หลังจากที่มีกระแสแบนสปอนเซอร์เนชั่นแรงขึ้นเรื่อยๆ เหล่าสปอนเซอร์ 4 แห่งเริ่มออกมาแถลงการณ์ให้ผู้บริโภครับรู้สถานะว่า แบรนด์ไม่ได้สนับสนุนอยู่ก่อนหน้าแล้ว, ระงับโฆษณาแล้ว และกำลังพิจารณาอยู่
foodpanda ขอเรียนแจ้งผลพิจารณากรณีสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาทางสำนักข่าวเนชั่นทีวี ???????????
ทางบริษัทฯ ขอยืนยันว่าเราให้ความสำคัญกับความคิดเห็นและการปรับปรุงการให้บริการและมอบการบริการที่ดีที่สุดซึ่ง foodpanda ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เสมอมา ☀️??#foodpandaTH pic.twitter.com/mq1gF08IEB
— foodpanda Thailand (@foodpanda_th) August 22, 2020
บริษัทน้ำดื่มยันฮี วิตามิน วอร์เตอร์ออกประกาศระงับโฆษณาในช่องเนชั่นทีวีทันทีแล้ว
เหตุผลเพราะบริษัทให้ความสำคัญกับทุกท่านที่ได้แสดงความคิดเห็นมา ประกาศ ณ 23/8/63#แบนเนชั่น pic.twitter.com/AyoU4I040J— อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล (@AmaratJeab) August 23, 2020
Nation TV สื่ออนุรักษ์นิยมขาลง: จากเนชั่นโป๊ะแตก ถึงโพลหนุนเรือดำน้ำ
ปี 2019 กระแสแบนเนชั่นแรงขึ้น หลังจากที่รายการข่าวข้น คนเนชั่น ซึ่งมีพิธีกรหลักคือ กนก รัตน์วงศ์สกุล พิธีกรข่าวสายอนุรักษ์นิยมเข้มข้น ที่นำเสนอคลิปเสียงในรายการที่ทำให้ผู้ชมอาจเข้าใจผิดว่าเป็นภาพเงาและเสียงคุยกันระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สมัยที่ยังเป็นรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
คลิปเสียงดังกล่าวเผยแพร่ออกมาไม่กี่วัน ก่อนจะมีเลือกตั้งทั่วประเทศ เป็นไปได้ว่าอาจจะหวังผลให้คนมีทัศนคติในการเลือกตั้งเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่? แม้ในที่สุดแล้วทางเนชั่นเปิดพื้นที่ให้ธนาธรได้แสดงความคิดเห็นต่อคลิปดังกล่าวได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ได้รับรู้เรื่องราวคลิปเสียงตัดต่อก่อนหน้านี้จะได้รับรู้ข่าวใหม่ที่ธนาธรอธิบายหมดทุกคน นั่นหมายความว่า ถ้าใครหลงเชื่อจากคลิปแรกไปแล้วและไม่ได้ดูคลิปที่ธนาธรให้สัมภาษณ์ ก็อาจจะเข้าใจผิดตามที่เป้าหมายคลิปพยายามจะสื่อสาร
เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ #เนชั่นโป๊ะแตก เนื่องจากเป็นคลิปเสียงตัดต่อที่ไม่เป็นความจริง เป็นการโยกบทสนทนาหรือคำพูดมาเรียบเรียงให้กลายเป็นเรื่องราวสนทนาขึ้นมาทำให้คนเข้าใจผิด
ปี 2020 เนชั่นยังแรงดีไม่มีตก สามารถครองเสียงความไม่พอใจของผู้คนเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเพื่อให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิก ส.ว. ไปจนถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยทีมงานเนชั่นอ้างว่าเป็นสำนักข่าวอื่นเพื่อสัมภาษณ์กลุ่มผู้ชุมนุมและนำไปเผยแพร่ในช่องข่าวเนชั่น แม้จะมีการอธิบายตามหลังว่าเป็นความผิดพลาดของทีมที่เข้ามาอยู่ใหม่ก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีการพยายามนำเสนอเนื้อหาที่สะท้อนความหมายผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เช่น การสะท้อนความหมายของการชูสามนิ้วของกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนทั่วไปที่ออกมาชุมนุมซึ่งอิงมาจากภาพยนตร์ระดับโลก The Hunger Games ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนลุกฮือขึ้นมาเพื่อต่อต้านผู้นำเผด็จการ และเป็นความหมายที่สื่อถึงเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เป็นสัญญะสำคัญที่ประชาชนยืนหยัดไม่ต้องการผู้นำเผด็จการ
จากนั้น ความคิดเห็นและทัศนคติของคนรุ่นใหม่และคนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ข่าวสารที่มีเนื้อหาเอนเอียงไปทางอนุรักษ์นิยมเริ่มต้านการนำเสนอข่าวของเนชั่นมากขึ้นผ่านการทวีตข้อความ #ชวนแม่เลิกดูเนชั่น ในวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมาที่รัฐฯ หรือคณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์กำหนดให้เป็นวันแม่แห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519
จนในที่สุดก็เริ่มเกิดกระแส #แบนสปอนเซอร์เนชั่น ซึ่งเป็นฐานรายได้หลักของเนชั่นเพื่อกดดันให้ผู้ที่นำเสนอเนื้อหาข่าวสารคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงเปลี่ยนพฤติกรรม ให้นำเสนอข่าวตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
วันที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก : เหล่านักเรียนบุกถึงกระทรวงศึกษาธิการเพื่อไล่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง รวมทั้งนายกรัฐมนตรีด้วย pic.twitter.com/Amjnu9ZNQA
— kovitw (@kovitw1) August 19, 2020
Thailand is seeing some of its biggest anti-government protests in years, and several pro-democracy activists have been arrested. https://t.co/ACj8bVFISu pic.twitter.com/6ecF5UxNPy
— SCMP News (@SCMPNews) August 21, 2020
แรงกระแทกโดยเปรียบเทียบระหว่าง Nation TV กับ Voice TV
ก่อนหน้านี้ การแบนรายการทีวี แบนพิธีกรรายการ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งหลายคราแล้วในประเทศไทย สำหรับในยุคสมัยใหม่โดยเฉพาะในช่วงรัฐประหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สถานีโทรทัศน์ช่อง Voice TV ได้รับผลกระทบมาหลายครั้งนับไม่ถ้วน ถ้าเทียบกับ Nation TV ถือว่ายังห่างไกลกันหลายขุม
เนื่องจาก สมัยที่ Voice TV โดนแบนและโดนต่อต้านนั้น มาทั้งจากฝั่งอนุรักษ์นิยมสุดโต่งและมาทั้งจากฝั่งรัฐบาลที่เป็นเผด็จการทหาร มีทั้งการปิดช่อง จอดำ การแบน ห้ามไม่ให้พิธีกร ผู้ดำเนินรายการขึ้นนำเสนอเนื้อหาข้อมูล มีการเรียกผู้บริหารและผู้ดำเนินรายการเข้าปรับทัศนคติหลายต่อหลายครั้ง ถึงขั้นมีม็อบจากมวลมหาประชาชน กปปส. ภายใต้การนำของพุทธะอิสระปิดล้อมสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ก็เคยทำมาแล้ว
อีกทั้งโทษแบนที่กิดขึ้นนี้ ก็เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่ฝ่ายเผด็จการทหารทำข้อตกลงกับทางสถานีฯ เป็น MoU เป็นบันทึกความเข้าใจ เกิดขึ้นเมื่อทหารยึดอำนาจ ทำรัฐประหารและสั่งปิด Voice TV เมื่อต้องการเปิดสถานีใหม่ก็ถูกรัฐฯ ตั้งเงื่อนไขให้ทำ MoU ว่า Voice TV จะไม่ดำเนินรายการที่วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ที่จะส่งผลกระทบต่ออำนาจรัฐบาล คสช. ทำให้ กสทช. หยิบยกมาอ้างทุกครั้งเมื่อไรก็ตามที่ต้องการควบคุมหรือจัดการ
เมื่อใดก็ตามที่ทางสถานี Voice TV ต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงให้รอบด้านตามจุดยืน ตามหลักการประชาธิปไตย ก็จะนำไปสู่การแบนที่หนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นโทรเข้ารายการเพื่อให้หยุดการนำเสนอข่าวโดยทันทีทั้งที่พิธีกรยังไม่ทันได้พูดอะไรเลยด้วยซ้ำ..ก็ทำมาแล้ว ดังนั้น ถ้าจะเทียบกับที่ Nation TV ต้องเผชิญตอนนี้ ถือว่าเบากว่าหลายเท่านัก
Nation TV นำเสนอข่าวภายใต้ฐานคิดของพิธีกรผู้ฝักใฝ่แนวคิดอนุรักษ์นิยมอย่างสุดขั้ว ซึ่งมีทั้งภายใต้การนำของ กนก รัตน์วงศ์สกุล และยังมีสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม แกนนำ กปปส. รองจากสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะเดียวกัน ฝั่งสปอนเซอร์ที่ส่วนใหญ่มักจะทุนหนาก็มักจะเป็นผู้นิยมอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม อีกทั้งเรตติ้งที่สูงจากผู้ชมคนหัวคิดฝั่งเดียวกันค่อนข้างมาก ทำให้ Nation TV อยู่ได้และอยู่ดีกว่าสถานีข่าวหลายๆ ช่อง
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า การแบนสปอนเซอร์สื่อในระยะสั้น..อาจยังส่งพลังได้ไม่มากพอ
ถ้ากระแสแบนต่อเนื่อง จนเรตติ้งตก ฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย อาจได้รับชัยชนะจากการ #แบนสปอนเซอร์เนชั่น
ประทีป คงสิบ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ผู้ที่ปลุกปั้นสถานีวอยซ์ทีวี มาตั้งแต่เริ่มต้น ถือว่าเจอความท้าทายอย่างสาหัสหนักหน่วงมาโดยตลอด ทั้งในช่วงเริ่มต้น ช่วงสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ปี 2553 ภายใต้การนำของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปจนถึงช่วงม็อบ กปปส. ช่วงรัฐประหาร จนถึงช่วงรัฐบาลประยุทธ์
ประทีปให้ความเห็นกรณีโลกออนไลน์รณรงค์แบนสปอนเซอร์สื่อเนชั่นทีวี ว่า หากกระแสกดดันยังแรงต่อเนื่อง เป็นไปได้ว่าอาจมีหลายแบรนด์ที่ระงับหรือถอนตัวนอกจาก 3 รายที่มีแถลงการณ์ไปแล้ว แต่ก็เป็นไปได้ว่า ในอนาคตเมื่อกระแสซาลง บางแบรนด์อาจจะกลับมาสนับสนุนใหม่ก็ได้ เพราะต้องยอมรับว่าเรตติ้งคนดูช่องเนชั่นถือว่าอยู่ในอันดับที่ดีกว่าอีกหลายช่อง คืออยู่อันดับ 9 เรียกว่าติด Top 10
ที่สำคัญเอเจนซี่หลายรายและเจ้าของแบรนด์หลายราย เขามีความเชื่อทางการเมืองสอดคล้องกับจุดยืนช่องเนชั่นอยู่แล้ว สังเกตุได้จากเมื่อมีบางแบรนด์ถอน แต่ก็มีบางแบรนด์เข้าสนับสนุนแทน แต่ถ้ากระแสแบนยังแรงและส่งผลต่อเนื่องจนถึงขั้นทำให้เรตติ้งหลุดจาก Top 10 อาจจะมีบางรายถอนตัวแม้จะชื่นชอบแนวทางของเนชั่น เพราะถึงที่สุดแบรนด์ต้องเลือกช่องที่เข้าถึงคนดูได้มากกว่า
สื่อที่มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจน ต้องยอมรับในผลกระทบที่ตามมาให้ได้ วอยซ์ทีวีเองก็ผ่านแรงกดดันเช่นนี้มาแล้ว ทั้งมาแแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย
ช่วงม็อบ กปปส. ครองเมือง เอเจนซี่บางรายและเจ้าของสินค้าบางรายก็ระงับการสนับสนุนวอยซ์ทีวี บางรายปฏิเสธกระทั่งแค่ขอไปนำเสนอแผนโฆษณา ที่ยังตราตรึงเป็นที่เล่าขานกันในบริษัท มีเอเจนซี่รายใหญ่รับนัดให้ไปนำเสนอได้ แต่ถึงวันนัดมีพนักงานมายืนเป่านกหวีดต้อนรับตั้งแต่ชั้นล่าง ขณะที่ผู้บริหารก็ห้อยนกหวีดมานั่งฟังการนำเสนอด้วยท่าทีเย็นชา คงไม่ต้องถามว่าผลการนำเสนอจบลงอย่างไร
ในเมื่อเนื้อหาที่ @NationTV22 ผลิตมีการใส่ร้ายป้ายสี ตัดต่อ บิดเบือน มันก็อดคิดไม่ได้เช่นกันว่าสินค้าที่โฆษณาอยู่ในช่องนั้น มีคุณภาพตามที่กล่าวจริงหรือไม่ จึงไม่แปลกที่ผู้บริโภคจะมีสิทธิ์ #แบนสปอนเซอร์เนชั่น pic.twitter.com/EiThl4VpjN
— ธีรัตถ์ | Teerat Ratanasevi (@teeratr) August 18, 2020
ประทีปมองว่า ช่วงนั้นแม้บางแบรนด์จะเห็นด้วยกับจุดยืนของวอยซ์ทีวี ยังต้องเลี่ยงขอสนับสนุนโดยไม่แสดงตัว และเมื่อมีรัฐประหาร ภายใต้รัฐบาล คสช. ก็แทบไม่เหลือแบรนด์ที่ยังสนับสนุน บางรายที่ยังเข้าใจและเห็นใจ ก็ขอเปลี่ยนวิธีการสนับสนุนจากโฆษณาแบบเดิมๆ ก็เปลี่ยนเป็นผลิตงานโปรดักชั่นให้ และแน่นอนต้องไม่แสดงตัวว่าเป็นผลงานที่ผลิตให้โดยวอยซ์ทีวี
จากประสบการณ์ดังกล่าว เมื่อย้อนกลับไปดูสถานการณ์ที่เนชั่นกำลังเผชิญ จึงอาจจะยังประเมินได้ยากว่า จะถึงขั้นทำให้เนชั่น ”เจ๊ง” เหมือนที่ในโลกออนไลน์อยากให้เกิด เพราะไม่เพียงมีเทคนิคในการชะลอ/ เลี่ยง กระแสกดดัน แต่เครือข่ายเอเจนซี่ และเจ้าของหรือผู้บริหารของหลายๆแบรนด์ ยังมีความเชื่อทางการเมืองเช่นเดียวกับเนชั่นและที่สำคัญเครือข่ายผู้กุมอำนาจรัฐในปัจจุบัน ยังมีกลไกในการช่วยสนับสนุนเนชั่นอีกหลายช่องทาง
ทางเดียวที่จะเปลี่ยนเนชั่นได้ ขึ้นอยู่กับพลังประชาชนในฐานะผู้บริโภคที่ไม่เห็นด้วยจะต้องเพิ่มมากขึ้นไปอีก กดดันเพิ่มขึ้นอีก จนเรตติ้งคนดูลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่พลังประชาชนในฐานะพลเมืองกำลังขยายตัว กดดันรัฐบาลประยุทธ์ เพื่อให้ประเทศเปลี่ยนแปลง
ด้านหม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือที่รู้จักกันในนาม หม่อมปลื้ม หรือคุณปลื้ม ผู้อำนวยการสถานีวอยซ์ทีวีคนปัจจุบัน ในช่วงรัฐประหารเขาก็เคยถูกข่มขู่ คุกคามสารพัดรูปแบบ ซึ่งก็รวมถึงการถูกพักหน้าจอหลังกระแสการเมืองแรงจนสั่นสะเทือนอำนาจเผด็จการหลายต่อหลายครั้ง แน่นอนว่าปลื้มไม่ใช่รายเดียวที่ถูกปฏิบัติเช่นนี้ แต่อาจจะได้รับหนักสุดเพราะถูกแบนหลายครั้งหลายครา ผู้ดำเนินรายการท่านอื่นก็ต้องตกอยู่ในชะตานี้เช่นกัน
#แบนสปอนเซอร์เนชั่น ใครชนะ วัดกันที่ศักยภาพในการเคลื่อนไหว
มุมมองต่อการแบนสปอนเซอร์นั้น เขามองว่าในภาพรวมนั้น เขาเห็นปรากฎการณ์ความพยายามกดดันให้ยุติสปอนเซอร์ในต่างประเทศมาเยอะ นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ (เขาพูดในทัศนะส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับสถานีฯ) เขามองว่าเป็นสิทธิที่ทุกฝ่ายมี ผู้ไม่พอใจเนื้อหาของสถานีฯ มีสิทธิรณรงค์ตามที่ตัวเองต้องการ เพื่อให้มีการหยุดสปอนเซอร์ หยุดการลงโฆษณา ขณะเดียวกัน บริษัท ห้างร้านต่างๆ ก็มีสิทธิสนับสนุนสถานีตามที่ตัวเองต้องการ หากทางบริษัทประเมินว่าเหมาะสมที่จะให้เงินสนับสนุนต่อไป
ฝ่ายไหนจะชนะ ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการเคลื่อนไหว เขาเคยเห็นปรากฎการณ์ในลักษณะนี้ ยกตัวอย่างสถานีโทรทัศน์ Fox News มีรายการที่มีผู้ดำเนินรายการแสดงความคิดเห็นยาวตั้งแต่ 19.00น. -22.00น. เป็นความคิดเห็นแนวอนุรักษ์นิยมหรือ Conservative คล้ายๆ กับที่เขาแสดงความคิดเห็นเหมือนกัน
รายการนั้นเรตติ้งดี คนดูเยอะ สปอนเซอร์เยอะ เนื้อหาเป็นไปตามแนวทางที่ผู้ดำเนินรายการสนับสนุนนโยบายของประธานาธิบดี George W. Bush สมัยสงครามอิรัก สมัย Barack Obama ที่มีการโจมตีอย่างรุนแรง และเอนเอียงให้กับนโยบาย Donald Trump อย่างมีหลักการเต็มที่ แต่ก็มี NGOs ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีเครือข่ายที่ไม่พอใจเนื้อหาและมุมมองของพิธีกรบน Fox News และได้พยายามกดดันห้างร้านต่างๆ ที่มีเงินสปอนเซอร์นับล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ความพยายามเหล่านี้เกิดขึ้นมานานนับ 10-20 ปี
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการแบนสปอนเซอร์สนับสนุนเฉพาะรายการ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ยกเว้นเสียว่า มีกรณีอื้อฉาวจริงๆ กับพิธีกรบางคน เช่น รายการ the O’Reilly Factor ผู้ดำเนินการรายการคือ Bill O’Reilly หรือปลื้มของอเมริกา จัดรายการตั้งแต่สมัยบุช ถึงทรัมป์ จัดมามากกว่า 10 ปี รายการนี้เหมือนรายการ The Daily Dose
ส่วนใหญ่การแบนไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนดูชื่นชมพิธีกร เรตติ้งดี สปอนเซอร์ไม่ยอมถอน และไม่ได้เป็นไปตามที่ NGOs บอยคอตต์ แต่มันบังเอิญว่า O’Reilly ดันมีเรื่องอื้อฉาวส่วนตัว เป็นเรื่องชู้สาวเกิดขึ้นส่วนตัว เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการข่มขู่คุกคามทางเพศ (เรื่องนี้ไม่ได้เกิดที่รายการ แต่เกิดขึ้นส่วนตัว) เมื่อเรื่องราวเกิดขึ้นแล้ว ทางสถานีก็ตัดสินใจยกเลิกรายการ the O’Reilly Factor เสีย เพราะเขาไม่ต้องการได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้
ในสหรัฐฯ การแบน Fox ไม่ค่อยมีผล ยกเว้นเสียว่าจะมีเหตุอื้อฉาวจริงๆ เฉพาะตัวของพิธีกร หรือกรณีอื้อฉาวจริงๆ ที่สถานีรับไม่ไหว การรณรงค์ให้แบนเป็นรายๆ ในสหรัฐฯ ในกรณี Fox ซึ่งถือว่าดีมากที่ไม่เวิร์ค ในสื่อกระแสหลักทั้งหมดในอเมริกา ซึ่งรวมถึง CNBC, CBS ฯลฯ ส่วนใหญ่นำเสนอทิศทางเดียวกันหมดเลย เสรีนิยม ก้าวหน้าจัด สื่อกระแสหลักเอียงไปทางซ้ายจัด รักโอบามา เกลียดบุช เกลียดทรัมป์
ในสหรัฐฯ หลายกรณีที่มีการบอยคอตต์พิธีกรหลายคน หลายครั้งก็เป็นเพราะไม่ชอบมุมมองของพิธีกร O’Reilly เมื่อ Tucker Carlson ขึ้นมา ปรากฎว่า มีความคิดเห็นที่แรงกว่า แถมเป็นอันดับ 1 มีอุดมการณ์ ไม่เอาด้วยกับพรรครีพับลิกัน รักษาชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมดั้งเดิม เรตติ้งดีกว่า ก็ยังทำงานต่อไปได้ เขาวิพากษ์วิจารณ์ทั้งฝั่งเดียวกัน ฝั่งตรงข้าม ที่ทำงานอยู่ได้ก็เพราะมีสปอนเซอร์ เจ้าของ Fox คือ Rupert Murdoch ทุนหนาพอจะอยู่ได้
Fox กับ Nation TV ไม่เหมือนกันเลย Fox ว่ายทวนน้ำอย่างจำเป็น เพราะสื่อกระแสหลักเอียงซ้าย ในกรณีของไทย Nation เทียบไม่ได้กับ Fox ในสหรัฐอเมริกาฝ่ายซ้ายได้ชัยชนะสงครามด้านวัฒนธรรมไปแล้ว ถ้าดูซีรีส์ ดูหนัง จะได้มุมมองแอนตี้ศาสนา เห็นด้วยกับการทำแท้งอย่างเสรี เห็นด้วยกับ LGBTQ ฝ่ายซ้ายชนะในสื่อกระแสหลัก ชนะในหลักสูตรการเรียนการสอนหมดแล้ว ชนะแกนหลักด้านวัฒนธรรมหมดแล้ว
สงครามครั้งล่าสุด: ฝ่ายอนุรักษ์นิยมพ่วงเผด็จการ v.s. ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ไม่ใช่ซ้ายปะทะขวา แต่เป็นซ้ายปะทะเผด็จการอำนาจนิยม
ขณะที่ในไทย อำนาจนำและสื่อกระแสหลักอยู่ฝั่งอนุรักษ์ ของไทยฝ่ายที่ว่ายทวนน้ำคือฝ่ายซ้าย ฝ่ายที่เป็นเหยื่อส่วนใหญ่จากการบอยคอตต์ คือฝ่ายที่กล้าว่ายทวนน้ำ สหรัฐฯ ฝ่ายสื่อกระแสหลักคือเสรีนิยม ฝ่ายที่ว่ายทวนน้ำบ้านเราคือ Voice TV
สงครามการเมืองในเมืองไทยรอบนี้ ไม่ใช่สงครามการเมืองฝ่ายซ้ายขวาที่แท้จริง มันเป็นฝ่ายประชาธิปไตยและเผด็จการ มีวิธีเข้าถึงอำนาจไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นศึกระหว่างอนุรักษ์และเสรีนิยม ในด้านขนบ ศาสนา ฝ่ายอนุรักษ์สามารถ Reinvent ได้เยอะ แต่ไทยกลับพยายามอนุรักษ์โครงสร้างเผด็จการ ซึ่งไม่ชอบธรรม
ประเทศอื่นพ่วง Conservative กับศาสนา และวัฒนธรรมประเพณี แต่เราดันไปพ่วงกับเผด็จการทหาร!
สิ่งที่ปลื้มมองว่าต้องอนุรักษ์คือความเป็นไทย มันเป็นสิ่งที่ขายได้สำหรับคนรุ่นใหม่แต่ไม่ใช่โครงสร้างอำนาจเผด็จการ กรณีประเทศปกติ พรรคเพื่อไทยคือพรรคฝ่ายขวา Nationalist พรรคอนาคตใหม่คือพรรคฝ่ายซ้าย แต่ทั้งหมดในไทยคือฝ่ายซ้ายหมดเลย ทั้งๆ ที่มีซ้ายสุดโต่งยิ่งกว่านี้
..เพราะเราติดหล่มเผด็จการ เพราะผูกยึดกับอำนาจและผลประโยชน์
หลังจากที่มีกระแสแบนสปอนเซอร์เนชั่น และแบนเนชั่นอย่างหนัก จนในที่สุดทั้งพิธีกรผู้ดำเนินรายการหลักของช่องอย่างกนกฯ ก็ต้องออกมาบอกให้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ต่อไป ตามด้วยสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรมก็ออกมาเรียกร้องว่าการแบนสปอนเซอร์เนชั่นนี้ คือการกระทำของพวกชังชาติที่มีต่างชาติหนุนหลัง และยังมองว่าเนชั่นเป็นกองทัพข่าวสารที่สำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
สนธิญาณระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือมายาคติประชาธิปไตยที่บ้าๆ บอๆ และอ้อนวอนขอให้กลับไปสนับสนุนเนชั่นตามเดิม จากนั้น ฉาย บุนนาคก็เผยแพร่แถลงที่เป็นสารจากใจเพื่อให้ผู้คนยังสนับสนุนช่องเนชั่นเช่นเดิมต่อไป
หลังจากที่ ฉาย บุนนาค ประธานเครือเนชั่นกรุ๊ปออกมาเผยแพร่ข้อความที่เรียกเองว่าเป็นสารจากใจให้ผู้ชมติดตามเนชั่นต่อไป นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส อดีตบรรณาธิการบริหารเครือเนชั่น ได้แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า เนชั่น เลือกเป็นสื่อเลือกข้างได้ แต่ต้องเที่ยงธรรม ไม่บิดเบือนใส่ร้ายป้ายสีเหมือนที่เคยทำมา นอกจากนั้น การทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงเผด็จการของเนชั่น ไม่ควรเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อมวลชน
หลัง ฉาย บุนนาค เผยแพร่ข้อความดังกล่าวที่ว่าเป็นสารจากใจ ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังทำให้บรรยากาศเอือมระอาที่มีต่อเนชั่นเพิ่มมากขึ้นไปอีก ทั้งเสียงวิพากษ์อื้ออึงต่อการแถลง ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออดีตบรรณาธิการบริหารในเครือเนชั่นเอง
ตามด้วยการตั้งโต๊ะแถลงข่าวของกองทัพเรือที่พยายามอย่างหนักที่จะซื้อเรือดำน้ำตามช่วงโปรโมชั่นให้ได้ แม้ว่าจีดีพีจะติดลบ 12.2% แม้ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำที่สุดในรอบ 22 ปี แม้ว่าสภาพัฒน์เคยคาดการณ์ว่าคนจะตกงานมากขึ้นราว 8.3 ล้านคน แม้ว่า World Bank วิเคราะห์ว่าคนไทยยากจนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว กองทัพเรือก็ยังอ้างผลโพลจากเนชั่นว่า สมควรจัดซื้อเรือดำน้ำตามเหตุผลที่กองทัพเรือเคยชี้แจ้งไว้แล้วในอดีต 71% และอ้างว่าเป็นเสียงสะท้อนจากประชาชน
ถ้ากองทัพเรือจะเข้าไปเช็คกระแสความไม่พอใจของผู้คนเรือนแสนที่ไม่เห็นด้วย เห็นค้าน และประกาศ #ไม่เอาเรือดำน้ำ ในโลกออนไลน์เสียบ้าง ก็คงจะเรียนรู้ว่าผลโพล 71% นั้น มีคนเห็นต่างจำนวนมาก อีกทั้ง งบประมาณมหาศาลที่ต้องทุ่มกับการซื้อเรือดำน้ำในช่วงที่ประเทศมีเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ย่ำแย่จนคนฆ่าตัวตายไปหลายชีวิตทั้งพิษจากมาตรการหนีโรคระบาดมากจนเกินเหตุ ทำให้ต้องปิดเมืองหนีโควิด-19 คนตกงาน ว่างงานจำนวนมาก คนคิดสั้นเพราะไม่มีจะกิน ถ้าทหารคิดถึงประชาชนอย่างแท้จริง ถ้ารัฐบาลนึกถึงประชาชนจริง คงไม่ตัดสินใจเช่นนี้
— ThePizzaCompany1112™ (@thepizzacompany) August 25, 2020
ล่าสุด The Minor Food Group ได้ออกแถลงการณ์เตรียมถอนโฆษณาเนชั่น หลังจากที่ ฉาย บุนนาค เผยแพร่ข้อความที่เป็นสารจากใจตามที่อ้าง สะท้อนให้เห็นว่า การเผยแพร่ข้อความดังกล่าว ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
ทั้งนี้ เราได้พยายามติดต่อสัมภาษณ์ความคิดเห็นของเอเจนซี่สื่อโฆษณาแห่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับแคมเปญนี้ #แบนสปอนเซอร์เนชั่น ถึงกรณีแถลงการระงับโฆษณานี้คือการระงับหรือการถอนโฆษณา ตลอดจน หากเกิดเหตุการณ์ให้ระงับหรือถอนหลังสื่อนำเสนอข้อมูลบิดเบือนอีก จะตัดสินใจทำเช่นเดียวกับที่ทำไปล่าสุดหรือไม่ แน่นอนว่ามีการแสดงความคิดเห็นแล้วถึงนัยสำคัญของคำว่า ระงับ และ ถอน.. แต่สุดท้ายก็ขอสงวนไว้และให้ยึดตามแถลงการณ์ที่ปรากฎ
การที่ผู้คนจะเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์ให้มีการแบนสปอนเซอร์เนชั่นต่อไป จนส่งผลให้แหล่งรายได้ลดลง จนกระทั่งผู้สนับสนุนทางการเงินเหล่านี้ตั้งใจถอนตัวอย่างจริงจังแท้จริง จำเป็นต้องใช้เวลา อดทน ทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสำเร็จ จนกว่าพฤติกรรมบิดเบือนข้อมูลข่าวสารขององค์กรที่เรียกตัวเองว่าสื่อมวลชน จะพัฒนาให้ตัวเองได้เป็นสื่อมวลชนอย่างแท้จริง เสียที
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา