เบเกอรี่ไทยยังไปต่อได้ แต่ต้องอ่านตลาดออก และติดอาวุธด้วยเทคโนโลยี

นอกจากข้าวที่เป็นอาหารหลักของคนไทย ก็เห็นจะมีกลุ่มเบเกอรี่ โดยเฉพาะขนมปังรูปแบบต่างๆ ที่คนในเมืองหันมาบริโภคมากขึ้น เพราะชีวิตที่รีบเร่ง การจะนั่งกินข้าวเช้าอาจไม่ใช่อีกต่อไป แต่ด้วยสินค้าเบเกอรี่ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนใหญ่ แล้วคนที่อยากจะเริ่มธุรกิจนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

โอกาสยังมีถ้าอ่านตลาดออก

วิเชียร เจนตระกูลโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีฟ้าเบเกอรี่ จำกัด ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเบเกอรี่ในต่างจังหวัด ผ่านทุนจดทะเบียนรวม 75 ล้านบาท เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันธุรกิจเบเกอรี่ในประเทศไทยมีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเป็นใช้ชีวิตเร็วขึ้น การบริโภคสิ่งที่สะดวกเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพจึงมีมากขึ้น จนเกิดร้านเบเกอรี่ขึ้นมามากมาย เพื่อหวังจับโอกาสครั้งนี้สร้างธุรกิจ

แต่ถึงจะอ่านตลาดออกอย่างไร ก็ยังมีกลุ่มเบเกอรี่ใหญ่ๆ ทั้งของทุนไทย และต่างชาติ แข่งขันชิงเค้กก้อนนี้เช่นกัน ดังนั้นหากต้องการเริ่มต้นธุรกิจเบเกอรี่ในตอนนี้ ต้องสร้างความแตกต่าง เช่นเรื่องรสชาติ และการบรรจุภัณฑ์ ที่สำคัญต้องมีช่องทางจำหน่ายที่ไม่ทับซ้อนกับรายใหญ่ อาจใช้การวางตามหน้าร้านขายของเล็กๆ เพื่อศึกษาตลาด ก่อนที่จะไปบุกในช่องทางขนาดใหญ่ เช่นโมเดิร์นเทรด

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

เทคโนโลยีมีส่วนปั้นยอดเร็วขึ้น

ขณะเดียวกันการหันมามองเรื่องเทคโนโลยี นอกจากเรื่องสูตรการทำเบเกอรี่ก็เป็นอีกวิธีที่ทำให้ร้านเบเกอรี่เกิดใหม่มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบัน เช่นการใช้ซอฟต์แวร์ ERP (Enterprise Resource Planning) จะช่วยการบริหารจัดการสต๊อกได้คล่องตัวกว่าเดิม นอกจากนี้ระบบ POS (Point of Sale) ก็เป็นอีกการลงทุนที่จำเป็น เพราะทำให้การประเมิณการขายทำได้อย่างเที่ยงตรง และ Real Time

ทั้งนี้เมื่อเจ้าของธุรกิจเบเกอรี่เริ่มลงทุนในเรื่องนี้ ต้องไม่ปรับลดอัตราเงินเดือนของพนักงานบริษัท และบังคับให้ทีมขาย หรือทีมผลิตใช้งาน ควรใช้วิธีค่อยๆ สื่อสาร และเมื่อทีมงานเข้าใจ การปรับตัวไปใช้เทคโนโลยีก็จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ  โดยมองว่าการชักจูงให้พนักงานเข้าใจ และยอมใช้งานเทคโนโลยีคิดเป็น 80% ของทั้งหมดก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา

ภาพจาก pixabay.com
ภาพจาก pixabay.com

CRM คืออีกหัวใจที่เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อควบคุมต้นทุน และคุณภาพการผลิตได้แล้ว การทำตลาดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะการทำผ่านเครื่องมือ CRM (Customer Relationship Management) เช่นการทำระบบจดจำชื่อลูกค้า เพื่อรู้ว่าลูกค้าคนนั้นชอบกินอะไร หรือซื้อเบเกอรี่ประเภทไหนเป็นประจำ จะได้ทำโปรโมชั่นได้ตรงกับลูกค้าแต่ละคน และจูงใจให้ลูกค้าคนนั้นเข้ามาซื้อสินค้าเป็นประจำ แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องลงทุนระบบจัดเก็บข้อมูลขั้นสูงเช่นกัน

สำหรับ ศรีฟ้า เบเกอรี่ ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจ 1.ศรีฟ้า เบเกอรี่ ทำหน้าที่บริหารสาขา และเฟรนไชส์ในชื่อ ศรีฟ้า กาญจน์ 2.สุธีราเอนเตอร์ไพรซ์ ทำหน้าที่ผลิตเบเกอรี่รูปแบบต่างๆ ทั้งขายภายในประเทศ และส่งออก 3.ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด ทำหน้าที่ผลิตเบเกอรี่แช่แข็ง เช่นเค้ก หรือแป้งต่างๆ เพื่อส่งออก และขายภายในประเทศ รวมทั้งกลุ่มดำเนินธุรกิจมาเกือบ 30 ปี มีพนักงานรวมกว่า 600 คน

สรุป

เมื่อทุนต่างชาติ และรายใหญ่แทบจะผูกขาดตลาดเบเกอรี่อย่างที่ทุกคนเห็นกัน ดังนั้นคนที่สนใจจะทำธุรกิจนี้ ก็ต้องอ่านตลาดให้ออก เพราะถ้าไปทับซ้อนกับรายใหญ่ โอกาสเกิดก็ยาก แต่ในปีหน้า ทีมงานมองว่า หากออกแบบผลิตภัณฑ์ดี มีช่องทางจำหน่ายที่เอื้อกับสินค้า โอกาสของทุนเล็กก็ยังมี สังเกตจากการเปิดร้านค้าในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา