บางกอกแอร์เวย์ส หวังธุรกิจฟื้น 100% ปี 2567 น้ำมันขึ้นกระทบน้อย ย้ำไม่ใช่ปัจจัยขึ้นค่าตั๋ว

ธุรกิจสายการบินยังอาการหนัก ล่าสุด บมจ. การบินกรุงเทพ หรือ บางกอกแอร์เวย์ส ยอมรับว่า ปี 2564 รายได้ลดลงถึง 46% และปี 2565 ธุรกิจจะฟื้นตัวกลับมาเพียง 40% เท่านั้น และต้องรอปี 2567 ถึงจะกลับมา 100%

แต่การจะฟื้นธุรกิจ บางกอกแอร์เวย์ส ต้องส่งแผนจำนวนมากมาควบคุมต้นทุน คู่ไปกับการสร้างรายได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นคู่ไปกับวิกฤตโควิด-19 ที่ยังระบาดอยู่ และสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้น้ำมันราคาขึ้น

แผนดังกล่าวจะประกอบด้วยอะไรบ้าง และช่วงสั้น ๆ ที่ราคาน้ำมันปรับขึ้นต่อเนื่อง บางกอกแอร์เวย์ส จะมีการปรับขึ้นค่าตั๋วหรือไม่ ลองมาฟังจากปาก พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ของสายการบินนี้กัน

บางกอกแอร์เวย์ส

ติดสปีดรายได้ด้วยเส้นทางใหม่

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินกรุงเทพ เล่าให้ฟังว่า แผนเบื้องต้นในปี 2565 คือการเปิดส้นทางบินใหม่ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-กระบี่ และตามด้วย สมุย-เชียงใหม่, สมุย-ฮ่องกุง และกรุงเทพ-มัลดีฟส์ เป็นต้น เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ หลังมาตรการการท่องเที่ยวเริ่มผ่อนคลายในหลายพื้นที่

ขณะเดียวกันยังลดจำนวนฝูงบินลงเหลือ 30 ลำ จาก 37 ลำ เพื่อควบคุมต้นทุน โดย 30 ลำนี้ในปัจจุบันถูกใช้งานเพียง 19 ลำเท่านั้น เนื่องจากบางเส้นทางยังไม่สามารถบินได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นในปี 2565 จะมีการนำเครื่องบินที่ยังว่างมาทำตลาดเป็นบริการเช่าเหมาลำมากขึ้น

สำหรับในปี 2565 บมจ. การบินกรุงเทพ ตั้งเป้ามีจำนวนผู้โดยสาร 2.6 ล้านคน รายได้ผู้โดยสาร 8,175 ล้านบาท รวมเที่ยวบินกว่า 3.4 หมื่นเที่ยวบิน มีอัตราการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 65% และราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวคาดว่าจะอยู่ที่ 3,100 บาทต่อเที่ยว

คงโปรโมชันตั๋วพิเศษเสริมรายได้

บมจ. การบินกรุงเทพ ยังนำจุดเด่นการจำหน่ายบัตรสมาชิกโดยสารแบบพิเศษ เช่น Flyer Pass กับ Elite Card โดย Elite Pass ตั้งเป้าผู้สมัครทั้งหมด 200 ราย คิดเป็นรายได้กว่า 20 ล้านบาท ถือเป็นรายได้เสริมนอกจากการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินแบบปกติ

นอกจากนี้ บมจ. การบินกรุงเทพ ยังร่วมมือกับพาร์ตเนอร์หลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการใช้กลยุทธ์ด้านราคา และความร่วมมือกับสายการบินต่าง ๆ ในการใช้คะแนนสะสม และการร่วมกันให้บริการ

“นโยบายการขายและการตลาดของสายการบินในปี 2565 จะเน้นการขายในตลาดต่างประเทศควบคู่กับการให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศ การบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย และกลยุทธ์ด้านราคา การพัฒนาระบบต่างๆ รวมถึงความสำคัญของระบบการจ่ายเงิน”

น้ำมันขึ้นยังไม่กระทบต้นทุน

ทั้งนี้การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องยังไม่มีผลกับต้นทุนบริการการบินมากนัก โดย พุฒิพงศ์ ยืนยันว่า ด้วยเที่ยวบินที่น้อยลงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ต้นทุนน้ำมันคิดเป็นเพียง 10% ของค่าตั๋วเครื่องบิน ซึ่งน้อยกว่าค่าดูแลพนักงานที่คิดเป็น 25% และค่าเช่าเครื่องบินอีก 25% เสียอีก

“ยอมรับว่าน้ำมันปรับตัวขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ แต่มันไม่ได้กระทบกับต้นทุนของเรานัก และยืนยันว่า การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันจะไม่ใช่ปัจจัยในการปรับขึ้นราคาค่าตั๋วเครื่องบิน และอยากย้ำว่า ราคาตั๋วเครื่องบินที่แพงขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ และวันหยุดยาวคือสิ่งที่เกิดขึ้นปกติ”

ก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ต้นทุนน้ำมันของ บมจ. การบินกรุงเทพ จะคิดเป็น 30-35% ของราคาค่าตั๋ว เพราะมีเที่ยวบินจำนวนมาก เช่นปี 2562 มีผู้โดยสารกว่า 6 ล้านคน ดังนั้นเมื่อเที่ยวบินน้อย ต้นทุนน้ำมันจึงลดลงตาม และกลายเป็นต้นทุนพนักงาน กับค่าเช่า และซ่อมบำรุงเครื่องบินที่มากขึ้น

นักท่องเที่ยวรัสเซียหายไม่ใช่ปัญหา

ในทางกลับกันนักท่องเที่ยวรัสเซียที่หายไปเนื่องจากเกิดสงคราม ไม่ได้ส่งผลกระทบกับตัวธุรกิจของ บมจ. การบินกรุงเทพ นัก เพราะลูกค้าชาวรัสเซียที่บินมาประเทศไทยผ่านสายการบิน Aerofolt มีเพียง 1-2% ของลูกค้าทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ชาวรัสเซียจะเช่าเหมาลำเข้ามามากกว่า

สำหรับเที่ยวบินที่ค่อนข้างโดดเด่นของ บมจ. การบินกรุงเทพ คือเที่ยวบินเข้าสมุย เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงบริษัททำราคาการบินในประเทศให้แข่งขันได้มากที่สุด ซึ่งในปี 2565 เที่ยวบินนี้ยังสำคัญเช่นเดิม แต่หลังจากนี้จะมีเที่ยวบินอื่น ๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้บริษัทมากขึ้น

ด้านสถานะการเงินของบริษัท ปัจจุบันยังมีสภาพคล่องอยู่ได้อีกระยะหนึ่ง และกำลังอยู่ระหว่างฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 เบื้องต้นมีการร่วมมืกับสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาหล่อเลี้ยงบริษัท และบริษัทยังไม่มีแผนเพิ่มทุน ส่วนการออกหุ้นกู้อยู่ระหว่างศึกษา

สรุป

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ธุรกิจสายการบินตอนนี้จะฟื้นตัวกลับมา เพราะโรคโควิด-19 ยังระบาดอยู่ทั่วโลก และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ดังนั้นการท่องเที่ยวระหว่าง หรือในประเทศก็แทบจะยังไม่ฟื้น ซึ่งก็ต้องดูกันว่า บมจ. การบินกรุงเทพ หรือ บางกอกแอร์เวย์ส จะประคองธุรกิจจนสามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ในปี 2567 ตามเป้าหมายหรือไม่

อ้างอิง // Bangkok Airways

อ่านข่าวเกี่ยวกับธุรกิจการบินเพิ่มเติมได้ที่นี่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา