เปิดวิธีคิดอัจฉรา-อภิชาติ ปู่มี แห่งแพค คอร์ปอเรชั่น ผู้บุกเบิกนวัตกรรมเครื่องทำน้ำร้อนจากแอร์ ฯลฯ

ต้องบอกว่า นวัตกรรมที่เป็นสินค้าโดดเด่นของบริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ PAC ไม่ได้มีแค่เครื่องทำน้ำร้อนจากคอมเพรสเซอร์แอร์เท่านั้น แต่ยังมีระบบน้ำร้อนประหยัดพลังงาน มีเครื่องปรับอุณหภูมิสระว่ายน้ำ มีเครื่องปรับอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ และยังมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศด้วย 

PAC Corporation

แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด คือผู้สร้างสรรค์และผลิตสินค้านวัตกรรมที่ช่วยตอบโจทย์รักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Bai Po Business Awards ครั้งที่ 17 ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา 

บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ PAC เริ่มก่อร่างสร้างตัวมาจากการทำธุรกิจภายในครอบครัว โดยรับติดตั้งระบบเครื่องปรับอากาศยี่ห้อทั่วไป ภายใต้ชื่อบริษัท พรหมจักร แอร์เซอร์วิสโกลด์ จำกัด จากนั้นก็ส่งต่อธุรกิจไปยังทายาท อัจฉรา-อภิชาติ ปู่มี สองพี่น้องสืบทอดกิจการต่อจากรุ่นพ่อ เริ่มต่อยอดธุรกิจจากการเห็นโอกาสเรื่องเทรนด์การพลังงาน จากนั้นจึงเริ่มวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ชิ้นแรก 

ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญของตัวเอง แตกโอกาสจากธุรกิจรุ่นพ่อ

อัจฉรา ปู่มี กรรมการผู้จัดการเล่าว่า จุดเริ่มต้นคือ พ่อทำธุรกิจเรื่องจำหน่ายเครื่องปรับอากาศมาก่อน พอเรามาต่อยอดธุรกิจและเราสนใจสิ่งแวดล้อม จึงเริ่มคิดว่าจะทำอะไรกับแอร์ได้บ้าง อยากพัฒนาสินค้าของตัวเองและพัฒนากับทีมบริษัท จึงเป็นที่มาของการคิดค้นเครื่องทำน้ำร้อนจากแอร์ ด้านอภิชาติ ปู่มี กรรมการผู้จัดการเล่าว่า เราเชี่ยวชาญธุรกิจระบบแอร์ เป็นแอร์ที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป เริ่มจากเป็นแบรนด์ที่ไม่รู้จักก่อน จากนั้นก็เริ่มเห็นความต้องการลูกค้าและความเชี่ยวชาญของตัวเอง การทำให้สอดคล้องความต้องการลูกค้าไม่ง่ายนัก ต้องหาจุดตรงกันสำหรับโปรดักซ์สำเร็จรูปว่าจะสามารถ customize ยังไงได้บ้าง

อัจฉราเล่าว่า เรามีสินค้าตัวเดียวไม่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งหมด เป็นการต่อยอดจากที่เราเริ่มต้นขึ้นมา ทั้งความน่าเชื่อถือ แบรนดิงที่ยังไม่รู้จัก ความมั่นใจของลูกค้าและตลาดต้องดูว่าลูกค้าเป็นใคร ไปขายใคร ใครที่จะได้ประโยชน์จากนวัตกรรม เราสำรวจเยอะมาก เราใช้เวลาในการลองตลาดเยอะมาก ช่วงแรกเราก็ช่วยงานคุณพ่อก่อน พอคิดอยากมีนวัตกรรมของตัวเองก็เริ่มตั้งบริษัทของตัวเองเป็น Green technology, Clean technology 

ช่วงแรกนั้นมีทั้งลูกค้ายอมรับและไม่ยอมรับ เราพยายามต่อยอดจากลูกค้าเก่าทั้งออกบูท จัดแสดงสินค้า แม้ช่วงแรกต้องเผชิญกับมุมมองที่ว่า ไม่เชื่อฝีมือคนไทย แต่ก็ทำให้เราฝ่าฟันมาได้เพราะบริษัทเชื่อในสิ่งที่ทำสิ่งที่ถูกต้อง บางคนอาจไม่เข้าใจ บริษัทก็พยายามมุ่งมั่น หาทางเติมเต็มความต้องการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งทำผลทดสอบ มีการวัดผลให้เห็นว่าประหยัดพลังงานได้จริง มีการสัมภาษณษ์ลูกค้าและต่อยอดการขาย ได้ จากนั้นก็พยายายามพิสูจน์ตัวเองให้ลูกค้าเห็น ทำให้ลูกค้ามั่นใจ บริษัทก็มั่นใจด้วย ในช่วงปี 2017 ได้รับรางวัลจากอเมริกาด้วย ช่วงนั้นในต่างประเทศคนให้ความสำคัญ แต่ไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

ตอนนั้นเจอลูกค้าเป้าหมายคือโรงแรมและรีสอร์ต ตอนแรกคิดว่าบ้านก็ใช้แต่ปรากฏว่าใช้ค่อนข้างน้อย ทำให้มองเห็นโอกาสจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าจะสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง ทำให้ต้องวิเคราะห์ตลาด และสร้างประโยชน์ให้ลูกค้าและความท้าทายด้านการเงิน ทำนวัตกรรมไปเยอะ ขายแรกๆ ลูกค้าไม่ค่อยรู้จัก ไม่ค่อยมั่นใจ เราจะบริหารยังไง เมื่อมีต้นทุน ต้องบาลานซ์ ไม่ใช่พัฒนาสินค้าอย่างเดียว ไม่ขายสักที ต้องทำให้รายได้เข้ามาเพื่อพัฒนาสินค้าต่อ 

สเน่ห์ของธุรกิจของแพค คอร์ปอเรชั่น อัจฉรามองว่า สินค้าของบริษัทช่วยลูกค้าในด้านการประหยัดพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทำมายาวนานสิบกว่าปีแล้ว ทำให้ลูกค้ามีรายจ่ายในการดำเนินธุรกิจลดลง ผลกำไรเยอะขึ้น ทางบริษัทใช้ผลิตภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อม ลูกค้าพบว่าองค์กรเขาเองได้มีส่วนช่วยให้โลกดีขึ้น อีกทั้งองค์กรก็พัฒนาสินค้าใหม่ตลอด ไม่ได้มีแต่ผลิตภัณฑ์เดิม จึงทำให้บริษัทสร้างแรงดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาหาได้ไม่ยากนัก

SCB PAC

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ แพค คอร์ปอเรชั่น กว่าจะมีวันนี้ไม่ง่าย

อัจฉรามองว่าบริษัทแพค มีนวัตกรรม สินค้าและบริการที่โดดเด่น ทำให้มีจุดยืนที่แตกต่างกว่าคนอื่น นอกจากนั้น องค์กรมีการปรับตัวตลอดเวลา ทำให้เวลาพบเจอความผิดหวัง ไม่ประสบความสำเร็จบ้างก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากตัวองค์กรแล้ว ก็คือลูกค้าที่ให้การสนับสนุน ความมั่นใจของลูกค้าที่มีต่อองค์กร ทำให้บริษัทแพคฯ ผ่านช่วงลำบากช่วงแรก นอกจากนี้ การสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ด้วย เช่น สวทช. หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ที่เข้ามาช่วยเรื่องการเงิน เรามีพี่เลี้ยง มีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ เรามีพาร์ทเนอร์ที่ช่วยเรา ส่งเสริมเราแบบไม่ได้เงินจากเรา ทำให้พบว่าเราไม่ได้มาแค่คนเดียว ถ้าไม่มีเครือข่ายสนับสนุนก็ไม่สามารถเติบโตได้ขนาดนี้

ด้านอภิชาติมองว่า การมีความรับผิดชอบต่อลูกค้า การสร้างนวัตกรรม ลูกค้าอาจซื้อเพราะเชื่อมั่นและอยากได้ หากไม่เป็นไปตามคาดหวังบ้าง องค์กรก็แสดงความรับผิดชอบต่อลูกค้าได้ ด้วยการเสนอทางออกที่ใกล้เคียงตามที่คาดหวัง เราสามารถพัฒนานวัตกรรมและทำให้ลูกค้าไว้วางใจได้  

โควิดระบาดไม่ส่งผลกระทบต่อสินค้านวัตกรรม แต่ส่งผลกระทบหนักต่อกลุ่มลูกค้า

อัจฉราเล่าว่า ลูกค้าเราเป็นโรงแรม รีสอร์ต ดังนั้นโควิดระบาดกระทบเป็นกลุ่มแรกเลย ลูกค้าที่ปกติเราไปซ่อมหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ งบลงทุนของเขาเป็นศูนย์ รายได้เป็นศูนย์ โควิดกระทบในเรื่องของ operation ต้นทุนเท่าเดิม รายได้ลดลง จากนั้นพอตั้งหลักได้ สำหรับลูกค้าที่ยังอยู่ เราก็พยายามสานต่อจนจบ แก้ปัญหาทั้งทำงานแบบรีโมทและป้องกันยังไงให้งานไปได้อยู่ 

ส่วนลูกค้าที่ไม่มีกำลังซื้อ เราจึงเปลี่ยนมุมมองเป็นลูกค้าแบบ B2C คือกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ ที่ต้อง Work from home ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ ลูกค้าหันมาทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำงานระยะไกลมากขึ้น ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เนื่องจากทางบริษัทไม่ได้เอาพนักงานออกเลย ผลกำไรเติบโตและผ่านมาได้แบบที่ปรับตัวพอสมควร

คุณอัจฉรา ปู่มี - คุณอภิชาติ ปู่มี

ทิศทางอนาคตของแพค คอร์ปอเรชั่น

อัจฉรามองว่า เริ่มเห็นลูกค้าที่เป็นกลุ่มลูกค้าบ้านมากขึ้น ไปจนถึงกลุ่มลูกค้า SMEs ด้วย มีขนาดย่อมลงมา จากเดิม 5-7 ล้านเป็น 1-2 ล้าน แต่ถ้าขายได้หลายรายก็อาจจะทำยอดใกล้เคียงได้ สำหรับลูกค้าบ้าน ตัวมาร์จินก็จะดีกว่า ขณะที่อภิชาติมองว่า จะเริ่มมุ่งไปที่ลูกค้า B2C มากขึ้น จากเดิมที่เป็น B2B อาจต้องมีทีมขายมากขึ้น และหันมาในมิติ IOT Energy management มากขึ้น ไม่ได้เน้นที่โปรดักซ์เป็นรายชิ้นเช่นเดิม

ตัวอย่างคือระบบน้ำร้อนในโรงแรม อาจจะมีน้ำไม่ร้อนมาก ใช้เวลานานกว่าจะร้อน ซึ่งกว่าจะได้น้ำร้อนมาต้องใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ ถ้าใช้ระบบ operate แบบเดิมอาจมีค่าใช้จ่าย 2 แสนบาท ซึ่งเป็นไปได้ที่เขาจะสูญเปล่าราวครึ่งหนึ่ง ระบบพวกนี้ไม่ได้มี data ไปจับ อนาคตลูกค้าอาจไม่ต้องติดตั้งระบบใหม่ อาจซื้อติดตั้งระบบขึ้นมา เช่น มีแขกเข้าพักอัตราแบบนี้ อาจจะใช้ซอฟต์แวร์มากขึ้น เช่น เครื่องปรับอุณหภูมิสระว่ายน้ำ จะติดเครื่องขนาดไหน เช่น ซอฟต์แวร์ในการทำงานตามสภาพอากาศแบบไหน การบริการลูกค้า จากข้อมูลที่เคยทำให้ลูกค้ามา เราอาจจะไปช่วยควบคุมสำหรับลูกค้าที่มีโปรดักซ์ของคนอื่น

ความภูมิใจที่สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่น ความตั้งใจสัมฤทธิ์ผลแล้ว

อัจฉราระบุว่า สำหรับรางวัลองค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ได้รับนั้น เธอภูมิใจมาก ทางศศินทร์และธนาคารไทยพาณิชย์ เขาจะกระบวนการคัดเลือกบริษัท ทำให้เรารู้สึกว่าเขารู้จักเราได้อย่างไร ซึ่งทางบริษัทก็ต้องส่งข้อมูลไปและได้รับคัดเลือก ทางทีมงานระบุว่าการตัดสินรางวัลยากมาก ทางบริษัทแพคฯ รู้สึกดีใจมากเพราะสถาบันที่คัดเลือกคือศศินทร์และธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สร้างกำลังใจให้องค์กร ทำให้รู้สึกว่าบริษัทเล็กๆ ที่ตั้งใจทำเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ได้มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดอย่างเดียว แต่เราทำให้เห็นว่ามันมีรายได้ที่เติบโต มีผลกำไร มีความยั่งยืน อีกทั้งเป็นการรับรางวัลในช่วงโควิดระบาดด้วย ที่เรายังทำยอดขายได้ดี เราก็สามารถประคับประคองธุรกิจได้ในช่วงวิกฤตหนักและประสบความสำเร็จได้

ด้านอภิชาติมองว่า บริษัทแพคฯ ไม่เคยมองว่าจะอยู่ในกลุ่มที่จะได้รับรางวัลได้ เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่เกินตัวมาก อีกทั้งช่วงโควิดระบาด แม้ performance ไม่ดีมากนัก แต่เราก็พยายามทำหลายอย่างให้อยู่รอดได้ ดูแลลูกค้าได้ รู้สึกว่าได้รับเกียรติที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

ข้อคิดทิ้งท้ายสำหรับการทำธุรกิจ

อัจฉรามองว่า สำหรับผู้ประกอบการและคนทำธุรกิจ เราอาจจะเริ่มต้นว่า เรามีความมุ่งมั่นอะไรในการทำธุรกิจ แต่จะให้ธุรกิจเติบโตได้ต้องอาศัยหลายปัจจัย ต้องลงมือทำจริง ฟังเสียงจากลูกค้า ฟังเสียงจากซัพพลายเออร์ เมื่อใดที่เราท้อ เราต้องหาวิธีแก้ปัญหา บริษัทที่อยู่รอดได้ต้องเก่ง เก่งในสิ่งที่ตัวเองทำ อย่าท้อแท้และพยายามพัฒนาตัวเองและพัฒนาธุรกิจให้มากพอ สุดท้ายสิ่งที่มุ่งหวังจะเป็นตามต้องการ

ส่วนอภิชาติมองว่า ความเปลี่ยนแปลงมีอยู่เสมอ เราอาจเคยอยู่ในธุรกิจบางอย่างมานาน นอกจากความยึดมั่นของผู้ประกอบการแล้ว เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงด้วย ความเปลี่ยนแปลงมีอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาด บางอย่างเกิดขึ้นแบบที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น การออกมาตรการหรือกฎหมายบางอย่าง ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงมีอยู่เสมอ เราต้องพร้อมปรับตัวตลอดเวลา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา