ตระกูล “ใบหยก” อิมพอร์ตร้าน Gram แพนเค้กจากญี่ปุ่น เติมพอร์ตธุรกิจอาหาร

ตระกูลใบหยกซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ Gram ร้านแพนเค้กจากประเทศญี่ปุ่น เปิดสาขาแรกที่สยามพารากอน เติมพอร์ตธุรกิจอาหารให้แน่นขึ้น ตั้งเป้าอีก 2 ปีพาบริษัทเข้าตลาดระดมทุน

ส่ง Gram ชิงตลาดร้านเบเกอรี่ในไทย

ใบหยก เป็นอีกหนึ่งตระกูลใหญ่ของไทยที่มีธุรกิจหลากหลาย ที่ขึ้นชื่อสุดคงจะเป็นธุรกิจโรงแรมที่มีโรงแรมใบหยกสกาย หรือตึกใบหยกที่หลายคนรู้จักอย่างดี นอกจากธุรกิจโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ตระกูลใบหยกยังมีธุรกิจอาหารภายใต้บริษัท พีดีเอส โฮลดิ้ง จำกัด นำทัพโดยปิยะเลิศ ใบหยก ทายาทเจน 3 ของตระกูล

พีดีเอส โฮลดิ้งได้ก่อตั้งมาแล้ว 4 ปี ได้ดูแลธุรกิจร้านอาหาร ปัจจุบันมีทั้งหมด 7 แบรนด์ มีทั้งซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ และสร้างแบรนด์เองด้วย แต่เมื่อ 2 ปีก่อนปิยะเลิศได้สร้างความฮือฮาในไทยด้วยการซื้อแฟรนไชส์ Pablo แบรนด์ชีสทาร์ตจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามา ถือเป็นการปลุกกระแสชีสทาร์ตให้ร้อนระอุในไทย

ในปีนี้ปิยะเลิศยังจะสร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการซื้อแฟรนไชส์ Gram ร้านแพนเค้กจากประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน หวังชิงตลาดเบเกอรี่ ร้านขนมหวานในไทย เพราะพฤติกรรมคนไทยชอบทานขนมหวานอยู่

แบรนด์นี้ได้ลูกพี่ลูกน้องอย่างกองทอง ใบหยก มาช่วยดูแลด้วย โดยได้เล่าถึงที่มาของการนำเข้าแบรนด์ Gram ว่า

จุดเริ่มต้นมาจากความชอบทานขนมเป็นการส่วนตัว ชอบหาคาเฟ่ใหม่ๆ ไปเจอร้านนี้ที่ญี่ปุ่น เห็นว่าร้านมีแถวยาวตลอด มีสินค้าน่าสนใจ มีแพนเค้กแบบใหม่ๆ ไม่ปกติ และร้านนี้เป็นร้านที่ดังมากในญี่ปุ่น เป็นร้านแรกที่คิดค้นแพนเค้กแบบฟูๆ พรีเมี่ยม เลยอยากนำเข้าแพนเค้กเข้ามาให้คนไทยทาน ไม่ต้องไปถึงญี่ปุ่น เอามาเสริมธุรกิจขนมหวานหลังจากที่มี Pablo แล้วแบรนด์หนึ่งด้วย

Gram เป็นคาเฟ่ที่เด่นเรื่องเมนูแพนเค้ก ทำตลาดมาแล้ว 4 ปี เปิดสาขาแรกที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีทั้งหมด 56 สาขา ได้ขยายออกสู่ต่างประเทศครั้งแรกเมื่อ 2 เดือนก่อนที่ฮ่องกง และล่าสุดคือประเทศไทยที่สยามพารากอน

ปิยะเลิศบอกว่าใช้เวลาพูดคุยนานพอสมควรเกือบ 2 ปี และมีนักธุรกิจไทยหลายรายเข้าไปพูดคุยเช่นกัน แต่ที่ทางบริษัทแม่เลือกพีดีเอส โฮลดิ้งเพราะเห็นพอร์ตโฟลิโอในธุรกิจอาหาร และแบล็กกราวน์เป็นธุรกิจของเครือใบหยกจึงมีความมั่นใจ โดยที่สาขาแรกลงทุน 10 ล้าน

ต้องเลือกร้านดัง และต้องต่อคิว!

หลังจากเปิดพีดีเอสได้ 4 ปี ปิยะเลิศบอกว่าได้เรียนรู้การทำธุรกิจอาหารมากขึ้น เริ่มต้นจากการเรียนรู้จากแบรนด์ใหญ่ๆ ด้วยการซื้อแฟรนไชส์เข้ามา ยังไม่ต้องเสียเวลาสร้างแบรนด์เอง

ในช่วงหลายปีที่ทำธุรกิจมาได้ทำแบรนด์เองบ้าง ซื้อเข้ามาบ้าง แต่ก็ได้เรียนรู้ด้วยการซื้อแบรนด์เข้ามา แต่ในอนาคตก็อยากทำแบรนด์เองให้เจ๋งๆ เวลาซื้อแบรนด์มาจะได้ Know How หลายอย่างเป็นแพ็คเกจทั้งเทรนนิ่ง สูตรอาหารครบเลย แต่ถ้าแบรนด์ที่ทำเองต้องเสียเวลาทำการตลาดเองอีก

หลักการเลือกแบรนด์ในการนำเข้ามานั้นปิยะเลิศบอกว่าใช้หลักการเดียวกันกับ Pablo ต้องเป็นแบรนด์ดัง มีกระแส มีการต่อคิว ทำให้ร้านไม่ต้องทำการตลาดหนักมาก เพราะเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเมนเทนให้อยู่ในตลาดนานๆ เท่านั้นเอง 

ส่วนวิธีการสร้างกระแสให้อยู่นานๆ นั้น จำเป็นต้องมีโปรโมชั่น มีสินค้าใหม่ๆ ออกมาตลอด ปิยะเลิศบอกว่าอย่าง Pablo ก็ไม่ได้ดรอปลงเท่าไหร่ เพียงแต่ในตอนแรกดันขายดีกว่าปกติเท่านั้น แต่เมื่อมีการขยายสาขาก็ทำให้ลูกค้าไม่ต้องต่อคิว แต่รายได้ก็ยังเติบโตอยู่เรื่อยๆ

อยากเข้าตลาดภายใน 2 ปี ระดมทุนทำอาหารแช่แข็ง

ปัจจุบันพีดีเอส โฮลดิ้งมีแบรนด์ในเครือทั้งหมด 7 แบรนด์ เป็นแบรนด์ที่ซื้อแฟรนไชส์เข้ามา 4 แบรนด์ ได้แก่ IKKOUSHA Ramen, SEKAI NO YAMACHAN, PABLO Cheese Tart และ Gram มีแบรนด์ที่สร้างเองอีก 3 แบรนด์ ได้แก่ UCHIDAYA Ramen, Momotarou Ramen และ TAISHO Gyoza

ตอนนี้กำลังมองหาอาหารกลุ่มชาบู และเนื้อย่างมาเติมพอร์ตให้แน่นขึ้น ก่อนหน้านี้ปิยะเลิศเลยนำเข้าแบรนด์กิวกากุที่เป็นร้านปิ้งย่างเข้ามา พอทำแล้วผลตอบรับดีทางบริษัทแม่จึงซื้อคืนเพื่อไปทำเอง จึงมองหาแบรนด์เข้ามาเติมให้หลากหลาย

ในปีที่แล้วกลุ่มพีดีเอส โฮลดิ้งมีรายได้ 220 ล้าน เติบโต 15% แบรนด์ Pablo มีสัดส่วนรายได้ 25-30% จากทั้งหมด และจะขยายสาขา Gram ให้ได้ 5 สาขาภายในปีหน้า เน้นทำเลในห้างสรรพสินค้า หรือย่านที่มีคาเฟ่เยอะๆ อย่างอารีย์

ในปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตอีก 15% และตั้งเป้าว่าในอีก 2 ปีจะเข้าตลาดเพื่อระดมทุนในการทำอาหารแช่แข็ง เพราะมองว่ามีโอกาสในการเติบโตสูง

ร้าน Gram ที่ประเทศญี่ปุ่น

สรุป

ธุรกิจร้านอาหารมีการเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นจริงๆ นอกจากจะเห็นผู้เล่นใหญ่ๆ บุกตลาดอย่างหนัก ยังได้เห็นตระกูลใหญ่ๆ ในไทยต่างสรรหาแบรนด์ดังจากต่างประเทศมาเสริมธุรกิจกันมากขึ้น เห็นได้ชัดว่าธุรกิจอาหารเป็นแหล่งสร้างรายได้อีกธุรกิจในยุคนี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา