอย่างการอยู่ที่บ้าน

ชีวิตในเมืองใหญ่ รายจ่ายต่อเดือนสูง

โดยเฉพาะความกดดันที่เกิดจาก ค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ที่นับว่าสูงมากกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยในปี 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจรายจ่ายต่อครัวเรือน ของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร พบว่า มีรายจ่ายเฉลี่ย 31,209 บาท ต่อเดือน เทียบกับค่ารายจ่ายต่อครัวเรือนเฉลี่ยทั้งประเทศ 21,236 บาท ต่อเดือน

คนต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหาคร ย่อมมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่มีกรุงเทพมหานครเป็นภูมิลำเนาเดิมของตัวเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วค่าเช่าที่อยู่อาศัยประเภทอพาร์ทเม้นท์ และคอนโดมิเนียมให้เช่า จะมีราคาอยู่ที่ 5,000-15,000 บาท ต่อ เดือน แล้วแต่ทำเล และความเก่าใหม่ของที่อยู่อาศัย

ยิ่งถ้าเป็นที่อยู่อาศัยที่อยู่ติดถนนใหญ่ เดินทางสะดวก อยู่ในเมือง ใกล้แหล่งอาคารสำนักงาน หรือสามารถเดินไปใช้บริการรถไฟฟ้าได้สะดวก ก็จะยิ่งมีราคาแพงมากขึ้นด้วย

แม้ราคาที่พักอาศัยในกรุงเทพมหานคร จะมีราคาให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ถูกจนถึงแพง ขึ้นอยู่กับเงินเดือนที่แต่ละคนมี แต่อย่าลืมว่าบางครั้งการเลือกที่อยู่อาศัยราคาแพง ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ลงไปด้วย โดยเฉพาะค่าเดินทาง รวมถึงยังเป็นการสร้างความสะดวกสบาย และความปลอดภัยให้ชีวิตในอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

Bangkok BTS People Queue
ภาพจาก Shutterstock

ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ของคนเมือง

นอกจากค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยแล้ว ค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทาง ก็เป็นค่าใช้จ่ายส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน พนักงานบริษัทที่มีสำนักงานตั้งอยู่กลางเมืองแห่งหนึ่ง เล่าว่า ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในชีวิตของเขา ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเดินทางทั้งสิ้น โดยเขาต้องเสียค่ารถไฟฟ้า และค่ารถเมล์ รวม 130 บาท ต่อวัน คิดเป็นจำนวนเงินหลายพันบาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านอาหาร ที่เขาต้องเสียไปอีกวันละเกือบ 200 บาท แม้จะเลือกทานอาหารที่มีราคาไม่แพงมากแล้วก็ตาม

นอกจากประเด็นด้านค่าใช้จ่ายแล้ว วิถีชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหาคร ก็มีส่วนสร้างความกดดันในการใช้ชีวิตเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากปัจจัยด้านการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะการเดินทาง ที่กินเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน การนั่งรถเมล์ไปกลับจากที่พักไปยังที่ทำงาน เป็นสิ่งสะสมความเหนื่อยล้ามากกว่าการทำงาน

แม้ว่าหลายคนอาจแก้ปัญหาด้วยการหาที่พักอาศัยที่ใกล้ที่ทำงาน หรือใช้บริการขนส่งสาธารณะชนิดอื่น ที่มีความสะดวก และรวดเร็วกว่า เช่น รถไฟฟ้า และรถแท็กซี่ แต่อย่าลืมว่าความสะดวกสบายนี้ ต้องแลกมาด้วย “ราคา” ที่ต้องจ่ายแพงกว่าเช่นกัน

หาหนทาง ใช้เงินประหยัด เพื่อลดค่าใช้จ่าย

จากค่าใช้จ่ายของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร ที่สูง จนบางครั้งรายจ่ายที่มี อาจไม่เหมาะสมกับรายได้ กลายเป็นปัจจัยที่สร้างความเครียด และความกดดันในการใช้ชีวิต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ไม่ได้อยู่กับครอบครัว จึงไม่มีคนใกล้ตัวให้คอยปรับทุกข์ ระบาย และรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่นเดียวกับคนที่อยู่อาศัยกับคนในครอบครัว ดังนั้นหลายครั้งเราจึงเห็นกระทู้แสดงความคิดเห็นของคนต่างจังหวัด ที่เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร โพสต์ระบายความเครียด และความกดดันในการใช้ชีวิต รวมถึงขอคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในกรุงเทพมหาคร เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหาร

ดังนั้นคนต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาหาโอกาส ในตำแหน่งงานที่มีมากกว่า ในกรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่คนกรุงเทพมหานครเองก็ตาม จำเป็นต้องดินรน หาทางใช้ชีวิตในภาวะที่รายจ่ายสูง สวนทางกับรายได้ สร้างความกดดันในการใช้ชีวิต คนที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของตัวเองทั้งหมดโดยที่ไม่ได้อาศัยความช่วยเหลือจากทางบ้าน ไม่มีคนช่วยแบกรับค่าใช้จ่าย ก็จะต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างระมัดระวังมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ที่มา – สำนักงานสถิติแห่งชาติ (1),(2), ธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา